ลาสโล เตอเกช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลาสโล เตอเกช
เตอเกชเมื่อปี 2007
สมาชิกรัฐสภายุโรป
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤษภาคม 2007 – 1 กรกฎาคม 2019
เขตเลือกตั้งฮังการี (จากปี 2014)
โรมาเนีย (ถึงปี 2014)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1952-04-01) 1 เมษายน ค.ศ. 1952 (71 ปี)
กลุฌ-นาปอกา สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย
พรรคการเมือง โรมาเนีย: พรรคประชาชนฮังการีแห่งทรานซิลเวเนีย, พันธมิตรประชาธิปไตยชาวฮังการี
 ฮังการี: ฟีแด็ส
 สหภาพยุโรป: พรรคประชาชนยุโรป, พันธมิตรเสรียุโรป
คู่สมรสEdit Joó (หย่าร้าง)
บุตร
  • มาเต
  • มาร์โตน
  • อิโลนา

ลาสโล เตอเกช (ฮังการี: Tőkés László, ออกเสียง: [ˈtøːkeːʃ ˈlaːsloː]; เกิด 1 เมษายน 1952) เป็นนักการเมืองและนักบวชชาติพันธุ์ฮังการีจากประเทศโรมาเนีย ในฐานะนักการเมือง เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภายุโรประหว่างปี 2007–2019 และรองประธานรัฐสภายุโรประหว่างปี 2010–2012 ในฐานะบาทหลวง เขาดำรงตำแหน่งมุขนายกแห่งสังฆมณฑลปฏิรูปกิรายฮาโกแม็ลเลกในสังกัดคริสตจักรปฏิรูปในโรมาเนีย

เตอเกชเป็นอดีตประธานกิตติมศักดิ์ของพันธมิตรประชาธิปไตยชาวฮังการีในโรมาเนีย และในปัจจุบันเป็นประธานสภาแห่งชาติฮังการีแห่งทรานซิลเวเนียซึ่งเป็นองค์การภาคประชาชนสำหรับชาวฮังการีในทรานซิลเวเนีย รวมถึงยังเป็นสมาชิกของกลุ่มปรองดองประวัติศาสตร์ยุโรป[1] มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด (แต่ไม่ได้เป็นสมาชิก) กับพรรคประชาชนฮังการีแห่งทรานซิลเวเนีย และร่วมสนับสนุนมติรัฐสภายุโรป ลงวันที่ 2 เมษายน 2009 ว่าด้วยมโนธรรมยุโรปกับระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ[2]

ในสมัยโรมาเนียภายใต้ปกครองของผู้เผด็จการนีกอลาเอ ชาวูเชสกู เตอเกชเป็นหนึ่งในผู้วิจารณ์คนสำคัญของระบอบชาวูเชสกู ขณะยังเป็นบาทหลวงอยู่ในเดฌ เขามีส่วนร่วมในการจัดทำวารสารใต้ดินภาษาฮังการี แอ็ลแล็มโปนโตก ("มุมมองปะทะมุมมอง"; 1981–1982) เขาอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังของตำรวจลับและถูกสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่หมู่บ้านซึมเปตรูเดกึมปีเยในชนบท แต่เขาไม่ยอมรับคำสั่งนี้และย้ายมาอาศัยในบ้านของบิดามารดาในกลุฌ-นาปอกาแทนเป็นเวลาสองปี[3] ในปี 1989 ศาลออกคำสั่งเนรเทศเขาในวันที่ 20 ตุลาคม หลังการต่อรองและความพยายามยื่นอุทธรณ์ เขาถูกเลื่อนวันที่เนรเทศไปเป็น 15 ธันวาคม เมื่อเข้าใกล้วันนั้น บรรดาฆราวาสลูกวัดของเตอเกชได้ออกมารวมตัวกันหน้าที่พักของเขา และในวันที่ 15 ธันวาคม ได้มีกลุ่มคนจำนวนมากรวมตัวกันเป็นโซ่มนุษย์รอบที่พักของเขา ทำให้ตำรวจไม่สามารถเข้าไปได้ เขาได้ออกมาร้องขอให้ฝูงชนสลายตัว แต่ฝูงชนไม่ยอม ในขณะที่ภรรยาของเขาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้ล้มป่วยลง และถึงแม้แพทย์จะเข้ามาแนะนำให้พาเธอไปโรงพยาบาล เธอก็ปฏิเสธ[4] ภายหลัง นายกเทศมนตรีได้เดินทางเดินทางมาประกาศแก่ฝูงชนว่าคำสั่งเนรเทศของบาทหลวงได้ถูกยกเลิกไปแล้ว กระนั้นฝูงชนไม่ปักใจเชื่อและเรียกร้องให้แสดงเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นายกเทศมนตรีไม่สามารถนำมาแสดงได้ตามคำขอ[5] จากการรวมตัวหน้าที่พักได้ขยายใหญ่เป็นการประท้วง กระทั่งในวันที่ 17 ธันวาคม กองทัพได้เริ่มยิงกระสุนจริงใส่ฝูงชน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง[6] การประท้วงดำเนินไปในตีมีชออาราและกลายมาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญต่อการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการของนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ในที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  1. "About Us – Reconciliation of European Histories Group". Reconciliation of European Histories Group. 21 April 2010. สืบค้นเมื่อ 1 August 2011.
  2. "Joint motion for a resolution: European Parliament resolution on European conscience and totalitarianism". Europa.eu. 30 March 2009. สืบค้นเมื่อ 2011-05-10.
  3. Deletant, online, p.49‒50
  4. Deletant, online, p. 52
  5. Deletant, online, p. 52‒53
  6. "Martirii revolutiei timisorene". CyberTim Timișoara's Homepage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 March 2012.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]