อันดับปลาคางคก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วงศ์ปลาคางคก)
อันดับปลาคางคก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนกลาง ถึง ปัจจุบัน[1]
ปลาคางคกไม่ทราบชนิด ในทะเลแดง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Batrachoidiformes
วงศ์: Batrachoididae
วงศ์ย่อย

ปลาคางคก (อังกฤษ: Toadfishes, Frogfishes) เป็นปลาทะเลจำพวกปลากระดูกแข็งกลุ่มหนึ่ง ในอันดับ Batrachoidiformes และวงศ์ Batrachoididae ซึ่งมีเพียงวงศ์เดียวเท่านั้นที่อยู่ในอันดับนี้[2]

ลักษณะและพฤติกรรม[แก้]

ถูกเรียกชื่อนี้เนื่องจากมีสีที่ไม่เป็นระเบียบ ดูสกปรกเลอะเทอะดูคล้ายกับคางคกหรือกบ (คำว่า "Batrachus" มาจากภาษากรีกคำว่า βατραχος (batrakhos) หมายถึง "กบ") มีอยู่ประมาณ 80 ชนิด ใน 21 สกุล แบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ย่อย (ดูด้านล่าง)[1]

ปลากลุ่มนี้ มีวิธีการล่าเหยื่อแบบซุ่มโจมตี โดยจะฝังตัวกับพื้นทราย ด้วยสีที่ดูเลอะเทอะไม่สะดุดตาช่วยให้หลบพ้นจากสายตาสัตว์นักล่าประเภทอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี มีหนามแหลมบริเวณหลังและหนามแหลมบริเวณส่วนคลุมเหงือกของปลากลุ่มนี้ โดยเฉพาะในสกุล Thalassophryne จะมีเป็นท่อซึ่งสามารถฉีดพิษไปยังศัตรูที่ต้องการที่จะล่าพวกมันเป็นอาหาร เพื่อป้องกันตัว

มีความสามารถส่งเสียงร้องได้ ในตัวผู้จะมีการใช้ถุงลมช่วยในการว่ายน้ำ และช่วยในการทำให้เกิดเสียงเพื่อดึงดูดตัวเมีย ด้วยการขยับกล้ามเนื้อที่แข็งแรงด้านข้างถุงลม[3] โดยจะส่งเสียงร้องว่า "อุบ อุบ" ในภาษาไทยถึงเรียกปลากลุ่มนี้รวม ๆ กันว่า "ปลาอุบ" เนื่องจากเป็นปลาที่หลบซ่อนตามโขดหินหรือใต้พื้นทรายหรือพื้นที่ ๆ เป็นโคลนเลน พบเห็นตัวได้ยาก จึงต้องทำการดึงดูดเพศตรงข้ามให้สนใจ โดยสามารถสั่นกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้มากถึง 150 ครั้งต่อวินาที[3] นอกจากนี้แล้วยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาผีหลอก", "ปลาบู่ทะเล", "ปลาตุ๊กแก", "ปลากบ" หรือ "ปลาคางคก" [4]

เป็นปลาไม่มีเกล็ด เนื้อนิ่มลื่น โดยที่ตาอยู่ด้านบนของหัวที่มีขนาดใหญ่ ปากมีขนาดใหญ่รับกับขากรรไกรล่าง และขากรรไกรบน เหงือกมีขนาดเล็กและมีเพียงข้างละอัน มีหนามแหลม 1 เส้น พร้อมกับเส้นครีบอ่อนจำนวนมาก

อาศัยอยู่บริเวณพื้นใต้น้ำ ตั้งแต่แถบชายฝั่งไปจนถึงทะเลลึก เป็นปลากินเนื้อ สามารถกินอาหารได้หลากหลายและไม่เลือกขนาดแม้จะใหญ่กว่าตัวก็ตาม โดยจะหลบซ่อนอยู่ตามรอยแตกของหิน หรือ ขุดพื้นทรายเพื่อซ่อนตัวล่าเหยื่อ ตัวผู้จะสร้างรังและคอยปกป้องไข่หลังจากที่ตัวเมียทำการวางไข่แล้ว ตัวผู้หนึ่งตัวอาจผสมพันธุ์กับไข่ของตัวเมียได้หลายตัว[3]

พบได้ในทะเลทั่วโลก มีเพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดหรือน้ำกร่อย เช่น Daector quadrizonatus ที่พบในประเทศโคลัมเบีย, Potamobatrachus trispinosus ที่พบในแม่น้ำอเมซอน, Thalassophryne amazonica พบในทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงปลาย่าดุก (Batrachomoeus trispinosus) หรือปลาคางคก (Allenbatrachus grunniens) ที่พบได้ในบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย[4]

และจากการที่ปลาที่สามารถส่งเสียงร้องได้ เป็นเหตุให้เมืองชายทะเลเมืองหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงฤดูร้อน ในเวลาพลบค่ำจะปรากฏเสียงต่ำ ๆ ทุ้ม ๆ ดัง "อึ่งงงงงงงงงงงงงงงงงงง" ระงมไปทั่วทั้งเมือง จนรบกวนการนอนหลับพักผ่อนของผู้คนที่อาศัยในเมือง ซึ่งในตอนแรกยังไม่มีใครทราบว่าเป็นเสียงของอะไร ที่สุดก็การค้นพบว่าเป็นเสียงร้องของปลาคางคกตัวผู้ที่ส่งเสียงร้องดึงดูดความสนใจของตัวเมียนั่นเอง[3]

ในส่วนที่อาศัยในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยต้องมีการนำมาปรับสภาพให้อาศัยอยู่ในน้ำจืดและสถานที่เลี้ยงให้ได้เสียก่อน จึงจะอยู่รอดได้ แต่ในแง่ของการประมงไม่จัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ แม้จะมีรายงานว่าเนื้อปลาจำพวกนี้จะมีคุณค่าทางสารอาหารเหมือนเช่นปลาทะเลจำพวกอื่น ทั้ง โอเมกา 3 หรือ ดีเอชเอ โดยชาวประมงเมื่อจับได้มักจะเป็นปลาที่ติดมากับอวนโดยบังเอิญ[5] แต่ในปัจจุบัน ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มีการประมงปลาคางคกโดยเฉพาะ โดยการวางลอบใช้เหยื่อเป็นเนื้อปลาสด ทิ้งระยะห่างระหว่างลอบประมาณ 10 เมตร มีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 70-80 บาท นิยมนำไปปรุงเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงกะทิ[6]

การจำแนก[แก้]

อันดับ Batrachoidiformes

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Order Summary for Batrachoidiformes (อังกฤษ)
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "เหตุการณ์ธรรมชาติสุดพิลึก ตอน 1, "สุดยอดสารคดีโลก"". ไทยพีบีเอส. 21 April 2014. สืบค้นเมื่อ 22 April 2014.
  4. 4.0 4.1 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2539. 976 หน้า. หน้า 183. ISBN 974-8122-79-4
  5. นิรนาม. ปลาอุบ, นิตยสารของคนรักปลาเพื่อคนรักปลา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 ประจำเดือนสิงหาคม 2553. หน้า 121-123
  6. "วิถีการหาปลาสิงโต มีเนื้อนุ่มทำอาหารได้อร่อย". ไทยพีบีเอส. June 27, 2016. สืบค้นเมื่อ July 17, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]