วัดบ้านค่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านค่าย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิพัฒน์ชยาภรณ์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบ้านค่าย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

ประวัติ[แก้]

ชุมชนวัดบ้านค่ายเป็นชุมชนเก่าแก่ทางตอนบนของแม่น้ำระยอง จดหมายเหตุจีนได้กล่าวถึงดินแดนแถบนี้ไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1700[1] จากหนังสือ ประวัติวัดในจังหวัดระยอง เชื่อกันว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมัยที่อาณาจักรขอมยังรุ่งเรืองในแถบนี้ ดังเห็นได้จากซากปรักหักพังของโบสถ์เก่าที่ชาวบ้านเรียกโบสถ์ขอม จากร่องรอยของศิลาแลงเก่าแก่ เสมา และธรรมจักรที่มีลวดลายแบบศิลปะขอม ซึ่งมีอายุมากกว่า 1,000 ปี

เชื่อกันว่าวัดถูกทิ้งร้างมานานจนมีชาวระยองผู้หนึ่งนามว่า นายตาล ได้มาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และได้ขอแรงชาวบ้านให้มาช่วยกันสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ก่อนจะอาราธนาอุปัชฌาย์แป้นจากวัดวงเวียนตะเคียนเจ็ดต้น (วัดบ้านเก่า) มาจำพรรษา ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพื่อให้มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมและทำกิจของสงฆ์ แต่เนื่องจากวัดอยู่บริเวณที่กระแสน้ำไหลผ่าน ทำให้น้ำเซาะตลิ่งในฤดูน้ำหลาก จึงย้ายวัดมาอยู่ตอนล่าง ซึ่งมีผู้ถวายที่ดินให้แก่วัดราว 40 ไร่นามว่านายเรือง เมื่อสร้างวัดใหม่ขึ้นจึงเรียกวัดเดิมว่า "วัดบน" ส่วนวัดใหม่เรียก "วัดล่าง" ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น "วัดบ้านค่าย"[2] ทางด้านเหนือของวัดแต่เดิมปรากฏร่องรอยคันดินเป็นแนวยาว ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นค่ายของขอมจึงเรียกชื่อว่าวัดบ้านค่าย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506[3] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 สร้างแทนอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม และทำการบูรณะปฏิสังขรณ์หลังคาอุโบสถใหม่เมื่อ 2551 บริเวณอุโบสถเก่า มีเรื่องเล่าว่า มีเสือแม่ลูกอ่อนอยู่ หลวงพ่อแป้น พิจารณาแล้วเห็นว่าทำเลเหมาะสม จึงยกโรงอุโบสถขึ้นและใช้อุโบสถหลังนี้ทำสังฆกรรมการ[4]

มณฑปสร้างขึ้น ราวปี พ.ศ. 2455 ลักษณะเป็นมณฑปก่ออิฐถือปูน ตั้งบนฐานสูงมีลานประทักษิณเดินได้โดยรอบ หลังคาเครื่องไม้ทรงปราสาทเรือนยอด ส่วนยอดบนสุดเป็นสถูปทรงระฆัง หลังคาทุกด้านยกจั่ว มีเครื่องลำยองปูนปั้นประดับ หน้าบันตกแต่งด้วยลายเทพนมและลายกระหนก ที่คอสองประดับด้วยลายปูนปั้นรูปสัตว์มงคลแบบศิลปะจีน เช่น มังกร เสือ เป็ดแมนดาริน นกยูง สิงโต กิเลน และกวางส่วนที่มุมอาคารเป็นรูปครุฑยุดนาคมีช่องประตูทางด้านหน้าและหลังด้านละ 1 ประตู ด้านข้างมีช่องหน้าต่างบานประตูหน้าต่างเป็นไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป และรอยพระพุทธบาทจำลอง[5]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • ท่านพ่อมา
  • ท่านพ่อมี
  • ท่านพ่อเพชร
  • ท่านพ่อแป้น
  • ท่านพ่อบัว
  • ท่านพ่อดี
  • พระครูวิจิตรธรรมานุวัติ (หลวงพ่อวงศ์) พ.ศ. 2433–2483
  • พระอาจารย์ถิน พ.ศ. 2483–2485
  • พระอธิการเคียง พ.ศ. 2485–2490
  • พระครูจันทสโรทัย(หลวงพ่อดิ่ง) พ.ศ. 2490–2502
  • พระอธิการเวียง โกวิโท พ.ศ. 2502–2509
  • พระอธิการทอง วิจิตฺโต พ.ศ. 2509–2520
  • พระมนต์ (ติม) มนฺตชาโต พ.ศ. 2520–2522
  • พระวินัยธรกานต์ กาญฺนจโน พ.ศ. 2522–2530
  • พระครูพิพัฒน์ชยาภรณ์ พ.ศ. 2530 ถึง ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "'ระยอง' ประวัติศาสตร์แห่ง 'ความสุข' บนเส้นทางการค้า 2,000 ปี". มติชน. 9 ตุลาคม 2562.
  2. "5 เส้นทางประวัติศาสตร์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-20. สืบค้นเมื่อ 2021-04-20.
  3. "วัดบ้านค่าย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "อุโบสถวัดบ้านค่าย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  5. "วัดบ้านค่าย". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.