ข้ามไปเนื้อหา

รัฐผู้คัดเลือกเฮ็สเซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐผู้คัดเลือกเฮ็สเซิน

Kurfürstentum Hessen (เยอรมัน)
ค.ศ. 1803–1807
ค.ศ. 1814–1866
ธงชาติHesse-Kassel
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของHesse-Kassel
ตราแผ่นดิน
เฮ็สเซิน-คัสเซิล (สีแดง) ใน ค.ศ. 1866 ก่อนเกิดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย
เฮ็สเซิน-คัสเซิล (สีแดง) ใน ค.ศ. 1866 ก่อนเกิดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย
สถานะรัฐในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
รัฐในสมาพันธรัฐเยอรมัน
เมืองหลวงคัสเซิล
ภาษาทั่วไปเยอรมัน
ศาสนา
โปเตสแตนท์ (ลัทธิคาลวิน), โรมันคาทอลิก (ส่วนน้อย)
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เจ้าผู้คัดเลือกแห่งเฮ็สเซิน 
• ค.ศ. 1803–1821
วิลเฮ็ล์มที่ 1
• ค.ศ. 1821–1847
วิลเฮ็ล์มที่ 2
• ค.ศ. 1847–1866
ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1803
• ยกฐานะเป็นผู้คัดเลือก
ค.ศ. 1803
ค.ศ. 1807
• ก่อตั้งใหม่
ค.ศ.1 814
ค.ศ. 1866
ก่อนหน้า
ถัดไป
ลันท์กราฟเฮ็สเซิน-คัสเซิล
ราชอาณาจักรเว็สท์ฟาเลิน
ราชอาณาจักรเว็สท์ฟาเลิน
มณฑลเฮ็สเซิน-นัสเซา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ เยอรมนี

รัฐผู้คัดเลือกเฮ็สเซิน (เยอรมัน: Kurfürstentum Hessen) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เฮ็สเซิน-คัสเซิล (Hesse-Kassel) หรือ คัวร์เฮสเซิน (Kurhessen) เป็นชื่อที่ใช้เรียกอดีตลันท์กราฟเฮ็สเซิน-คัสเซิลหลังจากการปฏิรูป ค.ศ. 1803 ที่จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ยกฐานะของผู้ปกครองแคว้นนี้ขึ้นเป็นผู้คัดเลือก (Elector) ทำให้เจ้าผู้ครองรัฐนี้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกจักรพรรดิในอนาคต เมื่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกยุบใน ค.ศ. 1806 วิลเฮ็ล์มที่ 1 ผู้คัดเลือกแห่งเฮ็สเซินยังคงใช้ตำแหน่ง "ผู้คัดเลือก" ต่อไป แม้ว่าจะไม่มีจักรพรรดิให้เลือกตั้งแล้วก็ตาม ใน ค.ศ. 1807 ภายใต้สนธิสัญญาทิลซิท ดินแดนนี้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเว็สท์ฟาเลิน แต่ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. 1814 ได้มีการฟื้นฟูรัฐผู้คัดเลือกแห่งเฮ็สขึ้นเซินอีกครั้ง

รัฐนี้เป็นรัฐผู้คัดเลือกเพียงแห่งเดียวภายในสมาพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งประกอบด้วยดินแดนกระจัดกระจายทางตอนเหนือของเสรีนครแฟรงก์เฟิร์ต โดยดำรงอยู่จนกระทั่งถูกราชอาณาจักรปรัสเซียผนวกใน ค.ศ. 1866 ภายหลังสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย

พระอิสริยยศเต็มของผู้คัดเลือกแห่งเฮ็สเซิน คือ "ผู้คัดเลือกแห่งเฮ็สเซิน เจ้าชายแห่งฟุลดา เจ้าชายแห่งแฮร์สเฟลด์ ฮาเนา ฟริตซ์ลาร์ และไอเซินบวร์ค เคานต์แห่งคัทเซเนลน์โบเงิน ดีทซ์ ซีเงินไฮน์ นิดดาและเชาม์บวร์ค"[1]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ลันท์กราฟเฮ็สเซิน-คัสเซิลเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1567 จากการแบ่งลันท์กราฟเฮ็สเซินระหว่างบุตรชายของฟิลลิพที่ 1 ลันท์กราฟแห่งเฮ็สเซิน (“ผู้มีใจกว้าง”) หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ วิลเฮ็ล์มที่ 4 ลันท์กราฟแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิลพระโอรสองค์ใหญ่ได้รับเฮ็สเซิน-คัสเซิล ซึ่งกินพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของแคว้นเดิมรวมทั้งเมืองหลวงคัสเซิล ส่วนพี่น้องของพระองค์ได้รับเฮ็สเซิน-มาร์บวร์คและเฮ็สเซิน-ไรน์เฟิลส์ แต่สายเหล่านั้นสิ้นสุดไปในรุ่นต่อมา ทำให้ดินแดนกลับคืนสู่เฮ็สเซิน-คัสเซิลและลันท์กราฟเฮ็สเซิน-ดาร์มชตัดท์

การปฏิวัติ ค.ศ. 1848

[แก้]

ในปีแห่งการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 ความไม่พอใจของประชาชนปรากฏออกมาอย่างกว้างขวาง ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มซึ่งขึ้นเป็นผู้คัดเลือกหลังพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ษ. 1847 จำเป็นต้องปลดรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระองค์และยอมรับโครงการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามการปฏิรูปนี้อยู่ได้ไม่นาน หลังจากรัฐสภาแฟรงก์เฟิร์ตล้มเหลว ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มทรงเข้าร่วมกับสหภาพเหนือของปรัสเซียและส่งผู้แทนจากเฮ็สเซิน-คัสเซิลไปยังรัฐสภาแอร์ฟวร์ทแต่เมื่อจักรวรรดิออสเตรียกลับมาแข็งแกร่งขึ้น นโยบายของพระองค์ก็เปลี่ยนไป[2]

วิกฤตการณ์เฮ็สเซิน

[แก้]

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1850 ลูทวิช ฮัสเซินพลูคกลับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้งและเริ่มต่อต้านรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง เขายังต่อต้านราชอาณาจักรปรัสเซียอย่างเปิดเผย วันที่ 2 กันยายน สภานิติบัญญัติถูกยุบและการเก็บภาษีดำเนินต่อไปโดยพระราชกฤษฎีกา ประเทศถูกประกาศภาวะกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม กองทัพของรัฐไม่ยอมรับคำสั่งใหม่นี้ และยังภักดีต่อคำสาบานต่อรัฐธรรมนูญ ฮัสเซินพลูคเกลี้ยกล่อมให้ผู้คัดเลือกหนีออกจากคัสเซิลและเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสภาแห่งสมาพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งตอบรับโดยการส่งกองกำลังออสเตรียและบาวาเรียเข้ามาในรัฐเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน[2]

นี่เป็นการท้าทายโดยตรงต่อปรัสเซีย ซึ่งมีข้อตกลงกับผู้คัดเลือกให้ใช้เส้นทางทหารผ่านเฮ็สเซินเป็นเส้นทางสื่อสารไปยังดินแดนในแถบแม่น้ำไรน์ของตน ความขัดแย้งถึงขั้นมีการยิงกันระหว่างหน่วยลาดตระเวน แต่ปรัสเซียไม่พร้อมทำสงคราม การเจรจาทางการทูตตามมาทำให้ออสเตรียได้รับชัยชนะที่อ็อลมึทซ์ใน ค.ศ. 1851 เฮ็สเซินถูกมอบให้กับสภาของสมาพันธรัฐเยอรมัน ภาษีถูกรวบรวมโดยกองกำลังของสมาพันธรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมรับอำนาจใหม่ถูกปลดออก[2]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1852 สมาพันธรัฐได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1831 รวมทั้งการปฏิรูปใน ค.ศ. 1848 และในเดือนเมษายนได้ประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ ซึ่งให้สิทธิแก่รัฐสภาใหม่น้อยมากขณะที่ผู้คัดเลือกมีอำนาจเต็มในการดำเนินนโยบาย เช่น การสะสมทรัพย์สินส่วนพระองค์ การห้ามสร้างทางรถไฟและโรงงาน และการบังคับใช้ข้อกำหนดแบบดั้งเดิมในโบสถ์และโรงเรียน อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 1855 ฮัสเซินพลูคถูกปลดออกอีกครั้งและอีกห้าปีต่อมา หลังจากความไม่พอใจของประชาชนเพิ่มขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้รับอนุมัติจากสมาพันธรัฐเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1860[2]

รัฐสภาใหม่เรียกร้องให้ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1831 และแม้จะมีการยุบสภาหลายครั้ง ผลการเลือกตั้งก็ยังเหมือนเดิมทำให้สมาพันธรัฐตัดสินใจคืนรัฐธรรมนูญฉบับเดิมในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 โดยมีแรงกดดันจากการข่มขู่ของปรัสเซียอีกครั้ง ผู้คัดเลือกยอมเปิดประชุมสภาอีกครั้งแต่ก็ไม่ยอมดำเนินการใด ๆ และแสดงความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด[2]

การผนวกโดยปรัสเซีย

[แก้]

ใน ค.ศ. 1866 เมื่อเกิดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ผู้คัดเลือกฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ซึ่งไม่พอใจปรัสเซียอย่างมากได้เข้าร่วมฝ่ายออสเตรีย ทำให้ปรัสเซียส่งกองทัพเข้ายึดรัฐทันทีเมืองคัสเซิลถูกยึดครองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนและผู้คัดเลือกถูกจับเป็นเชลยแ

ละส่งตัวไปยังเมืองชเตททิน ตามสนธิสัญญาสนธิภาพปราก เฮ็สเซิน-คัสเซิลถูกผนวกเข้ากับปรัสเซีย ผู้คัดเลือกฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม (สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1875) ได้รับการรับรองสิทธิในทรัพย์สินส่วนพระองค์ของราชวงศ์ในสนธิสัญญายกดินแดน แต่ใน ค.ศ. 1868 ทรัพย์สินของพระองค์ถูกยึดเนื่องจากความพยายามต่อต้านปรัสเซีย อย่างไรก็ตามรายได้บางส่วนถูกมอบให้กับลันท์กราฟฟรีดริช (สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1884) ซึ่งเป็นหัวหน้าตระกูลและทรัพย์สินบางส่วนรวมถึงวังและปราสาทต่าง ๆ ถูกมอบให้กับสายตระกูลเฮ็สเซิน-ฟิลิปส์ทาลและเฮ็สเซิน-ฟิลิปส์ทาล-บาร์คเฟิลด์ที่ถูกปลดจากอำนาจเช่นกัน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Univerersity of Würzburg, Verfassungsurkunde für das Kurfürstentum Hessen 5. Januar 1831". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 June 2022. สืบค้นเมื่อ 20 March 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Chisholm, Hugh, ed. (1911). "Hesse" . Encyclopædia Britannica. Vol. 13 (11th ed.). Cambridge University Press. pp. 410–411.