วัดท้ายยอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท้ายยอ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท้ายยอ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ประวัติ[แก้]

วัดท้ายยอเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งบนเกาะยอที่เชื่อว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดคงคาวดี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2311 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2427 ชื่อวัดแห่งนี้ปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์เรื่อง ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 7 ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดท้ายเสาะ[1] ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ "วัดท้ายยอ"[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2440

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 12 เมตร มีฐานเตี้ย ผนังทึบ เจาะช่องประตูหน้าต่างไม้ และช่องลม บริเวณตอนล่างของฐานกรุด้วยเซรามิกลายดอกสี่กลีบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเป็นหลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนก ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานปัทม์มน 2 ชั้นเตี้ย ๆ รอบอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนมีความกว้างประมาณ 11 เมตรและยาวประมาณ 18 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประทับนั่งปางมารวิชัย มีจารึกที่ฐานด้วยอักษรจีนและอักษรไทยว่า อุบาสิกากิมแก้ว สร้างไว้เมื่อ ศก. 123 (ตรงกับปี พ.ศ. 2447)

เจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาพิหาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นที่ตั้งของอุโบสถ ต่อมาในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 อุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจึงได้มีการรื้ออุโบสถและทำการก่อสร้างเจดีย์ครอบทับพระประธานของอุโบสถเก่า ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ทรงลังกา ตอนล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 11 เมตร มีลานประทักษิณ ระเบียงลูกกรงกรุด้วยเซรามิกสีเขียวลายดอกสี่กลีบโปร่ง มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้น กรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์บนยอดเขาพิหาร เป็นโบราณสถานของชาติเมื่อ 15 กันยายน พ.ศ. 2540 และได้บูรณะซ่อมแซมเจดีย์ พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบองค์เจดีย์ในปี พ.ศ. 2544–2545[3]

กุฏิเจ้าอาวาสเป็นกลุ่มเรือนไทยโบราณสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[4] มีลักษณะเป็นเรือนไทยพุทธภาคใต้ ประกอบด้วยเรือน 3 หลัง มีความยาวโดยรวมประมาณ 21 เมตร ที่มีชานเรือนต่อเชื่อมกัน ใต้ถุนสูง หลังคาจั่ว ตัวเรือนสร้างด้วยไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่นไม้เคี่ยม ไม้หลุมพอ ไม้ทัง แต่ละเรือนมีหลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ พื้นชานเรือนและบันไดทางขึ้นบางส่วนปูด้วย ต่อมาจากกระเบื้องปูพื้นเกาะยอที่มีลวดลายในเนื้อคล้ายลายน้ำไหลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของเกาะยอในอดีต

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, ชีวิวัฒน์ เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 7 (.ม.ป.ท. โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2511), 49.
  2. กรมศาสนา, กรม. ประวัติทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3. (กรุงเทพฯ กรมศาสนา, 2527), 461.
  3. "วัดท้ายยอ". ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ.
  4. "วัดท้ายยอ (Wat Thaiyo)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.