ลูกเดือย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลูกเดือย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: หญ้า
วงศ์: หญ้า
วงศ์ย่อย: Panicoideae
สกุล: Coix
L.
สปีชีส์: Coix lacryma-jobi
ชื่อทวินาม
Coix lacryma-jobi
L.
ชื่อพ้อง[1]
  • Coix agrestis Lour.
  • Coix arundinacea Lam.
  • Coix chinensis Tod.
  • Coix chinensis Tod. ex Balansa nom. illeg.
  • Coix exaltata Jacq. ex Spreng.
  • Coix gigantea J.Jacq. nom. illeg.
  • Coix lacryma L. nom. illeg.
  • Coix ma-yuen Rom.Caill.
  • Coix ouwehandii Koord.
  • Coix ovata Stokes nom. illeg.
  • Coix palustris Koord.
  • Coix pendula Salisb. nom. illeg.
  • Coix pumila Roxb.
  • Coix stenocarpa (Oliv.) Balansa
  • Coix stigmatosa K.Koch & Bouché
  • Coix tubulosa Hack.
  • Lithagrostis lacryma-jobi (L.) Gaertn.
  • Sphaerium lacryma (L.) Kuntze nom. illeg.
  • Sphaerium tubulosum (Warb.) Kuntze

ลูกเดือย พืชในวงศ์ Poaceae เป็นธัญพืชประเภทคาร์โบไฮเดรตเดือยเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] ที่มีเส้นใยอาหารสูง เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว โดยมีลักษณะเป็นเม็ดสีขาว เม็ดจะออกกลม ๆ รี ๆ รสชาติออกมันเล็กน้อย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เดือย เป็นหญ้าที่แตกกอมาก ดอกแยกเพศไม่แยกต้น ใบขนาดใหญ่มีกาบใบ กาบใบสั้น ผิวเกลี้ยง หรือมีขนยาวปกคลุมในส่วนปลาย ลิ้นใบสั้น มีลักษณะเป็นเยื่อบาง ดอกช่อ ผลเทียมอยู่ด้านนอกเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีม่วง ผลแท้มีเปลือกหุ้มแข็งสีแดงเข้ม พันธุ์ที่เปลือกอ่อนจะเป็นสีน้ำตาล เดือยมี 4 สายพันธุ์ได้แก่

  • var. lacryma-jobi ผลรูปไข่ เปลือกแข็งไม่เป็นริ้ว เมล็ดเป็นเงามัน สีเหลืองอมขาว มีรอยบุ๋ม ด้านล่างเป็นสีน้ำตาล มักพบขึ้นตามธรรมชาติ เมล็ดใช้ทำอาหารหรือเครื่องประดับ ภาษาจีนกลางเรียกอี้อี่เหริน ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกอิกบี๋ยิ้ง
  • var. monilifur ผลรูปกลม มีด้านแบน 1 ด้าน เปลือกแข็งไม่เป็นริ้ว พบเฉพาะในพม่าและตะวันออกของอินเดีย ใช้ทำเครื่องประดับ
  • var. stenocarpa หรือมะเดือยขี้หนอน ผลคล้ายหลอดหรือขวด เมล็ดมีร่องเว้าเข้าไปตรงกลาง เปลือกแข็ง ไม่เป็นริ้ว เยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลแดง น้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน นิยมใช้เป็นไม้ประดับ ผลใช้ประดับเสื้อผ้าของชาวปะกาเกอะญอ ใช้ทำสร้อยหรือเครื่องประดับอื่น ๆ[3]
  • var. ma-yuen ผลรูปไข่ หรือทรงลูกแพร์ เปลือกนุ่มเป็นริ้ว เป็นพันธุ์ที่ใช้เป็นอาหาร และยังมีพันธุ์ย่อยอีกมากมาย เช่นในไทยมีพันธุ์เหนียวและไม่เหนียว ส่วนในบราซิลมีพันธุ์ต้นเตี้ยที่ให้ผลผลิตสูง เป็นต้น

การใช้ประโยชน์[แก้]

เดือยพบตามธรรมชาติในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชอาหารที่แพร่หลายในจีนก่อนที่จะปลูกข้าวและข้าวโพดกันอย่างแพร่หลาย เมล็ดเดือยนำมาหุงได้เช่นเดียวกับข้าว และใช้รับประทานแทนข้าวได้ ใช้ทำขนมหรือทำเค้กได้ แป้งจากเดือยเมื่อนำไปอบจะไม่ฟูเพราะไม่มีกลูเต็น เมล็ดเดือยดิบมีรสหวาน ในญี่ปุ่นนำเมล็ดเดือยไปคั่วแล้วชงเป็นชา ในฟิลิปปินส์และชาวเขาในอินเดียนำเมล็ดไปตำละเอียดแล้วหมักเป็นเบียร์ ลำต้นใช้เลี้ยงสัตว์ได้ หรือนำมามุงหลังคา เมล็ดที่มีเปลือกแข็งนำมาร้อยเป็นลูกประคำ หรือใช้ในงานฝีมือต่าง ๆ เมล็ดเดือยมีไขมันและโปรตีนสูงกว่าข้าวและข้าวสาลี มีสาร coixol มีฤทธิ์เป็นยาบรรเทาปวด อิกบี๋ยิ้งนี้ตำรายาจีนใช้เป็นยาต้านภูมิแพ้ รักษาสิวและฝีหนอง[4]

คุณค่าทางอาหาร[แก้]

ลูกเดือยมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะมีปริมาณโปรตีน 13.84% คาร์โบ-ไฮเดรต 70.65% ใยอาหาร 0.23% ไขมัน 5.03% แร่ธาตุต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยบำรุงกระดูก มีอยู่ในปริมาณสูง รวมทั้งวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 โดยเฉพาะวิมามินบี 1 มีในปริมาณ มาก (มีมากกว่าข้าวกล้อง) ซึ่งช่วยแก้โรค เหน็บชาด้วย ลูกเดือยยังมีกรดอะมิโนทุกชนิดที่สูงกว่าความต้องการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ยกเว้นเมทไธโอนีนและไลซีน เช่น มีกรดกลูตามิกในปริมาณมากตามด้วยลูซีน, อลานีน,โปรลีน วาลีน, ฟินิลอลานีน, ไอโซลูซีน และอาร์จีนีนลดหลั่นลงมา มีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัวด้วย เช่น กรดโอเลอิค และกรดลิโนเลอิก รวมแล้วถึง 84% และเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว คือ ปาล์มิติก และสเตียริก เพียง 16% เท่านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. The Plant List: A Working List of All Plant Species, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-28, สืบค้นเมื่อ 6 August 2017
  2. Taylor, G.D. (Autumn 1953). "Some crop distributions by tribes in upland Southeast Asia". Southwestern Journal of Anthropology. University of New Mexico. 9 (3): 296–308. doi:10.1086/soutjanth.9.3.3628701. JSTOR 3628701. S2CID 129989677.
  3. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า ดูฉบับเต็ม เก็บถาวร 2021-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]