วัดกำแพง (เขตบางขุนเทียน)
วัดกำแพง | |
---|---|
อุโบสถ | |
ชื่อสามัญ | วัดกำแพง, วัดสว่างอารมณ์ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 45 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 50 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่ออู่ทอง |
เจ้าอาวาส | พระมหาภาณุเมศวร์ ฐิตคุโณ (รักษาการเจ้าอาวาส) |
เว็บไซต์ | https://www.วัดกําแพง.com |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดกำแพง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]วัดกำแพงตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2468[1] เดิมชื่อ วัดสว่างอารมณ์ ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนสร้างและได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด จากสภาพวัดคาดว่าวัดนี้เคยรกร้างมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังจะเห็นได้ว่ามณฑปและวิหารซึ่งได้สร้างอยู่บนเนินของซากอาคารสถานที่ปรักหักพังอยู่ก่อนแล้ว และต่อมามณฑปก็พังทลายลงมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ส่วนวิหารก็อยู่บนเนินสูงที่ปรักหักพังมาก่อนอีกเช่นกัน วิหารดังกล่าวยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน เป็นวิหารขนาดย่อม สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เพดานไม้ทาสีเทาอมดำ มีภาพดารกหรืออาจจะเป็นดอกจันสีทองซึ่งไม่ชัดเจนนัก ตรงกลางของดอกจันบางดอกมีขอห้อยโซ่ มีโคมแก้วแขวนอยู่เพื่อจุดบูชาในวันสำคัญทางศาสนา ภายในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดง ซึ่งนิยมสร้างกันมาก่อนสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ข้างอุโบสถเป็นพระปรางค์ อุโบสถมีขนาดย่อม มีกำแพงแก้วล้อมรอบเตี้ย ๆ ฝาผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูนขึ้นมาเพียงขอบหน้าต่าง ฝาไม้สัก มีเพิงแขนนางทั้งสองข้างตลอดความยาวของตัวอุโบสถ มีพาไลอยู่ด้านหน้า ด้านหลังปิดทึบไม่มีประตูหน้าต่าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู อุโบสถนี้ได้ปรักหักพังไปเมื่อคืนวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ส่วนพระปรางค์ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอดเพกาประมาณ 12 วา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์
สาเหตุที่ชื่อวัดกำแพงมาจากการที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงพ่อคง พระภิกษุซึ่งบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดกำแพงบางจาก ได้แวะจอดเรือค้างคืนที่หน้าวัดร้างสว่างอารมณ์ และต่อมาได้บูรณะวัดให้กลับมาเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ประกอบกิจพระศาสนาได้ดังเดิม ชาวบ้านมักจะเรียกหลวงพ่อคงว่า "ท่านที่มาจากวัดกำแพง" จนเรียกกันต่อมาว่า "ท่านวัดกำแพง" ในที่สุดได้เรียกวัดนี้ว่า "วัดกำแพง" จนทุกวันนี้[2]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถหลังใหม่มีหน้าบันประดับด้วยถ้วยชามสังคโลก ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปโบราณเนื้อทองเหลืองปางห้ามญาติและปางอุ้มบาตรอยู่แถวหลัง ส่วนแถวหน้าจะเป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อทองเหลืองปางมารวิชัย 3 องค์ พระประธานในโบสถ์สร้างเป็นปูนปั้น ลงรักปิดทองหน้ายิ้มแย้ม ปัจจุบันลงรักปิดทองทุกองค์ อุโบสถบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2535 โดยพระครูเกษมธรรมาภินันท์ อดีตเจ้าอาวาส
มณฑปหลวงพ่อไปล่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2554 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว วิหารมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่ออู่ทอง องค์พระปรางค์มีซุ้มจระนำ 4 ทิศ ยอดบนสุดมีฝักเพกาทำด้วยสัมฤทธิ์ หอกลองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 ศาลาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หอไตรสร้าง พ.ศ. 2539 แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กว้าง 9 เมตร ยาว 23 เมตร
เหรียญหล่อ
[แก้]เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร เป็นที่นิยมในวงการพระเครื่องอย่างกว้างขวาง มี 4 แบบคือ เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่เนื้อสัมฤทธิ์พิมพ์ชาวบ้าน เหรียญหล่อพิมพ์ห้าเหลี่ยม เหรียญหล่อพิมพ์เสมาเนื้อสัมฤทธิ์ พระพุทธคุณเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ขึ้นชื่อในเรื่องมหาอุด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม[3]
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระอาจารย์คง | พ.ศ.2371 | พ.ศ.2431 |
2 | หลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร | พ.ศ.2431 | พ.ศ.2489 |
3 | พระครูชุบ โอภาโส | พ.ศ.2489 | พ.ศ. 2515 |
4 | พระครูเกษมธรรมาภินันท์ (เผื่อน เขมานนฺโท) | พ.ศ. 2515 | พ.ศ. 2557 |
5 | พระครูพิศาลปริยัตยานุกูล (อนันต์ วฑฺฒโน) | พ.ศ. 2557 | พ.ศ. 2564 |
6 | พระมหาพีรพล ฐานจาโร ดร. | พ.ศ. 2564 | พ.ศ.2567 |
7 | พระมหาภาณุเมศวร์ ฐิตคุโณ (รักษาการ) | พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
- ↑ "ประวัติวัดกำแพง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-18. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
- ↑ "'หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง'เหรียญหล่อโบราณยอดพุทธคุณ". คมชัดลึก. 18 พฤษภาคม 2558.