วงศ์กระจง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์กระจง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Oligocene–Recent
กระจงควาย หรือ กระจงใหญ่ (Tragulus napu) เป็นกระจงชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับย่อย: Ruminantia
วงศ์: Tragulidae
Milne-Edwards, 1864
สกุล

วงศ์กระจง (อังกฤษ: Chevrotain, Mouse-deer, Napu; อีสาน: ไก้) เป็นวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กวงศ์หนึ่ง ในอันดับสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tragulidae

กระจงถือเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีรูปร่างลักษณะทั่วไปคล้ายกับกวาง (Cervidae) มีกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน มีการหมักอาหารที่กระเพาะอาหาร แต่กระเพาะห้องที่สามจะลดขนาดลง เหลือไว้เพียงร่องรอยเท่านั้น มีส่วนหัวค่อนข้างเล็ก ไม่มีเขา จะงอยหน้าแหลมและแคบ จมูกไม่มีขน ไม่มีทั้งต่อมที่ใบหน้าและต่อมกับ ขายาวเรียวและเล็ก ตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีเขี้ยวงอกจากขากรรไกรบนยาวยื่นออกมาใช้สำหรับป้องกันตัว ส่วนตัวเมียมีเขี้ยวเหมือนกับตัวผู้ แต่มีขนาดเล็กมาก ไม่มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีระยะเวลาตั้งท้องนานราว 120–180 วัน ตัวเมียสามารถกลับมาเป็นสัดได้ ใน 7 วันหลังจากออกลูก ออกลูกโดยปกติครั้งละ 1 ตัว

ถือได้ว่าเป็นสัตว์กีบที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ด้วยว่ามีขนาดพอ ๆ กับกระต่ายตัวหนึ่งเท่านั้นเอง พบกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ในอนุทวีปอินเดีย และเอเชียอาคเนย์[2]

แบ่งออกได้เป็น 3 สกุล 10 ชนิด[3] และสูญพันธุ์ไปแล้วอีก 6 สกุล (ดูในตาราง)

สำหรับในประเทศไทย พบ 2 ชนิด คือ กระจงควาย หรือ กระจงใหญ่ (Tragulus napu) และกระจงเล็ก หรือ กระจงหนู (T. kanchil) ซึ่งถือได้เป็นสัตว์กีบที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกด้วย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. [Farooq, U., Khan, M.A., Akhtar, M. and Khan, A.M. 2008. Lower dentition of Dorcatherium majus (Tragulidae, Mammalia) in the Lower and Middle Siwaliks (Miocene) of Pakistan. Tur. J. Zool., 32: 91-98. http://journals.tubitak.gov.tr/zoology/issues/zoo-08-32-1/zoo-32-1-14-0612-5.pdf เก็บถาวร 2011-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]
  2. Michael et al., 2004. Grzimek’s Animal Life Encyclopedia 2nd ed. V. 16 : MammalsV
  3. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  4. "กระจงเล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2012-03-27.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]