ลู่ตูง
ลู่ตูง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ปลายยุคไพลโอซีน - ปัจจุบัน (3 ล้านปีก่อน) 3–0Ma | |
---|---|
![]() | |
ค่างแว่นถิ่นใต้ (T. obscurus) ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Primates |
วงศ์: | Cercopithecidae |
วงศ์ย่อย: | Colobinae |
สกุล: | Trachypithecus Reichenbach, 1862 |
ชนิดต้นแบบ | |
Semnopithecus pyrrhus Horsfield, 1823 (= Cercopithecus auratus Geoffroy, 1812) | |
ชนิด | |
| |
ชื่อพ้อง | |
|
ลู่ตูง (อังกฤษ: Lutung) เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับวานร (Primates) สกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Trachypithecus จัดอยู่ในจำพวกค่าง ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae)
โดยชื่อสามัญคำว่า "Lutung" มาจากภาษามลายู เนื่องจากมีความแตกต่างจากค่างสกุลที่พบในอนุทวีปอินเดีย[1]
ลักษณะ[แก้]
มีรูปร่างที่เพรียวบาง หางมีความยาวกว่าลำตัวถึง 2 เท่า สีขนมีหลากหลายทั้งสีทอง, สีเทา หรือสีดำ แตกต่างกันไปตามชนิด โดยมากขนส่วนท้องจะเป็นสีจาง ขนบนหัวตั้งแหลมเหมือนสวมมงกุฏ แขนนับว่าสั้นมากเมื่อเทียบกับเท้า และนิ้วหัวแม่มือก็มีขนาดสั้น ที่หลังมือและหลังเท้ามีขน มีความยาวเฉลี่ย 40–80 เซนติเมตรและมีน้ำหนักประมาณ 5–15 กิโลกรัม ในตัวผู้โดยทั่วไปขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย
พฤติกรรมและการกระจายพันธุ์[แก้]
ค่างสกุลนี้ กระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทั้งที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และหมู่เกาะต่าง ๆ กลางทะเล อาศัยอยู่ในป่าดิบ หรือป่าบนภูเขาสูง หรือแม้แต่ป่าชายหาดหรือป่าชายเลนติดทะเล ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเวลาเช้าและเวลาบ่ายในการหากิน ด้วยการปีนป่ายและกระโดดไปมาระหว่างต้นไม้แต่ละต้น อาศัยอยู่รวมเป็นฝูงประมาณ 5–20 ตัว มีลักษณะแบบฮาเร็ม โดยตัวผู้ปกครองเพียงตัวเดียวเป็นจ่าฝูง มีตัวเมียรายล้อม มีนิสัยรักสงบและกลัวมนุษย์ แต่ถ้ามีตัวผู้อื่นจากฝูงอื่นบุกรุกเข้ามา จ่าฝูงจะต่อสู้เพื่อปกป้องและอาจถึงขั้นฆ่ากันตายได้ มีการระแวดระวังภัยสูง โดยเสียงร้องที่ดังเพื่อเตือนภัยในฝูง และจะร้องเตือนกัน เป็นสัตว์ที่กินพืชจำพวกใบไม้ หรือยอดไม้อ่อนเป็นอาหาร เนื่องจากกระเพาะสามารถที่จะย่อยอาหารจำพวกพืชได้เพียงอย่างเดียว อาจกินแมลงบ้าง เพื่อเสริมโปรตีน
ไม่ค่อยพบการเกิดแบบฝาแฝด ส่วนมากจะเกิดเพียงตัวเดียว ลูกค่างวัยอ่อนจะมีขนตามลำตัวสีเหลืองทองแลดูสวยงาม และจะค่อย ๆ เข้มขึ้นตามวัยที่เจริญเติบโตขึ้น หากแม่ค่างตายลง ค่างตัวเมียตัวอื่นในรุ่นเดียวกันกับแม่ หรืออาจเป็นเครือญาติกันจะทำหน้าที่เลี้ยงดูต่อ โดยจะเกาะที่หน้าท้องของตัวเมียหรือแม่แม้แต่กระทั่งขณะหาอาหาร หย่านมในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากเกิด เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4–5 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 20 ปี[1]
การจำแนก[แก้]
มีการอนุกรมวิธานค่างในสกุลนี้ออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ทั้งหมด 17 ชนิด (ในบางข้อมูลแบ่งเป็น 9 ชนิด [2]) สำหรับในประเทศไทยพบ 3 ชนิด
- กลุ่มค่างหน้าม่วง (T. vetulus)
- ค่างหน้าม่วง (Trachypithecus vetulus)
- ค่างนิลกิรี (Trachypithecus johnii)
- กลุ่มค่างเทา (T. cristatus)
- ค่างชวา (Trachypithecus auratus)
- ค่างเทา (Trachypithecus cristatus)
- ค่างอินโดจีน (Trachypithecus germaini)
- ค่างตะนาวศรี (Trachypithecus barbei)
- กลุ่มค่างแว่น (T. obscurus)
- ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus)
- ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Trachypithecus phayrei)
- กลุ่มค่างแหลม (T. pileatus)
- ค่างแหลม (Trachypithecus pileatus)
- ค่างสันแหลม (Trachypithecus shortridgei)
- ค่างทองจี (Trachypithecus geei)
- กลุ่มค่างหัวมงกุฎ (T. francoisi)
- ค่างหัวมงกุฎ (Trachypithecus francoisi)
- ค่างฮาติงห์ (Trachypithecus hatinhensis)
- ค่างกระหม่อมขาว (Trachypithecus poliocephalus)
- ค่างลาว (Trachypithecus laotum)
- ค่างสะโพกขาว (Trachypithecus delacouri)
- ค่างดำอินโดจีน (Trachypithecus ebenus)[3]
วิวัฒนาการ[แก้]
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของค่างสกุลนี้ วิวัฒนาการตัวเองจนมีความแตกต่างครั้งแรกจากสกุลอื่นอย่างน้อยเมื่อกว่า 3 ล้านปีที่ผ่านมาในช่วงปลายยุคไพลโอซีน ชนิดต่าง ๆ ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ แยกตัวออกมาในยุคไพลสโตซีน สันนิษฐานว่าเกิดเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยในช่วงยุคน้ำแข็ง [4]ฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นของสกุลนี้อยู่ในกลางยุคไพลสโตซีน ในเวียดนามและประเทศลาว ฟอสซิลที่ต่อมาเป็นที่รู้จักมาจากประเทศไทย, เกาะชวา และเกาะสุมาตรา ความสัมพันธ์ระหว่างค่างสกุลนี้กับค่างสกุลอื่น ๆ (เช่น Semnopithecus) ยังไม่มีข้อสรุป อาจจะเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสกุลเหล่านี้ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์วิวัฒนาการก็เป็นได้ [1]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 Harding, L.E. (2010). "Trachypithecus cristatus (Primates: Cercopithecidae)". Mammalian Species. 42 (1): 149–165. doi:10.1644/862.1.
- ↑ "Trachypithecus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ Groves, C. (2005). Wilson, D. E.; Reeder, D. M. eds. Mammal Species of the World (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press. pp. 175-178. OCLC 62265494. ISBN 0-801-88221-4. http://www.bucknell.edu/msw3.
- ↑ Roos, C. et al. (2008). "Mitochondrial phylogeny, taxonomy and biogeography of the silvered langur species group (Trachypithecus cristatus)". Molecular Phylogenetics and Evolution 47 (2): 629–636. doi:10.1016/j.ympev.2008.03.006. PMID 18406631.[ลิงก์เสีย]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Trachypithecus |
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Trachypithecus ที่วิกิสปีชีส์