วัดป่าศิริสมบูรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดป่าศริสมบูรณ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 บ้านไร่สมบูรณ์ ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ 31110

พระปลัดวิศวาธาร ปภสฺสโร เป็นประธานสงฆ์[1] และพระใบฎีกาวิรัตน์สิทธิ์ทัศน์ อนาลโย เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

เกี่ยวกับวัดป่าศิริสมบูรณ์[แก้]

วัดป่าศิริสมบูรณ์ (สาขาที่ 234 วัดหนองป่าพง)[1] เดิมคือสำนักปฏิบัติธรรมธุดงค์สถานป่าศิริสมบูรณ์ (วัดสาขาสำรองที่ 41 ของวัดหนองป่าพง) ซึ่งได้รับการเลื่อนให้เป็นสาขาจริงที่ 234 เมื่อวันที่ 16 เดือนมิถุนายน 2554 ) ทางสำนักพระพุทธศาสนาได้ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนามีนามว่า “วัดป่าศิริสมบูรณ์” สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำนักปฏิบัติธรรมธุดงค์สถานป่าศิริสมบูรณ์เป็นวัดป่าสายปฏิบัติ ซึ่งพระปลัดวิศวาธาร ปภสฺสโร ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมพระภิกษุ-สามเณร ผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะที่งดงาม ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง เพื่อหวังให้ต่อไปจะได้เป็นศูนย์กลางการอบรมสั่งสอนตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฏิบัติธรรมทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่สนใจทุกคนต่อไป

สำนักปฏิบัติธรรมธุดงค์สถานป่าศิริสมบูรณ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของหมู่บ้านไร่สมบูรณ์ และหมู่บ้านน้อยอุบล สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 150 ไร่ ทางวัดมุ่งในการปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน จึงไม่ได้แบ่งแยกนิกาย

วัดป่าศิริสมบูรณ์ สาขาที่ 234 ของวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี อยู่ในความดูแลของพระครูโสภา อุตฺตโม เจ้าอาวาสวัดธุดงค์กรรมฐานเขาวันชัยนวรัตน์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา [2]

บุพนิมิต[2][แก้]

ท่านพระปลัดวิศวาธาร ปภัสสโรได้เดินทางจาริกธุดงคืไปตามสถานที่วิเวกสงัดในจังหวัดต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายปี ไม่มีความประสงค์ในลาภสักการะแม้ในทางสมณะ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พงศ. 2542 วึ่งตอนนั้นได้ภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระสิวลี บ้านเมืองแพม ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ได้มีสหธรรมมิกเดินทางมาที่บ้านเมืองแพมเพื่อทำการสวดพระปาติโมกข์

ในขณะที่พระภิกากำลังทำสังฆกรรมนั้น สามเณรวิรัตน์สิทธิ์ทัศน์ (ซึงในขณะนั้นได้ไปธุดงค์ร่วมกัน) ได้ไปนั่งที่โขดหิน ปรากฏว่าได้ยินเสียงสวดมนต์ไพเราะที่แตกต่างจากเสียงของบุคคลทั่วไป ในครั้งแรกสามเรรนึกว่าเป็นเสียงของสำนักปฏิบัติธรรมละแวกนั้น แต่พอพิจารณาดูแล้ว ในแถบนั้นไม่น่าจะมีสำนักปฏิบัติธรรมที่อยู่ใกล้ๆนั้นเลย ถึงมีก้ไม่น่าได้ยินเสียงมาไกลถึงที่นี่ เพราะแต่ละบ้านอยู่ห่างไกลกันและไม่มีไฟฟ้าทุกหมู่บ้าน

ในคืนนั้นขณะที่พระปลัดวิศวาธารได้เจริญพระกรรมฐานอยู่ ได้เกิดนิมิตเห็นอุบาสิกาผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวร่างกายสะอาด ได้มากราบท่านแล้วกล่าวอาราธนาให้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิม เพื่อได้โปรดญาติโยมผู้ที่เคยได้สร้างกรรมร่วมกันมาในอดีต และได้เกิดภาพเห็นผืนป่าแห่งหนึ่งเขียวขจีสวยงามมาก พอออกจากสมาธิท่านได้พิจารณาถึงการจาริกออกธุดงค์ของท่าน และการบำเพ็ญบารมีต่างๆก็พอที่จะรักษาตัวเองให้อยู่รอดจากเหล่ามารร้ายได้แล้ว ท่านจึงตัดสินใจกลับสู่ถิ่นกำเนิดของตนโดยได้อธิษฐานจิตไว้ว่าหากจะเป็นจริงดั่งนิมิตนั้นแล้ว ก็ให้เดินทางให้ถึงสถานที่นั่นก่อนเข้าพรรษาเถิด เราจะขอถอนการสมาทานเดินเท้าหากมีใครขับรถมา แล้วมีผู้จอดรับก็จะขึ้นรถนั้นด้วย (ท่านไม่รับปัจจัยการเดินทาง และได้สมาทานการเดินเท้าไว้เท่านั้น)

พอท่านเดินออกมาถึงถนนลาดยาง สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ก็มีรถจอดรับ นำไปส่งจนถึงเชียงใหม่และได้ซื้อตั๋วรถเชียงใหม่-บุรีรัมย์ถวายอีก เป็นอันว่าท่านได้ใช้เวลาในการเดินทางสู่บุรีรัมย์เพียง 1 วันกับอีก 1 คืนเท่านั้น

ต่อมาท่านพระปลัดวิศวาธารพร้อมกับสามเณรวิรัตน์สิทธิ์ทัศน์ได้เดินเท้ามุ่งมาทาง อ.โนนสุวรรณ จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2542 จึงถึงป่าแห่งหนึ่ง จึงได้หยุดพักปักกรด ณ ที่ป่าแห่งนั้น ตกดึกมาในขระที่ท่านพระปลัดวิศวาธารได้นั่งสมาธิ ท่านได้เห็นนิมิตเป็นร่างชายกับหญิงแก่นุ่งห่มผ้าขาวถือจานใส่เครื่องบูชามาถวายท่าน แล้วกราบลงกับพื้นดิน ยิ้มแล้วก็หายไป ท่านจึงออกจากสมาธิเวลาประมาณ 00.36 น. ในทางทิศตะวันออกได้มีอะไรบางอย่างปรากฏขึ้นมาเป็นสิ่งอัศจรรยือย่างหนึ่ง นั่นก็คือมีดวงไฟดวงใหญ่ขนาดเท่ากับโอ่งมังกรขนาดใหญ่ ลอยอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 3 เมตร ซึ่งกองไฟนี้ท่านสามเณรวิรัตน์สิทธิ์ทัศน์ก็เห็นเช่นเดียวกัน ลอยอยู่อย่างนั้นประมาณ 20 นาที ก็ได้แตกออกเป็น 7 สี เหมือนกับพลุแต่ไม่มีเสียงใดๆ พอรุ่งเช้ามาท่านพระปลัดวิศวาธารจึงได้ออกไปโปรดสัตว์พร้อมกับสามเณรวิรัตน์สิทธิ์ทัศน์ ญาติโยมพอได้เห็นพระไปรับบิณฑบาตก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในเช้านั้นชาวบ้านได้พร้อมใจกันอาราธนาให้พระปลัดวิศวาธารอยู่ในป่าแห่งนั้น เพื่อเป็นผู้นำทางด้านจิตใจของชาวบ้านต่อไป จึงได้เกิดเป็นวัดป่าศิริสมบูรณ์ขึ้นมา

กิจกรรมของทางวัด[แก้]

ในแต่ละปี นอกเหนือจากกิจของสงฆ์และการอบรมพระภิกษุ สามเณร วัดป่าศิริสมบูรณ์ยังมีความประสงค์ที่จะเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงทางธรรมแก่เยาวชนและบุคลากรทั่วไปให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้โดยใช้ธรรมะเป็นที่ตั้ง เพื่อที่ผู้ประสบเคราะห์กรรมปัญหาจะคลายทุกข์โศกได้ด้วยธรรมะบำบัด จึงทำการจัดกิจกรรมต่างๆที่เอื้อประโยชน์ให้กับพุทธศาสนิกชนในชุมชนแบบองค์รวม กล่าวคือทั้งในด้านกาย - สังคม -จิตวิญญาณ[2] เช่น

  1. จัดงานบวชเนกขัมมะ อบรมพระกรรมฐานและอบรมปฏิบัติธรรมถือธุดงควัตรสำหรับประชาชนทั่วไป
  2. จัดงานอุปสมบทพระภิกษุ
  3. การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
  4. จัดอบรมพระกรรมฐาน จัดอบรมค่ายธรรมะ ศีลธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่และบุคคลทั่วไปที่สนใจ
  5. ให้ความช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้ทรงศีลที่อาพาธ และผู้ป่วยทั่วไป โดยให้การรักษาผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย ประคับประคองและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายร่วมกับโรงพยาบาลโนนสุวรรณ[2]
  6. ปลูกสมุนไพร ทำน้ำหมักสมุนไพรเพื่อรักษาโรคต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนและที่ห่างไกล[2]

โครงงานสาธารณกุศลต่างๆ[แก้]

จากการที่วัดป่าศิริสมบูรณ์มีการจัดอบรมฝึกปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานในทุกเดือน และได้จัดกิจกรรมมุ่งเน้นการช่วยเหลือวัดที่ห่างไกลความเจริญ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้ทรงศีล ผู้ป่วยยากไร้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่สนใจมาตลอดเกือบ10ปีที่ผ่านมา จึงถือโอกาสก่อตั้งมูลนิธิวิศวาธารอโรคยาธรรมศาลขึ้นมาในปี พ.ศ. 2555 เพื่อต่อยอดการช่วยเหลือในแนวกว้างและมีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น โดยเป็นการรวมตัวของคณะผู้บริหารหลากหลายสาขาอาชีพที่เป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล วิศวกร เจ้าของธุรกิจ ตลอดจนถึงประชาชนที่มีความรู้ความสามารถด้านอื่นๆที่เป็นจิตอาสามาร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้ก่อเกิดต่อไป

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด[แก้]

  1. พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
  2. "พระพุทธรัตนชาติชยันตี" พระแก้วหินจุยเจียที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
  3. ลานธาราธรรมมหาโพธิ์ อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธเจ้าน้อย เจ้าแม่กวนอิม พระสีวลี และท่านปู่หมอชีวกโกมารภัจจ์
  4. "องค์สมเด็จพระพุทธสิริธรรมเชียงทอง" (หลวงปู่ใหญ่) พระประธานในพระมหาอุโบสถศิริเชียงทอง"
  5. พระทันใจหน้าตัก 8 ศอก 1 องค์และพระทันใจหน้าตัก 4 ศอก 2 องค์
  6. พระหยกขาว
  7. พระธาตุหลวงปู่มั่น

และอื่นๆ อีกมากมาย

การเดินทาง[แก้]

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง หมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ประมาณ 15 กิโลเมตรจะถึงบ้านหัวถนน (ก่อนถึงอำเภอนางรอง) ให้เลี้ยวขวามุ่งตรงไปสู่ตัวอำเภอโนนสุวรรณ ให้สังเกตว่าถนนทางเข้าอำเภอโนนสุวรรณจะอยู่ระหว่างอำเภอหนองกี่กับนางรอง ระยะทางจากหนองกี่มาถึงปากทางเข้าอำเภอโนนสุวรรณประมาณ 15 กิโลเมตร และระยะทางจากอำเภอนางรองมาปากทางเข้าอำเภอโนนสุวรรณประมาณ 15 กิโลเมตร เช่นกัน เมื่อถึงตัวอำเภอโนนสุวรรณให้เดินทางตรงไปผ่านโรงพยาบาลโนนสุวรรณจนถึงสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 600 เมตร จะเจอทางแยกซ้ายมือตรงเข้าวัดป่าศิริสมบูรณ์ (โรงพยาบาลโนนสุวรรณจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3-4 กิโลเมตร) [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 วัดหนองป่าพง,"สาขาวัดหนองป่าพงในประเทศไทย[1] เก็บถาวร 2016-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน",2012, 2015-05-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 กลุ่มธัมมารักษ์มาลาขาว, อนาลโยวาท ฉบับปฐมฤกษ์ (พ.ศ. 2557), กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ ส.การพิมพ์, 2557.