วรรณวรรธน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วรรธนวรรณ จันทรจนา)

วรรณวรรธน์ นามปากกาของ วรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของบทประพันธ์ ข้าบดินทร์ หนึ่งด้าวฟ้าเดียว และ จันทราอุษาคเนย์ นิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทย และนิยายแนวทะเลทรายที่เน้นการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นหลัก เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด ในครอบครัวข้าราชการ บิดาคืออาจารย์ คงเดช ประพัฒน์ทอง นักโบราณคดี สนใจการเขียนงานมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้เรียนมาทางวิชานิติศาสตร์กฎหมายมหาชนจึงมีประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมาย และประวัติศาสตร์กฎหมาย

เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมจัดแสดงบทละครเวทีนานาชาติ (Interplay) ณ ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับตัวแทนนักการละครเยาวชนจากนานาชาติ และได้เข้ารับการอบรมการเขียนบทละคร Playwright and Perfoming Art จาก Seymoure Theatre Center-University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังเคยทำงานเกี่ยวกับการละครสื่อผสมต่างๆ การใช้สื่อเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน อีกด้วย

"วรรณวรรธน์" วรรธนวรรณ จันทรจนา

การศึกษา[แก้]

สำเร็จการศึกษาชั้นระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ เชิงประวัติศาสตร์กฎหมายเรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ ในปี 2539 [1]

ประสบการณ์[แก้]

เคยเป็นอาสาสมัครโครงการเพื่อพัฒนาครูในการสอนผ่านสื่อผสม ทำงานในโครงการ "จุลนาฏ" การละครเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบละครเวที เพื่อใช้ละครในการพัฒนา และงานในโครงการเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านรูปแบบละคร สื่อผสมรูปแบบต่างๆ

เมื่อปี 2538 ทำงานในตำแหน่งนิติกร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2539 ย้ายมารับราชการใน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ปี 2543 โอนมารับราชการที่ ศาลปกครอง

ประวัติการทำงานเขียน[แก้]

เริ่มต้นมีผลงานการประพันธ์นวนิยายในช่วงปี พ.ศ. 2546 กับ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ใช้นามปากกาว่า "วรรณวรรธน์" โดยผลงานการประพันธ์มีลักษณะเด่นในแง่มุมของการค้นคว้าข้อมูลประกอบการประพันธ์

ผลงานสร้างชื่อ คือ นวนิยาย ที่เรียกกันในหมู่นักอ่านชาวไทยว่า นิยายแนวทะเลทราย แต่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างคือ วรรณวรรธน์ ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองในประเทศตะวันออกกลาง และ วัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลางในการดำเนินเรื่อง ในต่ละเรื่องจะประพันธ์ออกมาในแก่นเรื่องที่แตกต่างกัน ผลงานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์คือ อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองในประเทศของตะวันออกกลาง ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันออกกลาง[2] เรื่องที่สอง ที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ เส้นทรายสีเงา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด 7 ปี ซึ่งเนื้อหาของเรืองจะเน้นไปที่การก่อเหตุก่อการร้ายในประเทศแถบตะวันออกกลาง เรื่องที่สาม ทรายล้อมตะวัน เป็นนิยายที่อธิบายถึงความเชื่อ และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย โดยมีแหล่งทรัพยากรอันมีค่าสิ่งเดียวคือ "น้ำมัน" เรื่องที่สี่ ทรายนี้ยังมีรัก นิยายเชิงอิงประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันออกของโลกโบราณมาจนถึงปัจจุบัน เล่าถึงอดีตในสมัย เมโสโปเตเมีย และ เปอร์เซีย รวมถึงชีวิตในปัจจุบัน โดยแบ่งโครงเรื่องออกเป็น 4 โครงหลัก ตัวละครแต่ละตัวดำเนินเหตุการณ์ไปใน "แต่ละชีวิต" ของตน จนเกิดปัญหาและมีการคลี่คลายได้ ในชีวิตปัจจุบัน พัวพันเรื่องราวอยู่กับความเชื่อและการแสวงหาทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่สุดของมนุษยโลก และตำนานปรัมปรา ของนกฟีนิกซ์ สฟิงค์ และตำนานมหากาพย์เรื่องกิลกาเมซ

ในนามปากกา วรรณวรรธน์ ยังมีผลงานการประพันธ์นวนิยายแนวอื่น เช่น โรแมนติคพาฝัน คือ บัลลังก์สายหมอก' และ นิยายแนวตื่นเต้นสยองขวัญ ใช้โหราศาสตร์เป็นตัวเดินเรื่อง คือ ฤกษ์สังหาร

นอกจากนี้ยังมีนิยายอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุค คือเรื่อง จันทราอุษาคเนย์ นิยายอิงประวัติศาสตร์เชิงย้อนอดีตแถบเอเชียอาคเนย์ประมาณปีพุทธศตวรรษที่ 12 โครงเรื่องที่ว่า ตมิสา สาวน้อยหลงยุคไปพบกับเจ้าชายในอดีตผู้เกรียงไกรในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำมูลในสมัยที่ กรุงเทพมหานครยังจมอยู่ใต้ท้องทะเล การประพันธ์ที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลนานร่วม 23 ปี และใช้ข้อมูลประเภทปฐมภูมิในการประพันธ์ คือ หลักศิลาจารึกของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันที่ปรากฏในประเทศไทย ทำให้เรื่องราว น่าสนใจ และ น่าเชื่อถือ และจุดประกายให้ผู้สนใจ มีการวิจัย ศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ้าชายจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมัน และ พระเจ้าภววรมัน ในอาณาจักรเจนละ(เจนฬา หรือ เจิ้นละ) และลุ่มแม่น้ำ โขง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ตลอดจนศึกษาเห็นความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ของผู้คนในแถบสุวรรณภูมิ มากยิ่งขึ้น

และนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ข้าบดินทร์ ซึ่งใช้ฉากจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 มาร้อยเรียงเรื่องราว ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างสนุกสนาน และสร้างความสนใจให้แก่ผู้อ่านได้มากขึ้น เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว และในเรื่องนี้ ได้อธิบายและคงรักษาเรื่อง คชศาสตร์ ของไทย ไว้ เพื่อเก็บรักษาวิชาว่าด้วย ช้าง ในการฝึกและดูแล อันเป็นศิลปศาสตร์ของไทยที่จวนจะสูญหายให้กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง นิยายเรื่องดังกล่าวได้รับการยอมรับและบรรจุให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนในเขตเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ [3] หนึ่งด้าวฟ้าเดียว นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับจารบุรุษที่ปลอมตัวเป็นขันทีในราชสำนักอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง และการกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช

นิยายแนวจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ ในชุด อขิทโร จำนวน 4 ตอน คือ อขิทโร ลูกปัดมนตรา ,อขิทโร ลูกปัดสิเน่หา , อขิทโร อุบัติ มหาคุรุเทวา และ อขิทโร มหาคุรุเทวา ปรัยวสาน เล่ม 1 และ เล่ม 2 เป็นนวนิยายที่เริ่มต้นการประพันธ์มาจากเรื่องของลูกปัดโบราณในประเทศไทย และ การค้นพบลูกปัดคาร์เนเลี่ยน ที่มีจารึกอักษรพราหมี ว่า "อขิทโร" ในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า ไม่อ่อนแอ อดทน

นอกจากนี้ยังมีแนวนิยายร่วมสมัย ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ และ ขอเป็นนางเอกสักครั้งให้ชื่นใจ

ผลงานด้านนวนิยาย[แก้]

มีผลงานประพันธ์รวมเล่ม 15 เรื่องคือ

ผลงานด้านกฎหมายและประวัติศาสตร์กฎหมาย[แก้]

นอกจากผลงานการประพันธ์นวนิยาย วรรธนวรรณ จันทรจนา ยังรับราชการด้านกฎหมาย และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในด้านประวัติศาสตร์กฎหมายและกฎหมายปกครอง รวมทั้งมีผลงานทางวิชาการใน ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และ ประวัติศาสตร์กฎหมาย อาทิ
- พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์
- สัญญาทางปกครอง
- คู่มือปฏิบัติหน้าที่พนักงานคดีปกครอง ฉบับ ธุรการคดี
- กว่าจะมาเป็นศาลปกครอง (วิวัฒนาการศาลปกครองไทย)
- จากเคาน์ซิลออฟสเตด ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน สู่ ศาลปกครอง
- บทความเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

อ้างอิง[แก้]

  1. วรรธนวรรณ จันทรจนา ,พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต 2539 ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,หน้า 345
  2. http://www.watcafe.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=400760&Ntype=5
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-02-17.

บรรณานุกรม[แก้]

  • วรรธนวรรณ จันทรจนา, พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539
  • สำนักงานศาลปกครอง,กว่าจะมาเป็นศาลปกครอง,2551
  • วรรธนวรรณ จันทรจนา,จากเคาน์ซิลออฟสเตด ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สู่ศาลปกครอง,สำนักงานศาลปกครอง,2553

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]