วัดบัวขวัญ (จังหวัดนนทบุรี)

พิกัด: 13°52′10″N 100°32′05″E / 13.869532°N 100.534796°E / 13.869532; 100.534796
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบัวขวัญ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 ซอยงามวงศ์วาน 23 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธเมตตา
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธมหามุนี
เจ้าอาวาสพระเทพวชิรนันทาภรณ์ (ไสว สุขวโร ป.ธ.4)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบัวขวัญ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 ซอยงามวงศ์วาน 23 (วัดบัวขวัญ) ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551[1]

ประวัติ[แก้]

วัดบัวขวัญ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มาจำพรรษา และปฏิบัติสังฆกรรมมากขึ้น จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นวัดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2435 มีนามว่า "วัดสะแก" โดยมีพระครูปรีชาเฉลิม จากวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นผู้เริ่มสร้างวัด และเป็นเจ้าอาวาสในช่วงแรก[1]

พ.ศ. 2491 พระอธิการพยุง จตฺตมโล จากวัดกำแพง ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากการมรณภาพของหลวงพ่อฉ่ำ อดีตเจ้าอาวาส จากนั้นจึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา กระทั่งมีผู้มีจิตศรัทธานามว่า นายบัว ฉุนเฉียว บริจาคที่ดินให้กับวัด ซึ่งในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนนามวัดเป็น "วัดบัวขวัญ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริจาคที่ดิน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 โดยมีพระอธิการพยุง จตุตมโล เป็นเจ้าอาวาสถึงปี พ.ศ. 2520 จากนั้นมีพระอธิการบุญช่วย ปุญญคุตฺโต (พระครูมงคลประชานาถ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึงปี พ.ศ. 2530 จากนั้นในปี พ.ศ. 2537 พระมหาไสว สุขวโร (ป.ธ.4) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางแพรกเหนือ ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันวัดบัวขวัญมีความเจริญทั้งด้านถาวรวัตถุ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดทั้งให้ความสำคัญด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม กระทั่งมีการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดนนทบุรี แห่งที่ 1 ขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ในวันที่ 29 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2551

สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในวัด[2][แก้]

พระอุโบสถหลังจตุรมุข[แก้]

พระพุทธเมตตา พระประธานในพระอุโบสถจตุรมุข

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 36.50 เมตร ยาว 56.50 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลา มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย หน้าบรรณเป็นลายปูนปั้นประดับ ปิดกระจก ทาสีตามร่องลวดลายอย่างสวยงาม ภายในพระอุโบสถ พื้นปูด้วยหินอ่อน บานประตู - หน้าต่าง ด้านนอกประดับด้วยลวดลายแกะสลักประดับมุก ด้านในประดับด้วยลวดลายแทะสลักทาด้วยสี มีจิตรกรรมฝาผนังแบบนูนสูงเกี่ยวกับพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระพุทธเมตตา ปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระสารีบุตร - โมคคัลลานะ ประดิษฐานบนฐานไม้สักแกะสลักลวดลายประดับมุก

พระอุโบสถ (หลังเดิม)[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 เป็นอาคารคอนรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 22 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลา ภายในพระอุโบสถพื้นปูด้วยหินอ่อน บานประตู - หน้าต่างประดับด้วยลวดลายและแกะสลัก มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย และพระสารีบุตร - โมคคัลลานะ

วิหารหลวงพ่อโต[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 ขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 13 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องสุโขทัย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย หน้าบรรณเป็นลายปูนปั้น ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 ด้านข้างปิดกระจกทาสีทอง ลีลาวา ร่องสีแดงทั้งหมด ปูพื้นด้วยหินอ่อนสระบุรี ภายในประดิษฐานพระพุทธโสธร (จำลอง) และหลวงพ่อโต (พระมหากัจจายนะ) ข้างบันไดทางขึ้น มีรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณทั้งสองข้าง ประดับด้วยลวดลายปิดกระจก

หอสวดมนต์ (วิหารเก่า)[แก้]

ขนาดกว้าง 4.50 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องสุโขทัย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย หน้าบรรณเป็นลายปูนปั้น ด้านข้างปิดกระจก ทาสีทอง สีลาวา ร่องสีแดงทั้งหมด พื้นปูด้วยหินอ่อน

หอระฆัง[แก้]

ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นล่างปูกระเบื้อง ตกแต่งลวดลาย ประดับกระจก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลา

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

นับตั้งแต่สร้างวัด มีผู้เจ้าอาวาสมาแล้ว 5 รูป ดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูปรีชาเฉลิม ไม่ทราบปี ไม่ทราบปี
2 พระอธิการฉ่ำ ไม่ทราบปี ไม่ทราบปี
3 พระอธิการพยุง จตฺตมโล พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2520
4 พระครูมงคลประชานาถ (บุญช่วย ปุญฺญคุตฺโต)​ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2530
5 พระเทพวชิรนันทาภรณ์ (ไสว สุขวโร ป.ธ.4) พ.ศ. 2537 ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ประวัติความเป็นมา [1]
  2. ปูชนียสถานภายในวัด [2]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°52′10″N 100°32′05″E / 13.869532°N 100.534796°E / 13.869532; 100.534796