วัดบ้านไร่ (อำเภอด่านขุนทด)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านไร่
วิหารเทพวิทยาคม ปริสุทธปัญญา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านไร่
ที่ตั้งถนนด่านขุนทด-คำปิง ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 30210
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ) ตั้งอยู่ใน ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงเนื่องจากพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) พระเกจิชื่อดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั้งประเทศ ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ปัจจุบัน พระภาวนาประชานาถ (นุช รตนวิชโย) เป็นรักษาการเจ้าอาวาส จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วย หลวงพ่อคูณเป็นพระชาวบ้านที่เข้าถึงมวลชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นักการเมืองไปจนถึงชาวบ้าน ด้วยท่านมีเมตตามหานิยม มีวิธีการสั่งสอนที่ตรงไปตรงมาง่ายแก่การเข้าใจ

ปัจจุบัน หอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (อาคารปริสุทธปัญญา) ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จในปี 2554 ได้กลายจุดเด่นสำคัญของวัดบ้านไร่ ลักษณะเป็นอาคารประติมากรรมช้าง ตั้งอยู่บนพื้นที่บึงน้ำขนาด 30 ไร่ เป็นอาคารสูง 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน (ชั้นบาดาล) 1 ชั้น โดยชั้นดาดฟ้าของอาคารเป็นรูปปั้นหลวงพ่อคูณและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสูงรวมแล้ว 42 เมตร อาคารตั้งอยู่บนลานทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 65 เมตร[1] ทำให้หอเทพวิทยาคม กลายเป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

วัดบ้านไร่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436 ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาสได้มีการพัฒนาวัดมากที่สุด ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การบูรณะวัด การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

สิ่งก่อสร้างภายในวัด[แก้]

  • พระอุโบสถ
  • พิพิธภัณพฑ์หลวงพ่อคูณ
  • หอแก้ว
  • หอระฆัง
  • อาคารประชาสัมพันธ์
  • ศูนย์โอท๊อป (OTOP)
  • วิหารเทพวิทยาคม ปริสุทธปัญญา
  • หอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา[2]

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ[แก้]

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
แผนที่
ก่อตั้ง14 ตุลาคม 2552
(14 ปี)
ที่ตั้งวัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 30210
พิกัดภูมิศาสตร์15°17′58″N 101°44′13″E / 15.29945°N 101.7370°E / 15.29945; 101.7370
ภัณฑารักษ์มูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ, วัดบ้านไร่

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบ้านไร่ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2552

พื้นที่จัดแสดง[แก้]

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ชั้น 11 โซน

  • ชั้นที่ 1
    • โซน 1 ศรัทธามหาชน จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อคูณ (ขนาดเท่าจริง) บนผนังด้านข้างเป็นภาพจิตรกรรมของประชาชนที่มานมัสการหลวงพ่อ มีแผ่นข้อมูลแสดงเอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ ส่วนผนังอีกด้านหนึ่ง เป็นตู้กระจกจัดแสดงวัตถุสิ่งของที่มีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายภายใต้หัวข้อ กูทำดี เขาจึงให้ของดีแก่กู
    • โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน ผู้บำเพ็ญทานอันยิ่งใหญ่ จัดแสดงห้องจำลองบรรยากาศห้องนอนเดิมของหลวงพ่อคูณ พร้อมเสียงบรรยายประกอบ
    • โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี จัดแสดงวัตถุมงคล และมีข้อมูลมัลติมีเดียแสดงข้อมูลวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ
    • โซน 11 ให้แล้วรวย จัดแสดงวีดิทัศน์ เรื่องการทำบุญทำทาน พร้อมสอดแทรกคำสอนของหลวงพ่อคูณ
  • ชั้นที่ 2
    • โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ จัดแสดงแบบจำลองบ้านเดิมของหลวงพ่อคูณ พร้อมประกอบแสง สี เสียง
    • โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ จัดแสดงภาพจิตรกรรม เมื่อครั้งที่หลวงพ่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้ตั้งจิตปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
    • โซน 5 ออกธุดงค์ จัดแสดงการออกธุดงค์ เส้นทางไทย-ลาว-เขมร ในช่วงปี พ.ศ.2492-2495 ประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหว และแสง สี เสียง
    • โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน เหตุการสำคัญในการพัฒนาวัด โรงเรียน และชุมชนบ้านไร่
    • โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นการประมวลภาพและวีดิทัศน์พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
    • โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม จัดแสดงรูปหล่อสำริดของหลวงพ่อคูณ แสดงวัตถุซึ่งเป็นที่ระลึกถึงคุณูปการเกียรติคุณของหลวงพ่อคูณ ที่ได้รับการเชิดชูจากสถาบันและองค์กรต่างๆ รวมทั้งข้อความในพินัยกรรม (มรณานุสติ)
    • โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ แสดงภาพบนประติมากรรมต้นไม้แห่งทานบารมี และข้อมูลการบริจาคทานของหลวงพ่อคูณ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.luangporkoon-museum.com/park/page3-3.html[ลิงก์เสีย]
  2. lovethailand.org
  3. "โซนจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ".

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]