ลิงก์เสีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลิงก์เสีย, ลิงก์ตาย, ลิงก์เน่า คือศัพท์แบบกันเองที่ใช้เรียกการเชื่อมโยงหลายมิติ (บนเว็บไซต์เอกเทศหรืออินเทอร์เน็ตโดยทั่วไป) ที่โยงไปยังเว็บเพจ เซิร์ฟเวอร์ หรือทรัพยากรอื่น ซึ่งไม่มีให้ใช้งานได้อย่างถาวร ศัพท์นี้ก็ใช้อธิบายผลจากความล้มเหลวในการอัปเดตเว็บเพจที่ล้าสมัย ที่พะรุงพะรังในผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจินด้วย

สาเหตุ[แก้]

ลิงก์ใดลิงก์หนึ่งอาจเสียได้ด้วยเหตุหลายประการ เหตุเรียบง่ายและสามัญที่สุดก็คือ เว็บไซต์ที่โยงไปหาไม่มีอยู่อีกต่อไป ผลลัพธ์สามัญที่สุดของการเรียกลิงก์เสียก็คือ ข้อผิดพลาด 404 ซึ่งแสดงว่าเว็บเซิร์ฟเวอร์ตอบสนอง แต่หน้าที่ระบุนั้นไม่สามารถค้นพบได้

เว็บไซต์ข่าวบางแห่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาลิงก์เสีย โดยการคงไว้แต่บทความข่าวล่าสุดที่สามารถเข้าถึงได้โดยเสรี แล้วลบหรือย้ายบทความข่าวเก่า ๆ ไปไว้ในพื้นที่สำหรับสมาชิกที่ต้องจ่ายค่าสมัครเข้าร่วม ทำให้ลิงก์สนับสนุนขาดหายไปอย่างมาก ต่อเว็บไซต์ที่อภิปรายถึงเหตุการณ์สำคัญเชิงข่าวและใช้ข่าวนั้นเป็นแหล่งอ้างอิง

ลิงก์เสียอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเซิร์ฟเวอร์ที่รับฝากหน้าปลายทางหยุดการทำงานหรือย้ายตำแหน่งไปยังชื่อโดเมนใหม่ กรณีนี้เบราว์เซอร์จะให้ผลเป็นข้อผิดพลาดของดีเอ็นเอส หรืออาจปรากฏเป็นเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียกค้น กรณีหลังสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อชื่อโดเมนถูกระงับและต่อมาผู้ให้บริการรายอื่นก็ช่วงชิงจดทะเบียนชื่อเดิมอีกครั้ง ชื่อโดเมนที่ได้มานี้จะดึงดูดผู้ที่คาดหวังความได้เปรียบจากกระแสผู้เยี่ยมชมที่เข้ามาโดยไม่ทันสงสัย เพื่อที่จะเพิ่มพูนตัวนับผู้เยี่ยมชมและเพจแรงก์

ลิงก์ก็อาจเสียได้ด้วยสาเหตุจากการปิดกั้นบางรูปแบบ เช่นตัวกรองเนื้อหาหรือไฟร์วอลล์ ลิงก์เสียที่พบเห็นได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ตก็สามารถเกิดขึ้นได้จากด้านผู้เขียน เมื่อเนื้อหาของเว็บไซต์ถูกรวบรวม คัดลอก หรือจัดใช้งานโดยปราศจากการตรวจทานเป้าหมายอย่างถูกต้อง หรือเพียงไม่ทำให้ทันสมัย ลิงก์เสียก็อาจเกิดขึ้นได้กับเว็บไซต์ที่ไม่ได้ใช้ยูอาร์แอลแบบสะอาด (clean URL) ซึ่งถูก "จัดระเบียบใหม่" [1]

ความแพร่หลาย[แก้]

ผู้ใช้เว็บคุ้นเคยต่อการตอบรับชนิด 404 "Not Found" แม้กระทั่งผู้ที่ใช้เว็บเป็นครั้งคราว มีการศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งที่สำรวจความแพร่หลายของลิงก์เสียบนเว็บ ในวรรณกรรมเชิงวิชาการ และในห้องสมุดดิจิทัล จากการทดลองเมื่อ พ.ศ. 2546 เฟตเทอร์ลีและคณะพบว่า ประมาณหนึ่งลิงก์ในทุก ๆ 200 ลิงก์ต่อสัปดาห์จะหายไปจากอินเทอร์เน็ต [2] แม็กคาวน์และคณะพบว่า ยูอาร์แอลถึงครึ่งที่อ้างถึงบทความในดี-ลิบ แมกาซีน (D-Lib Magazine) ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกหลังจากเผยแพร่ไปแล้ว 10 ปี [3] และการศึกษาวิจัยอื่น ๆ ได้แสดงว่า ลิงก์เสียในวรรณกรรมเชิงวิชาการมีจำนวนมากแย่ยิ่งกว่านั้น [4][5] เนลสันกับอัลเลนได้สำรวจลิงก์เสียในห้องสมุดดิจิทัลพบว่า ประมาณร้อยละสามของลิงก์ทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงได้หลังจากหนึ่งปีผ่านพ้นไป [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Tim Berners-Lee. "Cool URIs don't change". http://www.w3.org/Provider/Style/URI 1998.
  2. Fetterly, Dennis; Manasse, Mark; Najork, Marc; Wiener, Janet (2003). "A large-scale study of the evolution of web pages". Proceedings of the 12th international conference on World Wide Web. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-09. สืบค้นเมื่อ 2010-09-14.
  3. McCown, Frank; Chan, Sheffan; Nelson, Michael L.; Bollen, Johan (2005). "The Availability and Persistence of Web References in D-Lib Magazine" (PDF). Proceedings of the 5th International Web Archiving Workshop and Digital Preservation (IWAW'05). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-07-17. สืบค้นเมื่อ 2013-08-02.
  4. Spinellis, Diomidis (2003). "The Decay and Failures of Web References". Communications of the ACM. 46 (1): 71–77. doi:10.1145/602421.602422.
  5. Lawrence, Steve; Pennock, David M.; Flake, Gary William; Krovetz, Robert; Coetzee, Frans M.; Glover, Eric; Nielsen, Finn Arup; Kruger, Andries; Giles, C. Lee (2001). "Persistence of Web References in Scientific Research". Computer. 34 (2): 26–31. doi:10.1109/2.901164. CiteSeerx10.1.1.97.9695.
  6. Nelson, Michael L.; Allen, B. Danette (2002). "Object Persistence and Availability in Digital Libraries". D-Lib Magazine. 8 (1). doi:10.1045/january2002-nelson.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]