รอน พอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รอน พอล (2007)

โรนัลด์ เออร์เนสต์ "รอน" พอล เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาจากเลค แจ็คสัน รัฐเท็กซัส เป็นแพทย์ และเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 3 ครั้ง ในนามตัวแทนของพรรคเสรีนิยม ปี 1988 และของพรรคริพับลิกัน (สหรัฐอเมริกา) ปี 2008 และ 2012 รอน พอลเกิดที่เพนซิลเวเนีย เริ่มเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยดู๊ค หลังจากจบการศึกษาในปี 1961 เขาได้เป็นแพทย์ทางด้านสูตินารีเวช จากนั้นได้มาเป็นศัลยแพทย์ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา และได้ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเวียดนามอีกด้วย ต่อมาได้หันเข้าสู่วงการการเมืองและได้เป็นสมาชิสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาจากรัฐเท็กซัสในปี 1976–1977, 1979–1985 และ 1997 จนถึงปัจจุบัน

รอน พอลเป็นนักอนุรักษนิยม นักรัฐธรรมนูญ และนักเสรีนิยม (Libertarian) เขาเป็นนักวิจารณ์ที่พูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศและการเงินของชาวอเมริกัน รวมถึงระบบอุตสาหกรรมทางการทหารและธนาคารกลาง มุมมองเสรีนิยม (Libertarianism) ของเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างดีและมักจะแตกต่างจากพรรคของตัวเองเในบางกรณี

นโยบายต่างประเทศหลักของพอลคือไม่แทรกแซง เขากล่าวว่าอเมริกาไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการทหาร การเงินหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่นๆ แต่เสนอให้ยังคงสัมพันธภาพในเรื่องการค้า การท่องเที่ยว การสื่อสารและการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นๆไว้[1] เขาต่อต้านสงครามอิรัก[2]แต่เห็นด้วยกับการส่งกองกำลังไปปรามปรามผู้ก่อการร้ายในอัฟฟานิสถาน[3]เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการตอบโต้การก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 เขาอยากจะให้สหรัฐอเมริกาลดบทบาทในนาโตและสหประชาชาติเนื่องจากเล็งเห็นว่าองค์กรเหล่านั้นละเมิดต่ออธิปไตยของสหรัฐ

ในทางการเงินพอลมีนโยบายไม่เก็บภาษีเพิ่ม[4] สนับสนุนการลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้[5] โดยให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินที่ได้จากภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยการปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ไม่จำเป็น เขาสนับสนุนนโยบาย Hard Money แต่ในขณะเดียวกันกล่าวว่าจะไม่กลับไปใช้มาตรฐานทองคำแต่จะให้ออกกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลจำต้องใช้ทองหรือแร่เงิน ในการชำระหนี้ ซึ่งการออกกฎหมายนี้จะยับยั้งพฤติกรรมของรัฐบาลที่ใช้จ่ายอย่างไม่ระวังและคอยมาเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) พิมพ์เงินเพิ่ม[6] ซึ่งเขาเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุหลักของการทำให้เกิดเงินเฟ้อและด้วยเหตุผลนี้เขาจึงไม่สนับสนุนธนาคารกลางของสหรัฐ

นอกจากนั้นพอลสนับสนุนให้เลิกสงครามกับยาเสพย์ติดเนื่องจากเชื่อว่ากฎหมายยาเสพติดไม่มีประสิทธิภาพให้คนเลิกใช้ยา กฎหมายยาเสพติดทำให้เกิดอาชญากรรมและแนะนำให้พิจารณาว่ายาเสพติดเป็นปัญหาทางการแพทย์ เขากล่าวว่านักโทษคดียาเสพติดหลายคนไม่ได้จำคุกจากพฤติกรรมรุนแรงแต่จากการเป็นผู้เสพ เราควรจะถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ป่วยติดยาแทนที่จะเป็นอาชญากร การบังคับให้มีบทลงโทษขั้นต่ำอย่างไร้เหตุผลได้ก่อให้เกิดโทษอย่างมหัน ขณะนี้มีผู้กระทำผิดคดียาเสพติดที่ไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตแต่เราไม่มีห้องขังพอให้กับนักโทษคดีข่มขืนและฆาตกร เขากล่าว[7]

สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของรอน พอลในปี 2012 นั้น เขาเป็นผู้สมัครที่มีคะแนนนำในหลายๆสตรอว์โพลล์ แม้ว่าจะได้คะแนนต่ำกว่าในหลายๆโพลล์ทางโทรศัพท์ มีผู้ที่นิยมตัวเขาในอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมากเลยทีเดียว โดยในเว็บสำหรับค้นหาและ Youtube นั้นเขากลายเป็นผู้สมัครที่มีการค้นชื่อมากที่สุด ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาในปี 2008 ผู้สนับสนุนจำนวนมากของพอลกล่าวหาว่าสื่อกระแสหลักไม่ยอมนำเสนอข่าวของพอล[8] ข้อกล่าวหาที่คล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2012 เช่นเดียวกัน[9] คอลัมนิสของหนังสือพิมพ์การเมืองโพลิติโควโรเจอร์ ไซม่อนตั้งข้อสังเกตในขณะให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Reliable Sources ของ CNN ว่าพอลได้รับการเสนอข่าวน้อยกว่านาง มิเชล บัคแมน แม้จะมีคะแนนนิยมใกล้เคียงเธอในเอมส์สตรอว์โพลล์[10] ภายหลังไซมอนได้ตั้งข้อสังเกตอีกครั้งในหนังสือพิมพ์การเมืองโพลิติโควว่าสื่อนำเสนอพอลอย่างไม่เป็นธรรม[11] โครงการความเป็นเลิศของสื่อสารมวลชนของศูนย์การวิจัยพิวได้ให้ข้อสรุปในเดือนสิงหาคม 2011 ว่าพอลได้รับการนำเสนอข่าวจากสื่อสารมวลชนน้อยกว่าผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2012 คนอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ[12] ในเดือนมกราคมปี 2012 นิตยสารแอตแลนติกอ้างผลการศึกษาของพิวว่าแม้โพลสำรวจของพอลจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาเสียส่วนแบ่งจากการนำเสนอข่าวของสื่อจาก 34% ในปลายธันวาคม 2011 เหลือเพียงประมาณ 3% ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2012 พวกเขายังตั้งข้อสังเกตเพิ่มอีกว่าการนำเสนอข่าวในเชิงบวกเกี่ยวกับพอลลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่การนำเสนอข่าวในเชิงลบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lewrockwell.com (2007-03-16)
  2. "Paul, Ron (2002-10-08). "Statement Opposing the use of Military Force against Iraq". Congressional Record. U.S. House of Representatives". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
  3. ""Key Vote (How all members voted): Authorization for Use of Military Force"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-04. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  4. Rep. Ron Paul Signs Presidential Taxpayer Protection Pledge
  5. "Paul, Ron (2003-01-30). "End the Income Tax – Pass the Liberty Amendment"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-28. สืบค้นเมื่อ 2012-05-13.
  6. "Contrary to what you may have heard, Ron Paul does not want return to the gold standard. Freedom Jackson (libertarian) Friday, November 16, 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-14. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
  7. "A Republic, If You Can Keep It. Dr. Ron Paul U.S. Representative from Texas Address to the U.S. House of Representatives delivered on the Floor of the House January 31 - February 2, 2000". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
  8. "Ostrowski, James (1/26/2008). "Media Urged not to Ignore Ron Paul". Political Class Dismissed". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-01. สืบค้นเมื่อ 2012-05-13.
  9. Hagey, Keach (August 15, 2011). "Ron Paul supporters decry media neglect". Politico. Retrieved August 19, 2011.
  10. "Politico and CNN say Ron Paul can't win, and that they will ignore him". CNN. Retrieved August 19, 2011
  11. Simon, Roger (August 15, 2011). "Ron Paul remains media poison". Politico. Retrieved August 19, 2011.
  12. "Sartor, Tricia (August 17, 2011). "Are the Media Ignoring Ron Paul". Project for Excellence in Journalism. Pew Research Center. Retrieved August 19, 2011". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-03. สืบค้นเมื่อ 2012-05-13.
  13. "Hudson, John (26 January 2012). "The Ron Paul Media Blackout Is Back On". theatlanticwire.com. The Atlantic. Retrieved 27 January 2012". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-28. สืบค้นเมื่อ 2012-05-13.