ข้ามไปเนื้อหา

ลู่ ข่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลู่ ข่าย
陸凱
อัครมหาเสนาบดีซ้าย (左丞相 จั่วเฉิงเซี่ยง)
(คู่กับบั้นเฮ็ก)
ดำรงตำแหน่ง
กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 266 – ธันวาคม ค.ศ. 269 หรือมกราคม ค.ศ. 270
กษัตริย์ซุนโฮ
ก่อนหน้าเอียงเหียง
ถัดไปเตี๋ยวเค้า
เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (荊州牧 จิงโจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 264 (264) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 266
กษัตริย์ซุนโฮ
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก
(鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 264 (264) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 266
กษัตริย์ซุนโฮ
ขุนพลโจมตีภาคเหนือ
(征北將軍 เจิงเป่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – ค.ศ. 264 (264)
กษัตริย์ซุนฮิว
ขุนพลสงบแดนไกล
(綏遠將軍 ซุย-ยฺเหวียนเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 255 (255) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ขุนพลปราบวุย
(盪魏將軍 ต้างเว่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 255 (255) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 198
นครซูโจว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิตธันวาคม ค.ศ. 269 หรือมกราคม ค.ศ. 270 (71 ปี)[a]
นครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์
บุตรลู่ อี (陸禕)
ญาติ
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองจิ้งเฟิง (敬風)
บรรดาศักดิ์เฮาแห่งแกหิน (嘉興侯 เจียซิงโหว)

ลู่ ข่าย (จีน: 陸凱; พินอิน: Lù Kǎi; ค.ศ. 198 – ธันวาคม ค.ศ. 269 หรือมกราคม ค.ศ. 270)[a] ชื่อรอง จิ้งเฟิง (จีน: 敬風; พินอิน: Jìngfēng) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เกิดในตระกูลลก (陸 ลู่) ที่มีอิทธิพลในภูมิภาคง่อ (吳 อู๋) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ลู่ ข่ายเริ่มรับราชการในช่วงต้นยุคสามก๊กโดยมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอและภายหลังได้เป็นข้าราชการทหารของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก ในรัชสมัยของซุนเหลียง ลู่ ข่ายเข้าร่วมในบางยุทธการที่รบกับกลุ่มโจรและรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก และได้เลื่อนยศเป็นขุนพล ตลอดรัชสมัยของซุนฮิวและช่วงต้นรัชสมัยของซุนโฮ ลู่ ข่ายยังคงมีอำนาจบัญชาการทหารจนกระทั่งเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 266 เมื่อซุนโฮทรงแต่งตั้งลู่ ข่ายและบั้นเฮ็กเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของง่อก๊กตามลำดับ ลู่ ข่ายมีชื่อเสียงในเรื่องการพูดตรงไปตรงมา ลู่ ข่ายทูลทัดทานอย่างหนักแน่นต่อการตัดสินพระทัยของซุนโฮที่จะย้ายนครหลวงจากเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) ไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) ในปี ค.ศ. 265 พยายามทูลโน้มน้ามซุนโฮไม่ให้ไปทำศึกกับราชวงศ์จิ้นที่ขึ้นมาแทนที่รัฐวุยก๊กในปี ค.ศ. 266 และทูลตำหนิวิถีทางอันโหดเหี้ยมและสุรุ่ยสุร่ายของซุนโฮหลายครั้ง แม้ว่าซุนโฮทรงไม่พอพระทัยลู่ ข่ายอย่างมากที่ทูลตำหนิพระองค์อย่างเปิดเผย แต่พระองค์ก็ทรงยอมอดทนต่อลู่ ข่ายเพราะลู่ ข่ายดำรงตำแหน่งที่สำคัญและพระองค์ไม่ทรงต้องการเป็นปฏิปักษ์กับตระกูลลก หลังการเสียชีวิตของลู่ ข่าย ซุนโฮก็เนรเทศครอบครัวของลู่ ข่ายไปยังเมืองที่อยู่ห่างไกลทางใต้

ภูมิหลังครอบครัว

[แก้]

ลู่ ข่ายเป็นชาวอำเภออู๋ (吳縣 อู๋เซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครซูโจว มณฑลเจียงซู ลู่ ข่ายมาจากตระกูลลก (陸 ลู่) เกิดในตระกูลลก (陸 ลู่) ที่เป็นหนึ่งในสี่ตระกูลทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองง่อกุ๋น และยังเป็นหนึ่งในสี่ตระกูลทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาคกังตั๋ง (江東 เจียงตง) หรือภูมิภาคง่อ (吳 อู๋) ในเวลานั้น[b] ลู่ ข่ายยังเป็นญาติของลกซุน (陸遜 ลู่ ซฺวิ่น) อัครมหาเสนาบดีลำดับที่ 3 แห่งง่อก๊ก[2]

รับราชการกับซุนกวน

[แก้]

ลู่ ข่ายเริ่มรับราชการในราวช่วงเวลาที่ซุนกวนก่อตั้งรัฐง่อก๊กในฐานะรัฐอิสระในปี ค.ศ. 222 ใกล้กับการเริ่มยุคสามก๊ก ลู่ ค่ายมีตำแหน่งแรกเป็นนายอำเภอของอำเภอหย่งซิง (永興縣 หย่งซิงเซี่ยน; ปัจจุบันคือเขตเซียวชาน นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง) และภายหลังไปเป็นนายอำเภอของอำเภอจูจี้ (诸暨縣 จูจี้เซี่ยน; ปัจจุบันคือนครจูจี้ มณฑลเจ้อเจียง) ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นนายกองร้อยสถาปนายุทธ์ (建武都尉 เจี้ยนอู่ตูเว่ย์) และได้รับมอบหมายให้บัญชาการกองกำลัง[3] ในช่วงที่รับราชการทหาร ลู่ ข่ายมักอ่านหนังสือ มีความสนใจไท่เสฺวียนจิง (太玄經) และการทำนายดวงชะตาเป็นพิเศษ[4]

ในช่วงศักราชชื่ออู (赤烏; ค.ศ. 238–251) ในรัชสมัยของซุนกวน ลู่ ข่ายได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตานเอ่อร์ (儋耳郡 ตานเอ่อร์จฺวิ้น; อยู่บริเวณนครตานโจว มณฑลไหหลำในปัจจุบัน) ลู่ ข่ายนำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีจูหยา (朱崖; ปัจจุบันคือนครไหโข่ว มณฑลไหหลำ) และยึดมาเป็นของง่อก๊กได้สำเร็จ จากความดีความชอบนี้ ลู่ ข่ายจึงได้เลื่อนขั้นจากนายกองร้อยมาเป็น "นายกองพันสถาปนายุทธ์"(建武校尉 เจี้ยนอู่เซี่ยวเว่ย์)[5]

รับราชการกับซุนเหลียง

[แก้]

ในปี ค.ศ. 255 ในรัชสมัยของซุนเหลียงจักรพรรดิลำดับที่ 2 แห่งง่อก๊ก ลู่ ข่ายนำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีกลุ่มโจรที่นำโดยเฉิน ปี้ (陳毖) ในเมืองเลงเหลง (零陵郡 หลิงหลิงจฺวิน; อยู่บริเวณนครหย่งโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และกำจัดเฉิน ปี้และกลุ่มโจรได้สำเร็จ จากนั้นลู่ ข่ายจึงได้เลื่อนยศเป็นขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) และได้รับการตั้งให้เป็นแม่ทัพของอำเภอปากิ๋ว (巴丘 ปาชิว; ปัจจุบันคือนครเยฺว่หยาง มณฑลหูหนาน) นอกจากนี้ยังได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ตูเซียงโหว (都鄉侯) ต่อมาลู่ ข่ายได้รับการตั้งให้เป็นแม่ทัพฝ่ายขวาของบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[6]

ในรัชสมัยของซุนเหลียง ลู่ ข่ายเข้าร่วมในการศึกที่รบกับวุยก๊กรัฐอริของง่อก๊กที่ฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) หลังกลับจากการรบที่ฉิวฉุน ลู่ ข่ายได้รับการเลื่อนขั้นเป็น "ขุนพลปราบวุย" (盪魏將軍 ต้างเว่ย์เจียงจฺวิน) และภายหลังเป็น "ขุนพลสงบแดนไกล" (綏遠將軍 ซุย-ยฺเหวียนเจียงจฺวิน).[7]

รับราชการกับซุนฮิว

[แก้]

หลังจากซุนฮิวขึ้นครองราชย์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 258 พระองค์ทรงแต่งตั้งลู่ ข่ายเป็นขุนพลโจมตีภาคเหนือ (征北將軍 เจิงเป่ย์เจียงจฺวิน) และให้มีตำแหน่งในนามเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลอิจิ๋ว (豫州 ยฺวี่โจว)[8] ซึ่งแท้จริงแล้วอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก

รับราชการกับซุนโฮ

[แก้]

เมื่อซุนโฮขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 264 หลังการสวรรคตของซุนฮิว พระองค์ทรงแต่งตั้งลู่ ข่ายให้มียศเป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน) ตั้งให้มีตำแหน่งเจ้ามณฑลของมณฑลเกงจิ๋ว (荊州 จิงโจว) และมีรับสั่งให้ลู่ ข่ายไปประจำการอยู่ที่ปากิ๋ว (巴丘 ปาชิว; ปัจจุบันคือนครเยฺว่หยาง มณฑลหูหนาน) พระองค์ยังทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ลู่ ข่ายจากเฮา (侯 โหว) ระดับตำบลให้ขึ้นเป็นเฮาระดับอำเภอในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "เฮาแห่งแกหิน" (嘉興侯 เจียซิงโหว)[9]

ทูลทัดทานซุนโฮเรื่องการย้ายนครหลวง

[แก้]

ปลายเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 265 ซุนโฮทรงย้ายนครหลวงของง่อก๊กจากเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) ไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[10] การตัดสินพระทัยย้ายนครหลวงของพระองค์กลายเป็นภาระหนักของราษฎรในมณฑลยังจิ๋ว (揚州 หยางโจว) เพราะต้องเดือดร้อนอย่างมากในจัดหาเสบียงและทรัพยากรที่ใช้ในการย้ายถิ่นฐาน ในเวลาเดียวกันนั้น ความล้มเหลวของนโยบายจำนวนมากของราชสำนักง่อก๊กก็สร้างความยากลำบากให้ราษฎร ทำให้ราษฎรต้องเป็นอยู่อย่างยากจน[11] ในช่วงเวลานั้น ลู่ ข่ายเขียนฎีกาถวายซุนโฮเพื่อทูลทัดทานไม่ให้ย้ายนครหลวง และทูลแนะนำพระองค์ให้ปกครองด้วยความเมตตากรุณา

ทูลห้ามซุนโฮไม่ให้โจมตีราชวงศ์จิ้น

[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 266 ซุนโฮทรงส่งติง จง (丁忠) เป็นทูตไปเจรจาสันติภาพกับราชวงศ์จิ้นซึ่งขึ้นมาทันที่วุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 หลังติง จงเดินทางกลับมาจากภารกิจ ก็ทูลโน้มน้าวซุนโฮให้เปิดฉากโจมตีเมืองอี้หยาง (弋陽郡; อยู่บริเวณนครซินหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ของราชวงศ์จิ้น เพราะเห็นว่าการป้องกันของราชวงศ์จิ้นนั้นเบาบาง เมื่อซุนโฮทรงเรียกประชุมขุนนางเพื่อหารือในเรื่องนี้[12] ลู่ ข่ายให้ความเห็นว่า:

"สงครามหมายถึงเป็นทางเลือกสุดท้าย ตั้งแต่เริ่มต้นยุคสามก๊กเป็นต้นมา เราผ่านการรบมาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยมีปีใดเลยที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ บัดนี้ข้าศีกทรงอำนาจของเราเพิ่งพิชิตปาจ๊กและยึดครองดินแดน ทั้งยังส่งทูตมาเข้าพบและเสนอจะสร้างสันติภาพกับเรา ไม่ใช่เพราะพวกนั้นต้องการความช่วยเหลือจากเรา บัดนี้ข้าศึกของเราแข็งแกร่งมาก เรายังต้องการเสี่ยงโชคเพื่อชัยชนะอยู่อีกหรือ กระหม่อมไม่เห็นว่าเราจะได้อะไรจากการนี้เลย"[13]

หลิว จฺว่าน (劉纂 ขุนพลง่อก๊กทูลโน้มน้าวซุนโฮให้ใช้โอกาสนี้เข้าโจมตี และทูลเสนอให้ส่งสายสืบไปประเมินสถานการณ์ในเมืองอี้หยางก่อน[14] แม้ว่าซุนโฮทรงต้องการทำตามข้อเสนอของหลิว จฺว่าน แต่ในที่สุดพระองค์ก็ล้มเลิกความคิดนี้หลังทรงพิจารณาถึงการล่มสลายเมื่อเร็ว ๆ นี้ของจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊กในปี ค.ศ. 263[15][16]

ในฐานะอัครมหาเสนาบดีซ้าย

[แก้]

ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 266 ซุนโฮทรงแต่งตั้งลู่ ข่ายเป็นอัครมหาเสนาบดีซ้าย (左丞相) 左丞相 จั่วเฉิงเซี่ยง) และทรงแต่งตั้งบั้นเฮ็ก (萬彧 ว่าน ยฺวี่) เป็นอัครมหาเสนาบดีขวา (右丞相 โย่วเฉิงเซี่ยง)[17][18]

เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าซุนโฮไม่โปรดการรับฟังคำติชมเกี่ยวกับพระองค์เอง เหล่าขุนนางจึงไม่กล้าทูลตำหนิพระองค์[19] แต่ลู่ ข่ายทูลจักรพรรดิว่า "หากเจ้าแผ่นดินและขุนนางไม่เข้าใจกันและกัน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดเห็น ทุกคนก็จะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร" ซุนโฮทรงรับฟังคำติชมจากลู่ ข่าย[20]

ในเวลานั้นซุนโฮทรงมีข้ารับใช้ชื่อเหอ ติ้ง (何定) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการประจบประแจงจักรพรรดิ พูดจาไม่เกี่ยวกับเหล่าข้าราชการลับหลัง และให้การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับเหล่าผู้ใกล้ชิดกับตน[21] ครั้งหนึ่งลู่ ข่ายเคยตำหนิเหอ ติ้งว่า:

"จงดูขุนนางเหล่านั้นที่ไม่รับใช้เจ้าแผ่นดินด้วยความภักดี และเป็นผํู้ก่อความวุ่นวายและการทุจริตในราชสำนัก พวกเหล่านั้นจะได้ตายดีหรือ เหตุใดท่านถึงใช้ถ้อยคำประจบสอพลอและถ้อยคำให้ร้าย และขัดขวางไม่ให้ฝ่าบาททอดพระเนตรและทรงสดับด้วยพระองค์เอง ท่านควรปรับปรุงตนเอง หาไม่แล้วเห็นว่าท่านจะพบกับหายนะอันไม่คาดคิด"[22]

เหอ ติ้งโกรธลู่ ข่ายมากจากเรื่องนี้ จึงคิดหาวิธีเอาคืนลู่ ข่าย แต่ลู่ ข่ายยังไม่คงไม่สะทกสะท้านและยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเชี่ยวชาญและมีความยุติธรรม ลู่ ข่ายยังคงแสดงความจริงและความภักดีถวายซุนโฮโดยการทูลอย่างตรงไปตรงมากและไม่เลี่ยงคำพูดของตนเมื่อถวายคำแนะนำจักรพรรดิ [23]

วางแผนโค่นล้มซุนโฮ

[แก้]

มีบันทึกหนึ่งระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 267 ลู่ ข่ายวางแผนร่วมกับเตงฮอง (丁奉 ติง เฟิ่ง) และติง กู้ (丁固) หวังจะโค่นล้มซุนโฮในระหว่างพระองค์เสด็จเยี่ยมศาลบรรพชน และจะตั้งพระโอรสของซุนฮิวขึ้นครองราชย์แทน จากนั้นลู่ ข่ายจึงลอบสั่งให้ข้าราชการผู้หนึ่งไปทูลเสนอซุนโฮแนะนำให้เตงฮองให้นำทหารราชองครักษ์ 3,000 นายไปถวายการอารักขาซุนโฮที่ศาลบรรพชน แค่ซุนโฮทรงปฏิเสธข้อเสนอ และทรงเลือกหลิว ผิง (留平) ให้เป็นคุมทหารราชองครักษ์แทน ลู่ ข่ายและคนอื่น ๆ จึงติดต่อหลิว ผิงและขอให้หลิว ผิงเข้าร่วมดำเนินแผนการ แม้ว่าหลิว ผิงปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่หลิว ผิงก็ให้คำมั่นว่าตนไม่เปิดเผยความลับใด ๆ เมื่อไร้ความช่วยเหลือจากหลิว ผิง แผนการก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เฉิน เหมียว (陳苗) ผู้เป็นโหรหลวงทูลเตือนซุนโฮว่ามีลางร้ายเกิดขึ้น (เช่นมีเมฆครึ้มแต่ไม่มีฝน ลมเปลี่ยนทิศทาง) ซุนโฮที่เชื่อถือโชคลางจึงทรงมีรับสั่งให้ทหารราชองครักษ์เฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ[24]

อู๋ลู่ (吳錄) บันทึกว่าลู่ ข่ายสั่งให้ลู่ อี (陸禕) บุตรชายของตนให้ลอบติดต่อหลิว ผิงเพื่อขอให้หลิว ผิงมาเข้าร่วมในแผนการ แต่ก่อนจะลู่ อีจะบอกหลิว ผิงได้ หลิว ผิงซึ่งไม่ถูกกันกับเตงฮองก็ยิ้มและบอกลู่ อีว่า "ข้าได้ยินว่ามีหมูป่าบุกเข้าไปในค่ายของเตงฮอง นั่นเป็นลางร้าย" ลู่ อีคิดว่าหลิว ผิงรู้เรื่องที่กำลังวางแผนนี้แล้ว จึงรู้สึกกลัวและไม่กล้าพูดอะไรเกี่ยวกับแผนการนี้[25]

เสียชีวิต

[แก้]

เมื่อลู่ ข่ายป่วยหนักในปี ค.ศ. 269 ซุนโฮทรงส่งตังเตียว (董朝 ต่ง เฉา) ผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการไปเยี่ยมลู่ ข่ายและฟังคำสั่งเสีย[26] ลู่ ข่ายพูดว่า:

"เหอ ติ้งไม่อาจไว้วางใจได้ ควรจะมอบหมายให้เหอ ติ้งไปอยู่ที่อื่นที่ไกลออกไปจากนครหลวง ไม่ควรให้ไว้วางใจให้ดูแลราชการแผ่นดิน ซี ซี (奚熙) ข้าราชการระดับล่างได้สร้างที่นาในทะเลสาบเทียมหวังจะฟื้นฟูโครงการที่ริเริ่มก่อนหน้านี้โดยเหยียน มี่ (嚴密) ฝ่าบาททรงไม่ควรฟังเขา เหยา ซิ่น (姚信), โหลว เสฺวียน (樓玄), เฮ่อ เช่า (賀卲), เตี๋ยวเค้า (張悌 จาง ที่), กัว ชัว (郭逴), เซฺว อิ๋ง (薛瑩) และเถิง ซิว (滕修) ตลอดจนถึงญาติของกระหม่อมคือลู่ สี่ (陸喜) และลกข้อง (陸抗 ลู่ ค่าง) ล้วนเป็นผู้มีคุณธรรม ความภักดี ความขยัน และมีสติปัญญาสูงเป็นพิเศษ คนเหล่านี้ล้วนสามารถเป็นเสาหลักของแผ่นดินและเป็นแบบอย่างของสังคม กระหม่อมหวังว่าฝ่าบาทจะทรงใส่พระทัยแก่คนเหล่านี้มากขึ้นและพิจารณาคำแนะนำของพวกเขาอย่างรอบคอบ ปรึกษาหารือด้วยพวกเขาในประเด็นสำคัญ และให้พวกเขาทำหน้าที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาช่วยฝ่าบาทในการปรับปรุงข้อบกพร่องใด ๆ ที่พระองค์อาจทรงมี"[27]

ลู่ ข่ายเสียชีวิตในช่วงระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 269 และ 8 มกราคม ค.ศ. 270[a] ขณะมีอายุ 72 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[28]

ครอบครัว

[แก้]

บุตรชายของลู่ ข่ายคือลู่ อี (陸禕) รับราชการกับรัฐง่อก๊กเช่นเดียวกับบิดา โดยเริ่มรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) ก่อนจะเข้าร่วมในทัพง่อก๊กและไต่เต้าจนขึ้นมามีตำแหน่งขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) หลังการเสียชีวิตของบิดา ลู่ อีได้รับราชการในพระราชวังหลวง โดยได้เป็นข้าราชบริพารของรัชทายาท[29]

งานเขียนของลู่ ข่าย

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 บทชีวประวัติซุนโฮในสามก๊กจี่บันทึกว่าลู่ ข่ายเสียชีวิตในเดือน 11 ของศักราชเจี้ยนเหิง (建衡) ปีที่ 1 ในรัขสมัยของซุนโฮ[1] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 269 ถึง 8 มกราคม ค.ศ. 270 ในปฏิทินเกรกอรี
  2. สี่ตระกูลใหญ่ในเมืองง่อกุ๋น ได้แก่ ตระกูลโกะ (顧 กู้), ลก (陸 ลู่), จู (朱 จู) และเตียว (張 จาง) สี่ตระกูลใหญ่ในภูมิภาคกังตั๋ง ได้แก่ ตระกูล(顧 กู้), ลก (陸 ลู่), งี/ยี (虞 ยฺหวี) และอุย/งุย (魏 เว่ย์) สมาชิกที่มีชื่อเสียงจากแต่ละตระกูล ได้แก่ โกะหยง (顧雍 กู้ ยง), กู้ เช่า (顧邵) และกู้ ถาน (顧譚) จากตระกูลโกะ; ลกซุน (陸遜 ลู่ ซฺวิ่น), ลกเจ๊ก (陸績 ลู่ จี) และลู่ ข่ายจากตระกูลลก; จูหวน (朱桓 จู หฺวาน) และจู จฺวี้ (朱據) จากตระกูลจู; เตียวอุ๋น (張溫 จาง เวิน) จากตระกูลเตียว; งีห้วน/ยีหวน (虞翻 ยฺหวี ฟาน) จากตระกูลงี/ยี และเว่ย เถิง (魏騰) จากตระกูลอุย/งุย

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([建衡元年]十一月,左丞相陸凱卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  2. (陸凱字敬風,吳郡吳人,丞相遜族子也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  3. (黃武初為永興、諸曁長,所在有治迹,拜建武都尉,領兵。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  4. (雖統軍衆,手不釋書。好太玄,論演其意,以筮輒驗。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  5. (赤烏中,除儋耳太守,討朱崖,斬獲有功,遷為建武校尉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  6. (五鳳二年,討山賊陳毖於零陵,斬毖克捷,拜巴丘督、偏將軍,封都鄉侯,轉為武昌右部督。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  7. (與諸將共赴壽春,還,累遷盪魏、綏遠將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  8. (孫休即位,拜征北將軍,假節領豫州牧。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  9. (孫皓立,遷鎮西大將軍,都督巴丘,領荊州牧,進封嘉興侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  10. ([甘露元年]九月,從西陵督步闡表,徙都武昌, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  11. (皓時徙都武昌,揚土百姓泝流供給,以為患苦,又政事多謬,黎元窮匱。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  12. (寶鼎元年正月,遣大鴻臚張儼、五官中郎將丁忠弔祭晉文帝。及還,儼道病死。忠說皓曰:「北方守戰之具不設,弋陽可襲而取。」皓訪羣臣, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  13. (鎮西大將軍陸凱曰:「夫兵不得已而用之耳,且三國鼎立已來,更相侵伐,無歲寧居。今彊敵新并巴蜀,有兼土之實,而遣使求親,欲息兵役,不可謂其求援於我。今敵形勢方彊,而欲徼幸求勝,未見其利也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  14. (車騎將軍劉纂曰:「天生五才,誰能去兵?譎詐相雄,有自來矣。若其有闕,庸可棄乎?宜遣閒諜,以觀其勢。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  15. (皓陰納纂言,且以蜀新平,故不行,然遂自絕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  16. (孫皓與晉平,使者丁忠自北還,說皓弋陽可襲,凱諫止,語在皓傳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  17. ([寶鼎元年]八月,所在言得大鼎,於是改年,大赦。以陸凱為左丞相,常侍萬彧為右丞相。) สามก๊กจี่' เล่มที่ 48.
  18. (寶鼎元年,遷左丞相。) สามก๊กจี่' เล่มที่ 61.
  19. (皓性不好人視己,羣臣侍見,皆莫敢迕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  20. (凱說皓曰:「夫君臣無不相識之道,若卒有不虞,不知所赴。」皓聽凱自視。) สามก๊กจี่' เล่มที่ 61.
  21. (時殿上列將何定佞巧便辟,貴幸任事, ...) สามก๊กจี่' เล่มที่ 61.
  22. (凱面責定曰:「卿見前後事主不忠,傾亂國政,寧有得以壽終者邪!何以專為佞邪,穢塵天聽?宜自改厲。不然,方見卿有不測之禍矣。」) สามก๊กจี่' เล่มที่ 61.
  23. (定大恨凱,思中傷之,凱終不以為意,乃心公家,義形於色,表疏皆指事不飾,忠懇內發。) สามก๊กจี่' เล่มที่ 61.
  24. (或曰寶鼎元年十二月,凱與大司馬丁奉、御史大夫丁固謀,因皓謁廟,欲廢皓立孫休子。時左將軍留平領兵先驅,故密語平,平拒而不許,誓以不泄,是以所圖不果。太史郎陳苗奏皓乆陰不雨,風氣迴逆,將有陰謀,皓深警懼云。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  25. (吳錄曰:舊拜廟,選兼大將軍領三千兵為衞,凱欲因此兵圖之,令選曹白用丁奉。皓偶不欲,曰:「更選。」凱令執據,雖蹔兼,然宜得其人。皓曰:「用留平。」凱令其子禕謀語平。平素與丁奉有隙,禕未及得宣凱旨,平語禕曰:「聞野豬入丁奉營,此凶徵也。」有喜色。禕乃不敢言,還,因具啟凱,故輟止。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  26. (建衡元年,疾病,皓遣中書令董朝問所欲言, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  27. (... 凱陳:「何定不可任用,宜授外任,不宜委以國事。奚熙小吏,建起浦里田,欲復嚴密故迹,亦不可聽。姚信、樓玄、賀卲、張悌、郭逴、薛瑩、滕脩及族弟喜、抗,或清白忠勤,或姿才卓茂,皆社稷之楨幹,國家之良輔,願陛下重留神思,訪以時務,各盡其忠,拾遺萬一。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  28. (遂卒,時年七十二。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.
  29. (子禕,初為黃門侍郎,出領部曲,拜偏將軍。凱亡後,入為太子中庶子。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 61.

บรรณานุกรม

[แก้]