ระบบกะฟาละฮ์
ระบบกะฟาละฮ์ (อาหรับ: نظام الكفالة, อักษรโรมัน: niẓām al-kafāla; แปลว่า "ระบบการอุปถัมภ์") เป็นระบบที่ใช้สำหรับกำกับดูแลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานหลัก ๆ อยู่ในภาคการก่อสร้างและภาคครัวเรือนในรัฐสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวและในประเทศข้างเคียงอีกสองสามประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต เลบานอน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[1][2] ระบบนี้บังคับให้แรงงานต่างด้าวทุกคน[3] ต้องมีคนในประเทศเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยทั่วไปจะเป็นนายจ้าง ผู้อุปถัมภ์นี้มีภาระในการดูแลเรื่องวีซาและสถานะทางกฎหมายของลูกจ้าง ระบบนี้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการขูดรีดแรงงาน เนื่องจากนายจ้างจำนวนมากริบหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้และกระทำกับลูกจ้างในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยแทบไม่ได้รับผลทางกฎหมายเลย[4]
นักวิชาการเช่น Omar Hesham AlShehabi และ Shirleen Anushika Datt ได้บรรยายไว้ว่ารากฐานของระบบกะฟาละฮ์มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เมื่อจักรวรรดิอังกฤษนำเอาแรงงานจากอนุทวีปอินเดียมายังตะวันออกกลาง[5][6]
กาตาร์
[แก้]กาตาร์มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และฟิลิปปินส์ แรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 94 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศกาตาร์ กาตาร์มีสัดส่วนแรงงานต่างด้าว 5 คนต่อพลเมืองกาตาร์ 1 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำกับคนทำความสะอาด[7]
แรงงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสภาพที่องค์การฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่าเข้าข่าย "แรงงานบังคับ"[8] Sharan Burrow เลขาธิการใหญ่สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation) ระบุว่า "ในปลายปี ค.ศ. 2010 เราได้ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียโดดเด่นขึ้นมาราวกับไฟสีแดง ประเทศเหล่านี้อยู่ที่จุดต่ำสุดในประเด็นสิทธิแรงงาน โดยพื้นฐานแล้วประเทศเหล่านี้เป็นรัฐแห่งทาส (slave states)"[8] ระบบวีซาขาออก (exit visa system) ของกาตาร์ห้ามมิให้แรงงานเดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับการอนุญาตจากนายจ้าง[8] นอกจากนี้ ลูกจ้างยังต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างในการเปลี่ยนงาน ออกจากประเทศ ได้รับใบขับขี่ เช่าบ้าน หรือเปิดบัญชีเช็ค องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำรวจพบว่ามีแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ลงนามในเอกสารว่าตนได้รับเงินเดือนแล้ว ทั้งที่ความจริงไม่ได้รับ เพื่อที่จะได้รับหนังสือเดินทางของตนคืน[9] และได้เรียกร้องให้กาตาร์ปฏิรูประบบการอุปถัมภ์จากนายจ้าง[9] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 จันนี อินฟันตีโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของกาตาร์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาแรงงาน การประชุมครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นว่ากฎหมายหมายเลข 18 จากกฎหมายปฏิรูปแรงงานปี ค.ศ. 2022 กำหนดให้ยกเลิกการขอใบยินยอมจากนายจ้างในการเปลี่ยนงาน พร้อมกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เลือกปฏิบัติสำหรับแรงงานทุกคน[10]
ฟุตบอลโลก 2022
[แก้]นับตั้งแต่การประกาศให้กาตาร์เป็นประเทศผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 สื่อได้หันมาให้ความสนใจต่อระบบกะฟาละฮ์ในกาตาร์มากขึ้น[11][12] โดยผลการศึกษาของหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ในปี ค.ศ. 2013 อ้างว่าแรงงานจำนวนมากถูกปฏิเสธน้ำและอาหาร ถูกริบเอกสารระบุตัวตน ถูกบังคับใช้แรงงาน และไม่ได้รับค่าจ้างตรงเวลาหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานบางคนกลายเป็น "ทาส" ไปโดยปริยาย[13] เดอะการ์เดียน ประมาณไว้ว่าหากยังไม่มีการปฏิรูประบบกะฟาละฮ์[13] เมื่อถึงเวลาจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก แรงงานจำนวนมากถึง 4,000 คน[14] จากแรงงานต่างด้าวรวม 2 ล้านคน[15] อาจเสียชีวิตจากมาตรการความปลอดภัยที่หละหลวมและจากสาเหตุอื่น ๆ คำกล่าวอ้างนี้มีพื้นฐานมาจากรายงานการเสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวจากเนปาลรวม 522 คน และจากอินเดียอีกกว่า 700 คน[16] สะสมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 นอกจากนี้ นับตั้งแต่การประกาศว่ากาตาร์เป็นประเทศผู้จัดฟุตบอลโลก มีรายงานว่ามีแรงงานชาวอินเดียเสียชีวิต 250 คนต่อปี[17] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้ "ค่อนข้างปกติ" เนื่องจากมีแรงงานชาวอินเดียในกาตาร์ถึงสองล้านคน[17]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ถูกบังคับให้อาศัยในสภาพที่ย่ำแย่ ถูกยึดค่าจ้างและหนังสือเดินทาง องค์การยังกล่าวโทษว่าฟีฟ่าล้มเหลวที่ไม่สามารถหยุดยั้งการก่อสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลกจาก "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" ได้[18] ในปี ค.ศ. 2015 แรงงานต่างด้าวจากเนปาลยังถูกปฏิเสธการเดินทางออกจากกาตาร์ไปเยี่ยมครอบครัวหลังเหตุแผ่นดินไหวเนปาลปี ค.ศ. 2015[19] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 การศึกษาของหนังสือพิมพ์ เดลีมีร์เรอร์ พบว่าแรงงานราว 28,000 คนที่ทำงานก่อสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลกได้รับค่าจ้างเพียง 750 ริยาลกาตาร์ (ราว 6,500 บาท) ต่อเดือน[20]
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
[แก้]สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีระบบอุปถัมภ์วีซาทำงานเพื่อออกใบอนุญาตทำงานแก่บุคคลต่างชาติที่ประสงค์จะอพยพมาทำงานในประเทศ วีซาส่วนใหญ่ได้รับการอุปถัมภ์จากสถาบันและบริษัทต่าง ๆ บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศเพื่อทำงานจะต้องมีใบอนุญาตทำงานซึ่งกระทรวงทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ออกให้และมีอายุสองเดือน ผู้อุปถัมภ์มีหน้าที่รับผิดชอบการตรวจทางการแพทย์และการจัดหาบัตรระบุตัวตน เอกสารที่จำเป็น และการจ่ายค่าอากรในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง จากนั้นลูกจ้างยังสามารถอุปถัมภ์ครอบครัวของตนและพามาที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เช่นกัน ข้อ 1 ของกฎกระทรวงหมายเลข 766 ซึ่งตราขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ระบุไว้ว่าลูกจ้างที่สิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วสามารถขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ และยังคงอยู่ในประเทศได้ถึง 6 เดือนด้วยวีซาผู้หางาน[21][22]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประมาณไว้ว่ามีแรงงานหญิงต่างด้าวราว 146,000 คนที่อยู่ภายใต้ระบบการอุปถัมภ์จากนายจ้างในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากการสัมภาษณ์กับแรงงานหญิงในภาคครัวเรือน 99 คน ฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้ระบุรายการการกระทำกับแรงงานในทางที่ไม่ถูกต้องตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวไว้ โดยพบว่าส่วนใหญ่ถูกนายจ้างริบหนังสือเดินทาง ถูกบังคับทำงานล่วงเวลา (มากถึง 21 ชั่วโมงต่อวัน) และอาหาร สภาพความเป็นอยู่ และการรักษาพยาบาลยังไม่เหมาะสมหรือเพียงพอ ในจำนวนนี้มี 24 คนที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือคุกคามทางเพศ[23] ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประณามรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ไม่สามารถปกป้องแรงงานต่างด้าวจากการขูดรีดและการใช้อำนาจในทางมิชอบได้ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายแรงงานต่อรัฐบาล[23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "'As If I Am Not Human' — Abuses against Asian Domestic Workers in Saudi Arabia (pdf)" (PDF). Human Rights Watch. 8 กรกฎาคม 2008. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012.
- ↑ Khan, Azfar; Harroff-Tavel, Hélène (1 กันยายน 2011). "Reforming the Kafala: Challenges and Opportunities in Moving Forward". Asian and Pacific Migration Journal. 20 (3–4): 293–313. doi:10.1177/011719681102000303. S2CID 154570877.
- ↑ "Kafala System - Facts about Sponsorship System for UPSC". BYJU'S.
- ↑ Harmassi, Mohammed (6 พฤษภาคม 2009). "Bahrain to end 'slavery' system". BBC News.
- ↑ AlShehabi, Omar Hesham (2021). "Policing labour in empire: the modern origins of the Kafala sponsorship system in the Gulf Arab States". British Journal of Middle Eastern Studies. 48 (2).
- ↑ Datt, Shirleen Anushika (2018). "Born to Work: An In-Depth Inquiry on the Commodification of Indian Labour – A Historical Analysis of the Indian Indentureship and Current Discourses of Migrant Labour Under the Kafala System". ใน Sefa Dei, George J.; Hilowle, Shukri (บ.ก.). Cartographies of Race and Social Difference. pp. 49–50. doi:10.1007/978-3-319-97076-9. ISBN 978-3-319-97076-9.
- ↑ Morin, Richard (12 เมษายน 2013). "Indentured Servitude in the Persian Gulf". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2022.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Montague, James (1 พฤษภาคม 2013). "Desert heat: World Cup hosts Qatar face scrutiny over 'slavery' accusations". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2013.
- ↑ 9.0 9.1 "Qatar: End corporate exploitation of migrant construction workers". Amnesty International. 17 พฤศจิกายน 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2022.
- ↑ "FIFA President and Qatar Minister of Labour meet to discuss progress of labour rights". www.fifa.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2022.
- ↑ McTague, Tom (19 พฤศจิกายน 2022). "The Qatar World Cup Exposes Soccer's Shame". The Atlantic. Washington, D.C.: Emerson Collective. ISSN 2151-9463. OCLC 936540106. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022.
- ↑ Boehm, Eric (21 พฤศจิกายน 2022). "The Qatar World Cup Is a Celebration of Authoritarianism". Reason. Reason Foundation. OCLC 818916200. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022.
- ↑ 13.0 13.1 Gibson, Owen (18 กุมภาพันธ์ 2014). "More than 500 Indian Workers Have Died in Qatar Since 2012, Figures Show". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2021.
- ↑ Booth, Robert. "Qatar World Cup construction 'will leave 4,000 migrant workers dead'". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2013.
- ↑ Pete Pattisson (1 กันยายน 2020). "New Labour Law Ends Qatar's Exploitative Kafala System". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021.
- ↑ "Fifa 2022 World Cup: Is Qatar doing enough to save migrant workers' lives?". ITV News. 8 มิถุนายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2019.
- ↑ 17.0 17.1 Stephenson, Wesley (6 มิถุนายน 2015). "Have 1,200 World Cup workers really died in Qatar?". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2018.
- ↑ "Qatar World Cup of Shame". Amnesty International. 31 มีนาคม 2016.
- ↑ "Qatar 2022: 'Forced labour' at World Cup stadium". BBC News. 31 มีนาคม 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2020. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2016.
- ↑ Armstrong, Jeremy (20 พฤษภาคม 2019). "Qatar World Cup stadium migrant workers being paid as little as 82p-an-hour". The Mirror. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2019.
- ↑ "Getting a work and residency permit". UAE Government.
- ↑ "UAE Amnesty 2018: 6-month visa for violators who seek jobs a golden opportunity". Gulf News. 30 กรกฎาคม 2018.
- ↑ 23.0 23.1 "'I Already Bought You' — Abuse and Exploitation of Female Migrant Domestic Workers in the United Arab Emirates (pdf)" (PDF). Human Rights Watch. 9 ตุลาคม 2014. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2015.