วัดดีหลวงใน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดีหลวงใน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดดีหลวงใน, วัดดีหลวง
ที่ตั้งตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดดีหลวงใน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

ประวัติ[แก้]

วัดดีหลวงในสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2220 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 4–5 เดิมชื่อ วัดดีหลวง ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งคือ "วัดดีหลวงนอก" ตั้งแต่นั้นมาวัดดีหลวงจึงได้รับชื่อเป็น "วัดดีหลวงใน" แต่ชาวบ้านมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า วัดใน

วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300[1] กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 102 ตอนที่ 128 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2528 หน้า 4496 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 โดยยึดแนวช่างหลวง แต่ปรับบางส่วนให้เข้ากับรูปแบบท้องถิ่น โครงสร้างของอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นอุโบสถโถงสามารถเดินได้รอบ บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปเทวดาประทับนั่งในวิมาน พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสีทอง มีพระอัครสาวก 2 องค์ ประดิษฐานบนฐานชุกชี ลักษณะของพระประธานช่างผู้ปั้นปั้นให้ติดกับผนังของอุโบสถ

ศาลาการเปรียญทรงไทยภาคใต้ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง หลังคาทำทรงจั่วถากจันทันให้แอ่นแบบเดียวกับเรือนไทย มีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ช่อฟ้าทำเป็นปูนปั้นรูปช้าง หางหงส์เป็นรูปหัวพญานาค ส่วนหางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูป ชายนุ่งโจงกระเบนยืนถือไม้เท้ารูปหัวคนคาดว่าน่าจะเป็นพญายม หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปชายใส่หมวกคล้ายตำรวจถือไม้เท้า หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปฤาษีถือไม้เท้าอย่างหนังตะลุง[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดดีหลวงใน". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  2. "วัดดีหลวงใน (Wat Deeluangnai)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.