วัดกระทุ่มเสือปลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกระทุ่มเสือปลา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกระทุ่มเสือปลา, วัดกระทุ่ม
ที่ตั้งเลขที่ 5 ซอยอ่อนนุช 67 ถนนอ่อนนุช แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10250
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกระทุ่มเสือปลา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งใต้ ในแขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูโสภณพิหารกิจ

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานว่าวัดกระทุ่มเสือปลาสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2345 ไม่ปรากฏนามของผู้สร้าง แต่มีหลักฐานว่าผู้บูรณปฏิสังขรณ์คือ ขุนประเวศชนารักษ์หรือเถ้าแก่เอี๋ยว ชาวจีนที่อพยพเข้ามาและได้เข้ารับราชการ พร้อมกับนางสั้น กิตติโกวิท ผู้เป็นภรรยา สาเหตุที่ชื่อวัดกระทุ่มเสือปลานั้นเนื่องจากเมื่อก่อนพื้นที่รอบวัดมีต้นกระทุ่มขึ้นอยู่มากและมีเสือปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ปี พ.ศ. 2488 ทางวัดมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เปิดสอนนักธรรมชั้นต่าง ๆ รวมทั้งทางวัดยังบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร[1]

อาคารเสนาสนะและพิพิธภัณฑ์[แก้]

ภายในวัดมีอุโบสถ ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปประดับเพชร จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราชสมัยสุโขทัย วิหารเทพประทานพรที่ภายในมีงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธนิกายมหายานอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบศิลปะจีน ประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล พระโพธิสัตว์เทพเจ้าต่าง ๆ เป็นต้น วิหารหลวงพ่อพุทธโสธร ตั้งอยู่ในอุโบสถหลังเก่าของวัด ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมจีนผสมไทย[2]

วัดมีศาลเจ้าพ่อเสือ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2460 ภายในศาลมีงานจิตรกรรมที่เป็นภาพวาดเสือโคร่งอย่างสวยงาม วัดยังมีพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ประดิษฐานรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หลวงปู่ทวด ฯลฯ และมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า โดยมีชื่อปางและคำอธิบายของแต่ละปางอย่างละเอียด[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. วสันต์ เลื่องลือ, รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. "ประวัติศาสตร์ศิลปะสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง วัดกระทุ่มเสือปลา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "'หนุ่ม-แท่ง'พาไปดู'ฮวงจุ้ยมังกร'ที่วัดกระทุ่มเสือปลา". ไทยโพสต์. 21 พฤษภาคม 2563.
  3. "วัดกระทุ่มเสือปลา". Bangkok Now Connect. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-17. สืบค้นเมื่อ 2020-09-16.