วัดท่าคก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าคก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าคก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน และเป็นที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ 2 งาน ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ที่ธรณีสงฆ์ทิศเหนือติดแม่น้ำโขง ทิศใต้ติดถนนชายโขง หรือเรียกขานในนามแหล่งท่องเที่ยวว่า "ถนนคนเดิน" เป็นที่โล่งไว้จัดกิจกรรมของส่วนรวมเป็นครั้งคราวและให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนชมวิวริมน้ำโขงได้สวยงาม โดยไม่ให้มีผู้ค้าจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้แต่เดิมที่ตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์เป็นพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2484 มีการย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเชียงคานขึ้นใหม่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงมีการตัดถนนชายโขงผ่านที่ดินวัด ทำให้ที่ดินวัดถูกแบ่งออกเป็น 2 แปลงดังกล่าว

วัดท่าคกตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2395 เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นคุ้มวังน้ำวน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "คก" จึงตั้งชื่อวัดว่า "วัดท่าคก" เล่ากันว่าบิดาของพระยาศรีอัคฮาด และชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น ด้วยป้องกันกลอุบายของฝรั่งเศสที่คิดจะมาเช่าผืนแผ่นดินสยามไว้เก็บสินค้าเพื่อไม่ให้รุกล้ำพื้นที่เข้ามา จึงได้สร้างวัดท่าคกกันพื้นที่เอาไว้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2410 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 7 เมตร ยาว 13.60 เมตร[1] ในสมัยพระศรีอัคฮาด (สีทา) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้น พร้อมทั้งผูกพัทธสีมา

อุโบสถ (สิม) ยังคงมีสภาพดีและยังมีการใช้งานอยู่ เนื่องจากได้รับการดูแลรักษามาโดยตลอด ปัจจุบันได้มีการก่อแท่นปูนปูกระเบื้องสูงประมาณ 15 เซนติเมตร อยู่บริเวณด้านหน้าพระประธานในห้องโถงกลางของอาคารสิม เพื่อให้เป็นพื้นที่เฉพาะของพระภิกษุสงฆ์และป้องกันไม่ให้ฆราวาสขึ้นไปบนนั้นโดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าหากผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่บริเวณบือสิม อาจจะไม่เป็นมงคลและเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นได้ ส่วนด้านนอกอาคารสิมได้มีการติดตั้งระฆังแขวนไว้โดยรอบ

เมื่อ พ.ศ. 2563 พบว่าอุโบสถทาสีใหม่ โดยใช้สีหลักเป็นสีเหลือง ทอง เขียว แดง และสีน้ำเงิน บริเวณด้านขวามือของประตูทางเข้าสิมติดป้ายประวัติวัดท่าคก ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย ศิลปะปูนปั้นล้านช้าง[2] บนเพดานของอุโบสถทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญสีเหลืองบนพื้นสีฟ้า ล้อมรอบด้วยลายกระหนกและดอกไม้กลม โดยอยู่คู่กับเพดานรูปธรรมจักร[3]

เมื่อ พ.ศ. 2565 มีการบูรณะอุโบสถในส่วนที่ชำรุดสำคัญ ได้แก่ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เครื่องลำยองหลังคา ซ่อมแซมผนัง พื้น และปรับปรุงระบบไฟฟ้า โดยการควบคุมดูแลของกรมศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และใช้งบประมาณของวัดท่าคกทั้งจำนวน 3,190,000 บาท ผู้รับจ้างบูรณะคือ บริษัท อาร์ต แอ็นทีค คอนสตรัคชั่น จำกัด เริ่มงานตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 - 14 มีนาคม 2566

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์พา
  • พระอาจารย์ดี
  • พระอาจารย์สาย
  • พรไหล
  • พระบุญมี
  • พระศรีจันทร์ วิลาโภ
  • พระสายใจ อคฺคปุญฺโญ
  • พระคำมี คมฺภีโร
  • พระมหาเมฆ ญาณพุทฺโธ พ.ศ. 2515–2527
  • พระเสถียร สุธีโร พ.ศ. 2528–2533
  • พระบุญมี พ.ศ.2534-2535
  • พระธีรพันธ์ สนฺติธมฺโม พ.ศ. 2536-2545
  • พระสมยศ ธมฺมสรโณ (พระน้อย) พ.ศ.2546-ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดท่าคก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดท่าคก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย".
  3. "วัดธรรมนูญ". เดอะคลาวด์.