รักแท้เลือกไม่ได้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รักแท้เลือกไม่ได้
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับลาซเซ ฮัลสตรอม
เขียนบทปีเตอร์ เฮดจ์ส
อำนวยการสร้างเดวิด มาทาลอน
เบอร์ทิล โอห์ลส์สัน
เมียร์ เทเปอร์
นักแสดงนำจอห์นนี เดปป์
จูเลียตต์ เลวิส
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
ดาร์เลน เคตส์
แมรี สตีนเบอร์เกน
ลอรา ฮาร์ริงตัน
แมรี เคต สเคลล์ฮาร์ดต์
เควิน ไท
จอห์น ซี. รีลลี
คริสพิน โกลฟเวอร์
กำกับภาพSven Nykvist
ตัดต่อแอนดริว มอนด์ชีน
ดนตรีประกอบอลัน ปาร์กเกอร์
Björn Isfält
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมานต์พิคเจอร์ส
วันฉายสหรัฐ 17 ธันวาคม 2536
ความยาว118 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb

กิลเบิร์ต หัวใจไม่มีวันจบ ชื่อไทยฉบับฉายโรง โดย นนทนันท์ (อังกฤษ : What's Eating Gilbert Grape?) คือภาพยนตร์อเมริกันปี พ.ศ. 2536 แนวครอบครัว กำกับโดย ลาซเซ ฮัลสตรอม ประพันธ์บทภาพยนตร์โดย ปีเตอร์ เฮดจ์ส และนำแสดงโดย จอห์นนี เดปป์ จูเลียตต์ เลวิส และลีโอนาโด ดิคาปริโอ เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของปีเตอร์ เฮดจ์ส (ผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2534 สถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือเมืองแมนเนอร์ รัฐเท็กซัส

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เรื่องเล่าถึงชีวิตของกิลเบิร์ต เกรป (จอห์นนี เดปป์) ชายหนุ่มชาวชนบทในเอนโดรา เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในรัฐไอโอวา เขาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ประกอบไปด้วยบอนนี เกรป (ดาร์เลน เคตส์) มารดาผู้เป็นโรคอ้วนและมีรูปร่างใหญ่โตเกินขนาด อาร์นี เกรป (ลีโอนาโด ดิคาปริโอ) น้องชายที่พิการทางสมอง เอมี เกรป (ลอรา ฮาร์ริงตัน) พี่สาวคนโต และเอลเลน เกรป (แมรี เคต สเคลล์ฮาร์ดต์) น้องสาวคนเล็ก หน้าที่ประจำของกิลเบิร์ตคือการปกป้องดูแลอาร์นี และทำงานในร้านขายของชำของสองสามีภรรยาตระกูลแลมสันที่กำลังประสบปัญหาจากการเข้ามาแย่งตลาดของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งใหม่ที่ชื่อ "ฟูดแลนด์"

ส่วนชีวิตส่วนตัวของเขา กิลเบิร์ตมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวอย่างลับ ๆ กับเบตตี คาร์เวอร์ (แมรี สตีนเบอร์เกน) หญิงที่อาศัยในเอนโดราเหมือนกัน เธอคนนี้เป็นแม่บ้านลูกสองและภรรยาของเคน คาร์เวอร์ (มาร์ก จอร์แดน)

ต่อมา กิลเบิร์ตได้พบกับเบคกี (จูเลียตต์ เลวิส) หญิงสาวที่เดินทางมาพร้อมกับยายของเธอโดยใช้รถบ้านเป็นพาหนะ แต่เดินทางต่อไม่ได้เพราะรถบ้านคันนั้นเสีย ทั้งเบคกีและกิลเบิร์ตเริ่มสานความสัมพันธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้ไปถึงเบตตี เธอพยายามยื้อความสัมพันธ์ลับ ๆ กับกิลเบิร์ตเอาไว้ แต่สุดท้ายหลังจากที่พบกว่ากิลเบิร์ตไม่ยอมรับตัวเธออีกแล้วและสามีของเธอก็ถึงแก่กรรมจากอุบัติเหตุ เธอก็ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองเพื่อค้นหาชีวิตใหม่

หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านไป กิลเบิร์ตกับเบคกีต่างมีความรักให้แก่กัน ขณะที่อาร์นีก็เริ่มสร้างปัญหาให้กับกิลเบิร์ตมากขึ้น ตั้งแต่แอบปีนขึ้นไปบนหอเก็บน้ำในเมืองจนถูกตำรวจจับ ทำเค้กที่เอมีทำไว้เพื่อใช้ในงานเลี้ยงวันเกิดครบ 18 ปีของตัวอาร์นีเองพัง ไปจนถึงแอบกินเค้กที่กิลเบิร์ตซื้อมาแทนเค้กของเอมีก่อนงานวันเกิดจริง ๆ ปัญหาต่าง ๆ ที่อาร์นีก่อขึ้นมาประกอบกับแรงกดดันจากชีวิตและครอบครัวทำให้กิลเบิร์ตบันดาลโทสะและทำร้ายร่างกายอาร์นีในวันที่อาร์นีแอบกินเค้กก้อนนั้น เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อาร์นีตกใจและโกรธจนหนีออกจากบ้านในขณะที่กิลเบิร์ตก็ขับรถออกจากบ้านเพื่อไปหาเบคกีด้วยอาการสำนึกในสิ่งที่ทำลงไป

เมื่อไปถึงรถบ้านของเบคกี เขาพบว่าอาร์นีกำลังอยู่กับเบคกีด้วย โดยในขณะนั้นเบคกีกำลังชวนอาร์นีที่กลัวน้ำ (ซึ่งมีสาเหตุมาจากครั้งหนึ่งเขาเคยถูกกิลเบิร์ตปล่อยทิ้งไว้ในอ่างอาบน้ำข้ามคืนโดยไม่ได้ตั้งใจ) ลงมาเล่นน้ำในบ่อใกล์กับที่เธอพำนักอยู่เพื่อเป็นการบำบัดโรคกลัวน้ำนี้ ซึ่งอาร์นีก็ยอมลงเล่นน้ำกับเธอด้วยดี ก่อนที่เธอจะส่งเขากลับไปให้เอมีและเอลเลนที่ออกมาตามหาอาร์นีในค่ำคืนวันนั้น การกระทำของเบคกีทำให้กิลเบิร์ตพอใจอย่างมาก

ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่ครอบครัวเกรปจัดงานเลี้ยงวันเกิดครบ 18 ปีให้กับอาร์นี กิลเบิร์ตตัดสินใจกลับมาร่วมงานเลี้ยงครั้งนี้และขอโทษอาร์นีในสิ่งที่ทำลงไป ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเมื่อพี่ชายและน้องชายกลับมาคืนดีอีกครั้ง แต่หลังจากงานเลี้ยงวันนั้น บอนนี แม่ของพวกเขาก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ โดยก่อนสิ้นใจเธอได้กล่าวชื่นชมกิลเบิร์ตว่าเขาคือ "อัศวินในชุดเกราะที่ส่องแสงแวววาว" (knight in shimmering armor) และเขาก็เติบโตขึ้นแล้ว

ในการเคลื่อนย้ายศพของบอนนีที่มีขนาดใหญ่ (ขนาดที่กิลเบิร์ตมักใช้พรรณนาให้เบคกีฟังเสมอว่าเท่ากับปลาวาฬ) นั้น ทางการของเมืองจะเข้ามาช่วยเหลือโดยจะใช้เครนมายกและใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้าย จากวิธีดังกล่าวทำให้ลูก ๆ ทั้ง 3 ที่ประกอบไปด้วยกิลเบิร์ต เอมี และเอลเลน กลัวว่าจะทำให้ศพของแม่เป็นจุดเด่นให้ชาวเมืองหัวเราะเยาะได้ เพราะรูปร่างของบอนนีเป็นที่โจษขานกันในหมู่ชาวเมืองอยู่แล้วว่าประหลาด พวกเขาจึงคิดหาวิธีอื่นในการเคลื่อนย้าย จนในที่สุดกิลเบิร์ตก็ตัดสินใจไม่ย้ายศพของแม่ออกจากบ้าน แต่ได้จุดไฟเผาบ้านทั้งหลังที่มีศพของบอนนีนอนอยู่ในนั้นแทน

หนึ่งปีต่อมาหลังจากนั้น ครอบครัวเกรปที่เหลืออยู่ได้แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตนเอง มีแต่กิลเบิร์ตก็ยังทำหน้าที่ดูแลอาร์นีเช่นเดิม ภาพสุดท้ายที่ผู้ชมได้เห็นคือทั้งสองได้พบกับเบคกีอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่เธอจากเมืองเอนโดราไปเมื่อปีที่แล้ว เธอโดยสารรถบ้านที่ขับมาโดยยายของเธอเช่นเดิม แต่คราวนี้เธอได้รับกิลเบิร์ตและอาร์นีไปร่วมเดินทางและใช้ชีวิตกับเธอด้วย

นักแสดง[แก้]

การเข้าฉายและรายได้[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาวันที่ 17 ธันวาคม 2536 โดยฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์ ก่อนที่จะฉายแบบไม่จำกัดโรงอีกครั้งในวันที่ 4 มีนาคม 2537[1] สำหรับรายได้รวมในสัปดาห์แรกที่เข้าฉายนั้นอยู่ที่ 2,104,938 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้รวมภายในประเทศนั้น อยู่ที่ 10,032,765 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

การตอบรับ[แก้]

ตัวภาพยนตร์ได้รับการตอบรับที่ค่อนไปในเชิงบวกจากนักวิจารณ์จำนวนมาก โดยผู้ที่เข้ามาวิจารณ์ผ่านเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์ 32 จาก 36 คนยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในระดับ "fresh" ทำให้ได้รับคะแนนคิดเป็นร้อยละ 90[3] สอดคล้องกับที่นักวิจาร์ภาพยนตร์อาชีอย่างโรเจอร์ เอเบิร์ต จากนิตยสารชิคาโกซัน-ไทมส์ ได้กล่าวไว้ว่า "(ภาพยนตร์เรื่องนี้) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีมนต์เสน่ห์ที่สุดแห่งปี"[4]

ส่วนทางด้านนักแสดงก็ได้รับการตอบรับในด้านบวกเช่นกัน ทอดด์ แมคคาร์ที จากเว็บไซต์วาไรอิตี กล่าวถึงจอห์นนี เดปป์ ในบทบาทของกิลเบิร์ตว่า "เดปป์สามารถคุมความเป็นศูนย์กลางของภาพยนตร์ด้วยลักษณะท่าทางที่น่าดึงดูดใจเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม"[5] ส่วนแจเนต แมสลิน จากนิวยอร์กไทมส์ กล่าวชมการแสดงของลีโอนาโด ดิคาปริโอ ในบทอาร์นีว่า "คนที่เป็นสุดยอดของหนังเรื่องนี้จริง ๆ คนคุณดิคาปริโอ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของอาร์นีน่าขนลุกและดูมีชีวิตชีวา...การแสดงของเขานั้นแหลมคมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง"[6] ซึ่งในส่วนของดิคาปริโอนั้นเอเบิร์ตก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า เขาสมควรได้รับรางวัลอคาเดมีที่เขามีชื่อเข้าชิง[4] (ในงานประกาศรางวัลอคาเดมีครั้งที่ 66 ดิคาปริโอได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย)

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

รางวัล สาขารางวัล ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผล
รางวัลอคาเดมี (ออสการ์, พ.ศ. 2537, สหรัฐอเมริกา) นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ได้รับการเสนอชื่อ
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก (พ.ศ. 2537) นักแสดงดาวรุ่ง (Emerging Actor) ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ได้รับรางวัล
ลูกโลกทองคำ (พ.ศ. 2537, สหรัฐอเมริกา) การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงสมทบชายในภาพยนตร์ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ได้รับการเสนอชื่อ
สมาคมโรงภาพยนตร์ศิลปะเยอรมัน (รางวัลภาพยนตร์สมาคม - เงิน, พ.ศ. 2538) ภาพยนตร์ต่างประเทศ ลาซเซ ฮัลสตรอม ได้รับรางวัล
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเลิฟอีสโฟลลี (รางวัลอโฟรไดต์ทองคำ, พ.ศ. 2536, ประเทศบัลแกเรีย) ลาซเซ ฮัลสตรอม ได้รับรางวัล
คณะกรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (พ.ศ. 2536, สหรัฐอเมริกา) นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ได้รับรางวัล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ imdb.com[7]

เชิงอรรถ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "What's Eating Gilbert Grape (1993) - Weekend Box Office Results," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 24 ตุลาคม 2552
  2. "What's Eating Gilbert Grape (1993)," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 24 ตุลาคม 2552
  3. "What's Eating Gilbert Grape Movie Reviews, Pictures," rottentomatoes.com เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
  4. 4.0 4.1 Roger Ebert. "What's Eating Gilbert Grape เก็บถาวร 2009-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," rogerebert.suntimes.com (March 4, 1994.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
  5. Todd McCarthy. "What's Eating Gilbert Grape Review," variety.com (December 6, 1993.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
  6. Janet Maslin. "Movie Review: What's Eating Gilbert Grape," movies.nytimes.com (December 17, 1993.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
  7. "What's Eating Gilbert Grape (1993) - Awards," imdb.com เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552