ลู่เจียจุ่ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
A group of skyscrapers and towers, seen from across a river. At the left is one consisting of a sphere on concrete supports topped by a long spike; in the center are smaller buildings, one a bright gold color, gradually rising to the tallest one at right, still under construction
เส้นขอบฟ้าของลู่เจียจุ่ย เมื่อมองจากเดอะบันด์ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำหวงผู่ อาคารที่สูงที่สุดคือ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์
ตึกระฟ้าในลู่เจียจุ่ย
แผนที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี พ.ศ. 2476 แสดงลู่เจียจุ่ยในพื้นที่สีอ่อนทางขวา ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเดอะบันด์ (ไว่ทาน)
ภาพถ่ายจากเซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ แสดงพื้นที่นย่านลู่เจียจุ่ย และสวนกลาง

เขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย หรือ ลู่เจียจุ่ย (จีนตัวย่อ: 陆家嘴金融贸易区; จีนตัวเต็ม: 陸家嘴金融貿易區; พินอิน: Lùjiāzuǐ jīnróng màoyì qū; ชื่อย่อ 陆家嘴; อังกฤษ: Lujiazui Finance and Trade Zone หรือ Lujiazui) เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินหลักในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งอยู่บนแหลมที่งอกจากคุ้งน้ำของแม่น้ำหวงผู่ฝั่งตะวันออก ในเขตผู่ตง ตรงข้ามกับย่านธุรกิจและการเงินเก่าแก่บนฝั่งตะวันตก (เรียก เดอะบันด์ หรือ ไว่ทาน) ลู่เจียจุ่ยเดิมเรียกตามสำเนียงเซี่ยงไฮ้ว่า Lokatse (หลกกัดเซะ)

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 สภาแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศการพัฒนาเขตผู่ตง และจัดตั้งเขตพัฒนาทางการเงินระดับชาติแห่งแรกในลู่เจียจุ่ย ในปี พ.ศ. 2548 สภาแห่งรัฐได้ยืนยันขนาดพื้นที่ของลู่เจียจุ่ย 31.78 ตารางกิโลเมตร (12.27 ตารางไมล์) เฉพาะย่านลู่เจียจุ่ยซึ่งเป็นพื้นที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจเป็นที่ตั้งตึกระฟ้าจำนวนมากมีขนาด 1.7 ตารางกิโลเมตร[1] และเป็นเขตการเงินและการค้าเพียงแห่งเดียวในบรรดาเขตพัฒนาระดับรัฐ 185 แห่งในแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีน[2]

ย่านศูนย์กลางธุรกิจลู่เจียจุ่ย เป็นกลุ่มตึกระฟ้า มีอาคารที่สำคัญได้แก่ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลก, ศูนย์การเงินโลกเซี่ยงไฮ้, หอไข่มุกตะวันออก และ จินเม่าทาวเวอร์ ภูมิทัศน์ที่มีเอกลักษณ์ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำหวงผู่ที่ประกอบด้วยอาคารสูงระฟ้าของลู่เจียจุ่ย และอาคารประวัติศาสตร์บนฝั่งไว่ทาน (เดอะบันด์) ที่ฝั่งตรงข้ามทำให้ลู่เจียจุ่ยเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวในเซี่ยงไฮ้ สถานที่ท่องเที่ยวอื่นในพื้นที่ ได้แก่ สวนลู่เจียจุ่ย (陆家嘴中心绿地; Lujiazui Central Greenbelt) และ เซี่ยงไฮ้โอเชียนอะควาเรียม

ประวัติ[แก้]

การก่อตัวและที่มาของชื่อ[แก้]

ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของลู่เจียจุ่ย ถ่ายจากเครื่องบิน

ตามพงศาวดารท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้ แม่น้ำหวงผู่ถูกขุดให้เชื่อมกับแม่น้ำซูโจวเมื่อประมาณช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช ประกอบกับโครงการขุดลอกขยายแม่น้ำหวงผู่ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงทำให้แม่น้ำหวงผู่กว้างขึ้นและลดความสำคัญของแม่น้ำหวู่ซง (แม่น้ำซูโจว) การไหลหักโค้งในมุมหักศอกเมื่อผ่านเวลาทำให้คุ้งน้ำต้องปรับสภาพเป็นโค้งและสะสมตะกอนกลายเป็นหัวแหลมที่ยื่นออกเรื่อย ๆ (หาดทราย) เมื่อมองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำผู่เจียงไปยังฝั่งตรงข้าม หรือจากมุมสูง แหลมทรายนี้ดูคล้ายปากขนาดใหญ่ (嘴; จุ่ย แปลว่า ปาก ในที่นี้คือการบ่งบอกลักษณะภูมิประเทศคือ แหลม) ของสัตว์ร้ายที่ยื่นออกขณะกำลังดื่มน้ำ และแหลมแห่งนี้ยังเคยเป็นที่บ้านของ ลู่ เชิน กวีแห่งราชวงศ์หมิงซึ่งเกิดและเสียชีวิตที่นี่ และครอบครัว รวมถึงศาลบรรพชนตระกูลลู่ จึงมีชื่อเรียก "ลู่เจีย"จุ่ย ("陆家"嘴 บ้านตระกูลลู่)[3][4]

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงและต้นราชวงศ์ชิง บันทึกว่ามีชาวประมงอาศัยอยู่กระจัดกระจายทางตะวันตกเฉียงใต้และตอนกลางของลู่เจียจุ่ย [5] ในรัชสมัยเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง การก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและกั้นกระแสน้ำเค็มบนแหลมทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากขึ้น เป็นหมู่บ้านหลายแห่งภายในกำแพงเขื่อน โดยที่ราบลุ่มยังคงอยู่นอกเขื่อน หมู่บ้านเหล่านี้ได้แก่ เกาเซียงปัง, เซี่ยเจียปัง, หยางเจียเหมา, หยูเจียเหมิน, หวังเจียเหมิน, อู๋เจียหลง เป็นต้น

การเปิดเซี่ยงไฮ้ในฐานะท่าเรือตามสนธิสัญญาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของลู่เจียจุ่ย ในฐานะพื้นที่อุตสาหกรรมและการค้าที่ให้บริการเซี่ยงไฮ้ ตอนกลางของแหลมกลายเป็นเมืองที่เรียกว่า ล่านหนีตู้ (烂泥渡 แปลตามตัวอักษรว่า "ท่าข้ามเลนเน่า") ซึ่งตั้งชื่อตามท่าเทียบเรือแห่งหนึ่งบนฝั่งแม่น้ำ ชาวอังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ได้สร้างโรงงาน โกดัง ลานจัดเก็บ และท่าเทียบเรือเพื่อให้บริการ และพัฒนาเป็นถนนย่านการค้าอันพลุกพล่าน เพื่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้ายังชีพ และบริการแก่คนงานจำนวนมากที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

การพัฒนาร่วมสมัย[แก้]

ในปี พ.ศ. 2529 ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลจีน ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาผู่ตงเป็นครั้งแรก รวมถึงสภาแห่งรัฐได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์กลางการเงินและการค้าแห่งใหม่ขึ้นในลู่เจียจุ่ย[6] นโยบาย "การพัฒนาและเปิดกว้างผู่ตง" (浦东开发开放) ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ในปีเดียวกันตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้ก่อตั้งขึ้น ผู่ตงถูกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจากอดีตนิคมอุตสาหกรรมไปสู่ศูนย์กลางการเงินและการพาณิชย์ ลู่เจียจุ่ยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเซี่ยงไฮ้ เช่นเดียวกับตึกระฟ้าที่สร้างขึ้นจำนวนมาก เช่น หอไข่มุกตะวันออก, ศูนย์การเงินโลกเซี่ยงไฮ้, จินเม่าทาวเวอร์ และ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2015 เขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย ได้ถูกรวมอยู่ในขอบเขตของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้อย่างเป็นทางการ[7] (Shanghai Free Trade Zone - SFTZ)

การพัฒนาเศรษฐกิจ[แก้]

ศูนย์รวมสำนักงานใหญ่[แก้]

อาคารตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้

นับตั้งแต่การก่อตั้งเขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย สถาบันการเงินของจีนและต่างประเทศจำนวนมากได้เริ่มเข้ามาตั้งรกราก และหลายแห่งได้ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่ลู่เจียจุ่ย ทำให้กลายเป็นกลุ่มสำนักงานใหญ่ของหลายบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 มีสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาค 71 แห่ง ณ เดือนตุลาคม 2555 มีสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต 658 แห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินที่ได้รับทุนจากต่างประเทศ 55 แห่ง[8]

สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในลู่เจียจุ่ย ได้แก่ ธนาคารต่างประเทศในประเทศจีน เช่น ธนาคาร HSBC, ซิตี้แบงค์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ธนาคารแห่งเอเชีย, ธนาคารดีบีเอส, ธนาคารหั่งเส็ง และธนาคาร Tokyo-Mitsubishi UFJ นอกจากสถาบันการเงินแล้ว สำนักงานใหญ่ของตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกของไอบีเอ็ม[9] สถาบันการเงินและธนาคารในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศจีนสำนักงานใหญ่เซี่ยงไฮ้ สำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งการสื่อสาร (BOC), ธนาคารเซี่ยงไฮ้ และธนาคารเพื่อการพาณิชย์ชนบทเซี่ยงไฮ้ ในสาขาประกันภัยบริษัทไชน่าแปซิฟิคประกันภัย บริษัทซงหงประกันชีวิต ธนาคารแห่งประเทศจีนและธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน[10] นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศ[10] ในบรรดาบริษัทผู้ผลิต สำนักงานใหญ่ของ COMAC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ ในปี 2009[11]

ตลาดการค้าหลักทรัพย์ในประเทศตั้งอยู่ในลู่เจียจุ่ย ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้, ตลาดซิ้อขายล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Futures Exchange), ตลาดหลักทรัพย์ล่วงหน้าแห่งประเทศจีน (China Financial Futures Exchange –CFFEX) และตลาดค้าเพชรเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Diamond Exchange)

ห้างสรรพสินค้า[แก้]

ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์และศูนย์การเงินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ รวมถึง China Resources Times Square, เยาฮันเซี่ยงไฮ้สาขาที่ 1 (Shanghai No. 1 Yaohan), Xinmei Building, Zhongrong International Mall และห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย

สถาปัตยกรรมสัญญลักษณ์[แก้]

สถาปัตยกรรมที่เป็นสัญญลักษณ์ของลู่เจียจุ่ย ได้แก่


ชื่อภาษาไทย ชื่อภาษาจีน

(ชื่ออังกฤษ)

Image Address สูง (เมตร) จำนวนชั้น ปี พ.ศ. ที่เปิดบริการ (ค.ศ.)
เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ 上海中心大厦

(Shanghai Tower)

เลขที่ 51 ถนนลู่เจียจุ่ย 632 121 2558 (2015)
ศูนย์การเงินโลกเซี่ยงไฮ้ 上海环球金融中心 เลขที่ 100 ถนนเซนจูรี 492 101 2551 (2008)
หอไข่มุกตะวันออก 东方明珠塔

(Oriental Pearl Tower)

เลขที่ 2 ถนนลู่เจียจุ่ย 468 14 2537 (1994)
จินเม่าทาวเวอร์ 金茂大厦

(Jinmao Tower)

เลขที่ 88 ถนนเซนจูรี 421 93 2541 (1998)
วันลู่เจียจุ่ย (One Lujiazui) เลขที่ 68 ถนนหยินเฉิง 269 53 2551 (2008)
เซี่ยงไฮ้ไอเอฟซี 上海国际金融中心

(Shanghai IFC)

เลขที่ 8 ถนนเซนจูรี 260 58 2552 (2009)
อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารเซี่ยงไฮ้ 上海银行大厦

(Bank of Shanghai Headoffice)

เลขที่ 168 ถนนหยินเฉิง 252 46 2548 (2005)
อาคารสำนักงานใหญ่เซี่ยงไฮ้ธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC Tower) เลขที่ 200 ถนนหยินเฉิง 226 53 2543 (2000)

อ้างอิง[แก้]

  1. 陆家嘴概况 เก็บถาวร 2013-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "陆家嘴金融贸易区介绍". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-07. สืบค้นเมื่อ 2021-06-21.
  3. "Huangpu River Archives". Sublime China (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-21.
  4. "陆家嘴 一部摩天大楼的发展史". 简书 (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-12-08.
  5. 黄浦江(上海界内河流). Baidu Baike, สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2564.
  6. 界面新闻©. "陆家嘴四十年:从烂泥路到金融中心". www.huxiu.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-12-08.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "自贸区"2.0"时代将起程 津闽粤自贸区和上海扩展区或3月1日挂牌". 新华网. 2015-01-25. สืบค้นเมื่อ 2015-01-19.
  8. "陆家嘴缺什么". Fung Global Institute. 2013-01-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-01.
  9. 浦东新区4成跨国公司总部“花落”陆家嘴 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 浦东门户. 2011-11-15.
  10. 10.0 10.1 "建行"二总部"昨日在沪揭牌". 东方早报. 2013-10-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-26.
  11. "大飞机公司总部入驻陆家嘴中国商飞大厦". 地产中国网. 2009-08-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-31.