ละครแห่งชีวิต (รายการโทรทัศน์)
ละครแห่งชีวิต | |
---|---|
ประเภท | วาไรตี้โชว์ |
พัฒนาโดย | บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) |
เสนอโดย | ดิลก ทองวัฒนา อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ |
ผู้ประพันธ์ ดนตรีท้องเรื่อง | ฉัตรชัย ดุริยประณีต ธานินทร์ เคนโพธิ์ |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ไทย |
การแพร่ภาพ | |
เครือข่าย/ช่อง | ช่อง 5 |
การออกอากาศแรก | 10 มกราคม พ.ศ. 2536 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 |
ลำดับเวลา | |
เกี่ยวข้อง | คู่ทรหด, บ้านแห่งความรัก |
หัวข้อของบทความนี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไป (กรกฎาคม 2563) |
ละครแห่งชีวิต เป็นรายการประเภทวาไรตี้โชว์รายการที่สองของ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ต่อเนื่องจากรายการ คู่ทรหด ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2536 และออกอากาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยในปีแรกออกอากาศเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 22.00 - 23.00 น. ปีที่สองย้ายวันเป็นทุกวันศุกร์ รายการนี้มีอายุทั้งสิ้น 2 ปี 1 เดือน แต่ก่อนหน้านั้น รายการละครแห่งชีวิต เคยเสนอในรูปแบบสารคดีกึ่งละคร ออกอากาศในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 และยังได้ออกอากาศอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2541 ทุกวันเสาร์ เวลา 15.00 - 16.00 น. ทางช่องเดิม ก่อนที่จะมีรายการใหม่เข้ามาแทนที่
รูปแบบรายการ[แก้]
รูปแบบของรายการละครแห่งชีวิตในปี 2536-2538 เป็นการนำเสนออัตชีวประวัติของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือน่าสนใจ ในรูปแบบของทอล์กโชว์ สลับกับละครจำลองชีวิตจริง โดยเจ้าของเรื่องที่เชิญมามีทั้งบุคคลในวงการบันเทิง บุคคลจากวงการอื่น และบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลต่อประชาชนทั่วไป จะมาเป็นคู่ มาเดี่ยว หรือเป็นครอบครัวก็ได้
ในช่วงเริ่มรายการจะเชิญเจ้าของเรื่องตัวจริงมาพูดคุยกันเล็กๆ น้อยๆ ในห้องส่ง จากนั้นจะให้ชมภาพจำลองรายละเอียดการดำเนินชีวิตจากละครโดยใช้ผู้แสดงแทนตัวจริงเป็นเวลาประมาณ 20 นาที แบ่งเป็น 2 ช่วง มีการพูดคุยคั่นระหว่างช่วง เมื่อจบช่วงละครก็จะกลับเข้าห้องส่งเพื่อสรุปเรื่องราว และเจ้าของเรื่องจะได้รับของรางวัลตอนท้ายรายการเป็นรูปภาพขนาดใหญ่อัดด้วยฟิล์มสีโกดักใส่กรอบ
ในส่วนของผู้ชม นอกจากจะได้รับความบันเทิงจากละครแล้ว ยังได้ทราบข้อคิดหรือแนวทางในการดำรงชีวิตของบุคคลตัวอย่างซึ่งนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ และทราบว่าชีวิตของบุคคลนั้นเริ่มต้น เป็นมา ผ่านอุปสรรคเพียงไร รายการนี้จึงให้ทั้งความสุข ความรู้สึกซาบซึ้ง สลดหดหู่บ้าง ผู้ชมก็จะมีความประทับใจจากการชมรายการนี้ได้
แขกรับเชิญเทปแรกของรายการ ได้แก่ สุนารี ราชสีมา ส่วนเทปที่สองและสามได้นิมนต์ พระพยอม กัลยาโณ มาถ่ายทอดอัตชีวประวัติ สลับกับละครซึ่งแสดงแทนโดย นึกคิด บุญทอง
พิธีกรประจำรายการ[แก้]
ผู้ร่วมงาน[แก้]
- อำนวยการผลิต : ปัญญา นิรันดร์กุล
- ควบคุมการผลิต : เกียรติ กิจเจริญ
- ดูแลการผลิต : นุกูล บุญเอี่ยม, มาลี ปานพชร, หรรษา ลิมเกรียงไกร
- กำกับการแสดงช่วงละคร : ฉลวย ศรีรัตนา, ยิ่งยศ ปัญญา, สุพล วิเชียรฉาย
รางวัลที่ได้รับ[แก้]
- รางวัลเมขลา ประเภทรายการบันเทิงส่งเสริมสังคมไทยดีเด่น ปี 2536
- รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรายการส่งเสริมครอบครัวดีเด่น ปี 2536
- รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทผู้ดำเนินรายการดีเด่นหญิง (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ปี 2536
- รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรายการส่งเสริมครอบครัวดีเด่น ปี 2537
เพลงประจำรายการ[แก้]
เพลงประจำรายการละครแห่งชีวิตมีเพียงเพลงเดียว เนื้อร้องแสดงถึงชีวิตของผู้คนไว้อย่างสังเขป โดยใช้ตอนเปิดรายการ ช่วงของละคร และท้ายรายการ รวมทั้งเสียงดนตรีจากเพลงเดียวกันเมื่อเปิด-ปิดเบรก ผู้แต่งคำร้องเพลงนี้คือ ฉัตรชัย ดุริยประณีต ให้ทำนองและขับร้องโดย ธานินทร์ เคนโพธิ์
"คือรอยยิ้ม คือความสุขสันต์ คือหยาดน้ำตา ความพ่ายแพ้
คือปัญหาที่ไม่สายเกินแก้ แค่เพียงมีความตั้งใจ
- นี่คือละคร แห่งชีวิตคน ที่ฉันต้องอดทน ต่อสู้ทุกเวลา
ทุ่มเททั้งใจ เพื่อจะได้มา ซึ่งความฝันเป็นรางวัลแห่งใจ (ซ้ำท่อน)
...ให้ความฝันเป็นรางวัลแห่งชีวิต"
นอกจากนี้ เพลงจากรายการคู่ทรหด (ลมหายใจของกันและกัน) ก็ยังมาใช้ประกอบรายการละครแห่งชีวิต คราวที่แขกรับเชิญของรายการเป็นคู่สามีภรรยาอีกด้วย
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- http://www.chaliang.com/Board-Detail.asp?ID=10544 "ละครแห่งชีวิต" ...อีกรายการหนึ่งในความทรงจำ
- http://www.workpoint.co.th/th/televishows/ ชมรายการในอดีตของเวิร์คพอยท์