โจรกรรม
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
โจรกรรม(อ่านว่า โจ-ระ-กำ) หมายถึง การกระทำที่นำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจตนา เพื่อยึดทรัพย์สินนั้นมาเป็นของตน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินไม่ได้อนุญาตหรือยินยอม [1][2] โดยคำนี้สามารถใช้เรียกแทนอาชญากรรมบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินได้ อาทิเช่น การลักทรัพย์ (ขโมย) การลักทรัพย์ในเคหสถาน (ย่องเบา/ยกเค้า) การลักทรัพย์ในร้านค้า การยักยอก การชิงทรัพย์ (ปล้น) การฉกชิงทรัพย์ (ปล้นสะดม) และการฉ้อโกง [1][2] ในบางเขตอำนาจศาล "โจรกรรม" (theft) มีความหมายเหมือนกับ "การลักทรัพย์" (larceny) [2]
โจร หมายถึงผู้ที่กระทำโจรกรรมดังกล่าว ภาษาพูดอาจเรียกว่า ผู้ร้าย โบราณเรียก ฎางการ ก็มี [3][4]
ประเภทของโจร
[แก้]สมัยโบราณ
[แก้]กฎหมายเดิมมีพระอัยการลักษณะโจรอันเป็นกฎหมายหมวดหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงเป็นต้นซึ่งได้ยกเลิกไปแล้วนั้น จัดโจรออกเป็นสิบหกจำพวก ดังต่อไปนี้[4]
- โจรปล้น คือ บรรดาโจรที่สมรู้ร่วมคิดกันออกปล้นผู้อื่นไม่เว้นกลางวันกลางคืน วิธีการปล้นเป็นต้นว่าด้วยการยิงปืนโห่ร้องอื้ออึงไปให้เจ้าทรัพย์สะดุ้งกลัว แล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
- โจรย่องสะดม คือ โจรที่มีความรู้ทางวิชาอาคมสามารถใช้สะกดให้เจ้าทรัพย์หลับ แล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
- โจรภัย คือ โจรที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวก่อนแล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
- โจรตีชิง คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปตีชิงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไม่เว้นทั้งทางบกทางน้ำ
- โจรฉกฉวย คือ โจรที่มิได้ติดอาวุธไปคอยอยู่ตามถนนหนทางเปลี่ยนแล้วช่วงชิงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น
- โจรซุ่มซ่อน คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปคอยด้อม ๆ มอง ๆ ในสถานที่ใด ๆ มิให้เจ้าทรัพย์รู้เห็นแล้วจึงลักเอาทรัพย์ไป
- โจรล้วงลัก คือ โจรที่ลักล้วงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไป
- โจรลักเลียม คือ โจรที่ไปลักทรัพย์สินของผู้อื่น พอดีเจ้าทรัพย์มาพบเข้าจึงแสร้งบอกไปว่ามายืมทรัพย์สินนั้น
- สาธารณโจร คือ โจรไปปล้นกับพวกโจรด้วยกัน แต่แค่ร่วมขบวนไปด้วยเท่านั้น มิได้ลงมือประการใด
- นิลัมภรโจร คือ โจรที่กระทำการไม่แนบเนียน กฎหมายพรรณนาว่า "มีพิรุธติดพันดุจมลทินนิลเมฆพันคล้ำดำติดอยู่"
- วิสาสคาหโจร คือ โจรลักทรัพย์สิ่งของของญาติพี่น้อง บิดา มารดา สามี ภริยา เขย สะใภ้ ฯลฯ ด้วยกันเอง
- สรรพโจร คือ โจรที่ลักมิได้เลือก
- ปัณฐทูสกโจร คือ โจรตีชิงเอาทรัพย์สิ่งของไม่ว่าทางน้ำทางบก
- ทามริกโจร คือ โจรที่เป็นเพื่อนกันพากันกระทำโจรกรรมเป็นอาชีพเลี้ยงตัว
- สารโจร คือ โจรที่ลักทรัพย์อันเป็นแก่นสาร เช่น ลักพระพุทธรูปแล้วลอกเอาทองพระนั้นไปขาย
- ดัสกรโจร คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปปล้นราษฎรแล้วทำลายครัวเรือนตลอดจนทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงด้วยเป็นต้น
สมัยปัจจุบัน
[แก้]ประมวลกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบันจัดโจรออกเป็นห้าจำพวก ดังต่อไปนี้[5]
- โจรลักทรัพย์ คือ ผู้บังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยการทุจริตและโดยเจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้ การลักทรัพย์นั้นมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้[6]
- เป็นการบังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป
- ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์อันเคลื่อนที่ได้
- การนั้นกระทำไปโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าทรัพย์
- การนั้นกระทำไปโดยเจตนาทุจริต
- โจรวิ่งราวทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาฉกฉวยทรัพย์พาหนีไปซึ่งหน้า[7]
- โจรชิงทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายเพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้[8]
- เพื่อประโยชน์ที่จะตระเตรียมการหรือให้เป็นความสะดวกในการที่จะลักทรัพย์
- เพื่อที่จะเอาทรัพย์หรือให้ผู้ใดส่งทรัพย์ให้
- เพื่อที่จะเอาผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ลักทรัพย์
- เพื่อจะปกปิดการกระทำผิด
- เพื่อจะหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาสำหรับความผิดนั้น
- การชิงทรัพย์มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- เป็นความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว
- โดยใช้กำลังกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะกระทำร้าย
- เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังข้างต้นนั้น
- โจรปล้นทรัพย์คือ โจรตั้งแต่สามคนขึ้นไปมีศาสตราวุธจะกี่คนก็ตามในจำนวนนั้น ได้ไปลงมือกระทำการชืงทรัพย์[9]
- โจรสลัด คือ โจรที่ประพฤติปล้นสะดมข่มเหงคนเดินทางนอกเขตความปกครองของประเทศใด ๆ โดยมากเป็นกลางทะเลหลวง ปัจจุบันมีกลางอากาศด้วย และโจรประเภทนี้มักมิได้อยู่ในอำนาจหรือรับคำสั่งของรัฐบาลอันมั่นคงแห่งเมืองใดเมืองหนึ่ง[10]
โจรในประวัติศาสตร์
[แก้]โจรที่มีชื่อเสียงสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยได้แก่
- โจรอีสาน - กบฏผีบุญ ตัวอย่างเช่น กบฏข่า เมืองเชียงขวาง พ.ศ. 2417 ซึ่งข่าแจะเจืองอ้างตัวเป็นท้าวธรรมิกราชและกองทัพสยามปราบได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2442 สยามประกาศให้คนไทยและคนลาวในมณฑลอีสานถือสัญชาติไทย ทำให้คนลาวจำนวนหนึ่งต่อต้านโดยอ้างตัวว่าเป็นท้าวธรรมิกราชผู้มีบุญมาปราบสยาม ซ่องสุมผู้คนต่อต้านกรุงเทพฯ ผีบุญที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มีองค์ผ้าขาว องค์มั่น นายเข็มองค์เหล็ก องค์ลิ้นก่า องค์พรหมา องค์เขียว และกำนันสุ้ยบ้านสร้างมั่ง พระครูอินทร์วัดบ้านหนองอีตุ้ม และหลวงประชุมเมืองอำนาจเจริญ สุดท้ายผีบุญเหล่านี้ถูกร้อยเอกหลวงชิดสรการปราบปรามสำเร็จ[11]
- โจรใต้ ในท้องถิ่นภาคใต้ถือว่าการปล้นสะดมเป็นอาชีพหนึ่ง ทำให้ทางปักษ์ใต้มีปัญหาโจรปล้นสะดมทั้งโจรทางบกและโจรสลัด เช่น ตนกูหมัดสะอาดและตนกูอับดุลลาห์ หัวหน้าโจรสลัดของแหลมมลายูเข้าปล้นสะดมเมืองตรังในช่วง พ.ศ. 2354 - 2381 [11]
- โจรเมืองสุพรรณ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สุพรรณบุรีมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมากเพราะเมืองสุพรรณยังมีลักษณะเป็นหัวเมืองป่าดงที่รกร้างไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา การคมนาคมลำบาก เมื่อราว พ.ศ. 2460 มีการเปิดบริษัทเดินเรือไปสุพรรณบุรี บ้านเมืองเจริญขึ้น โจรผู้ร้ายลดน้อยลงบ้าง จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดชุมโจรขึ้นในสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น ชุมเสือฝ้าย เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร เสือแบน เสือหนาม เสือแฉ่ง หลังจากสงครามโลกสงบลงไม่กี่ปี ทางกองปราบฯได้ส่งตำรวจเข้าปราบปรามอย่างจริงจัง ชุมโจรในสุพรรณบุรีจึงหมดไปในที่สุด[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Theft". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 12, 2011.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Theft". legal-dictionary.thefreedictionary.com. สืบค้นเมื่อ October 12, 2011.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 20 กันยายน 2551).
- ↑ 4.0 4.1 ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 122.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 95.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 301.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 309.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 105-107.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 206.
- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 117.
- ↑ 11.0 11.1 กองบรรณาธิการ. บุกถ้ำเสือเปิดตำนานโจรไทย. ศิลปวัฒนธรรม. พฤษภาคม 2540. ปีที่ 18 (7) หน้า 83-89
- ↑ มนัส โอภากุล. สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ. ศิลปวัฒนธรรม.พฤษภาคม 2540. ปีที่ 18 (7) หน้า 90-99