ลัทธิแทตเชอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลัทธิแทตเชอร์ (อังกฤษ: Thatcherism) อธิบายนโยบายการเมืองที่ยึดค่านิยม (conviction politics) นโยบายเศรษฐกิจ สังคมและลีลาการเมืองของนักการเมืองพรรคอนุรักษนิยมบริติช มาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคดังกล่าวระหว่างปี 2518 ถึง 2533 นอกจากนี้ยังใช้อธิบายความเชื่อของรัฐบาลบริติชที่แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2522 ถึง 2533 และถัดมาในรัฐบาลจอห์น เมเจอร์, โทนี แบลร์และเดวิด แคเมอรอน ผู้อธิบายหรือผู้สนับสนุนลัทธิแทตเชอร์เรียกว่า แทตเชอร์ไรต์ (Thatcherite)

ลัทธิแทตเชอร์มีลักษณะของการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดเป็นระบบและการย้อนการเห็นพ้องหลังสงคราม (post-war consensus) ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่ส่วนมากตกลงกันเรื่องแก่นกลางของเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ รัฐสวัสดิการ อุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐ และการกำกับเศรษฐกิจแบบปิด โดยมีข้อยกเว้นสำคัญหนึ่ง คือ ราชการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เธอสัญญาชาวบริเตนในปี 2525 ว่าเอ็นเอชเอส "ปลอดภัยในมือเรา"

ทั้งคำที่แท้จริงซึ่งประกอบขึ้นเป็นลัทธิแทตเชอร์ตลอดจนมรดกเฉพาะของมันในประวัติศาสตร์บริเตนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ถกเถียง ในแง่ของอุดมการณ์ ไนเจล ลอว์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแทตเชอร์ตั้งแต่ปี 2526 ถึง 2532 อธิบายว่าลัทธิแทตเชอร์เป็นแนวนโยบายการเมืองซึ่งเน้นตลาดเสรีที่จำกัดรายจ่ายภาครัฐและการลดหย่อนภาษีร่วมกับชาตินิยมบริติชทั้งในประเทศและต่างประเทศ เดอะเดลีเทเลกราฟ แถลงในเดือนเมษายน 2551 ว่าโครงการของรัฐบาลบริติชที่มิใช่พรรคอนุรักษนิยม คือ รัฐบาลโทนี แบลร์ที่เน้น "แรงงานใหม่" นั้นโดยพื้นฐานยอมรับมาตรการปฏิรูปกลางของลัทธิแทตเชอร์ เช่น การลดการบังคับ (deregulation) การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชนซึ่งอุตสาหกรรมของชาติสำคัญ การคงตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น การกีดกันสหภาพแรงงาน และการรวบอำนาจจากองค์การท้องถิ่นสู่รัฐบาลกลาง