พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระอนุวัตน์ราชนิยม
(ฮง เตชะวณิช)
เกิด11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394
เสียชีวิต5 มีนาคม พ.ศ. 2480 (86 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นแต้หงี่ฮง (鄭義豐),
ยี่กอฮง (二哥豐),
แต้ตี้ย้ง (鄭智勇)
อาชีพพ่อค้า, นายอากร

รองหัวหมื่น พระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) มีชื่อจีนว่า แต้หงี่ฮง (鄭義豐) ยี่กอฮง (二哥豐) หรือ แต้ตี้ย้ง (鄭智勇) เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ พ.ศ. 2394 (นับแบบปัจจุบัน) แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดในประเทศไทย หรือเดินทางมาจากประเทศจีน[1] ท่านประกอบอาชีพค้าขาย และมีตำแหน่งเป็นนายอากรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 รวมอายุได้ 87 ปี

ประวัติ[แก้]

ประวัติของยี่กอฮงนั้น ส่วนที่เชื่อว่า เกิดในประเทศไทย ยี่กอฮงเป็นบุตรนายเกีย แซ่แต้ ชาวจีน กับนางเกิด ชาวไทย ซึ่งเมื่อยี่กอฮงถือกำเนิดมานั้น นายเกียผู้เป็นบิดาได้ตั้งหลักฐานอยู่ในพระนคร โดยเปิดร้านค้าขายผ้าอยู่ที่หัวมุมสี่กั๊กพระยาศรี เสาชิงช้า ด้านถนนบำรุงเมือง เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ บิดาและมารดาถึงแก่กรรม ญาติฝ่ายบิดาที่เป็นคนจีนจึงรับกลับไปอยู่ที่เมืองจีนจนกระทั่งอายุ 16 ปี จึงกลับมายังประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2409 และไม่ได้กลับไปประเทศจีนอีกเลย โดยได้เข้าทำงานเป็นเสมียนโรงบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เล่ากี้ปิง) อาศัยและประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้สมรสเป็นลูกเขยของคหบดีย่านตลาดสันป่าข่อย จนอายุได้ประมาณ 30 ปี ยี่กอฮงได้ล่องแพนำสินค้าลงมาค้าขายอยู่แถวบริเวณหน้าจวนของท่านเจ้าคุณโชฎึกราชเศรษฐี บริเวณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อค้าขายได้ในระดับหนึ่ง ยี่กอฮงจึงตัดสินใจมาตั้งรกรากทำการค้าอยู่ที่พระนครโดยถาวร

ส่วนที่เชื่อว่า เกิดในประเทศจีน ยี่กอฮงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ใน พ.ศ. 2394 เมื่ออายุ 16 ปี ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยตั้งปณิธานว่าจะประกอบอาชีพค้าขายในสยามตลอดชีวิต

ส่วนประวัติจากจีนกล่าวว่า ยี่กอฮงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดที่ปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2394 ชื่อจริงคือแต้หงี่ฮง เป็นบุตรของนายแต้ซี่เซ็ง (鄭詩生) ชาวจีนแต้จิ๋วจากหมู่บ้านคี้ฮึ๊ง (淇園鄉) อำเภอเตี่ยอัง (潮安縣) มณฑลกวางตุ้ง ที่อพยพมาไทยพร้อมกับภรรยา ต่อมาแต้ซี่เซ็งพาบุตรและภรรยากลับบ้านเกิดแล้วกลับมาทำงานที่เมืองไทยอีกครั้ง แต่แต้ซี่เซ็งมาป่วยหนักและสิ้นชีพที่ประเทศไทย ในเวลานั้น แต้หงี่ฮงมีอายุได้เพียงเก้าขวบ แม่ของแต้หงี่ฮงได้ย้ายไปอำเภอเท่งไฮ และแต่งงานใหม่ แต้หงี่ฮงไม่ถูกกับพ่อเลี้ยงอย่างรุนแรง ใน พ.ศ. 2406 แต้หงี่ฮงตัดสินใจหนีออกจากบ้านมาลงเรือสำเภาหัวแดงที่ท่าเรือซัวเถา เพื่อเดินทางสู่ประเทศไทยในวัย 13 ปี

แต้หงี่ฮงทำงานเป็นเด็กรับใช้อยู่แถวท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านสำเพ็ง ต่อมามีชาวจีนอำเภอกิ๊กเอี๊ยชื่อหลิ่มมั่ง (林蟒) เป็นหนึ่งในกบฏเมืองแมนแดนสันติ ได้พาบริวารหนีการปราบปรามมาเมืองไทย และได้ตั้งสมาคมอั้งยี่ เรียกกันว่า ตั่วกอมั่ง (大哥蟒) และได้ชักชวนแต้หงี่ฮงซึ่งตอนนั้นมีอายุได้ 16 ปีแล้ว ให้เข้าร่วมสมาคมอั้งยี่ เมื่อตั่วกอมั่งสิ้นชีพ แต้หงี่ฮงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน แต่ไม่ยอมให้ใครเรียกตั่วกอ จึงเรียกกันว่ายี่กอฮง (二哥豐) ต่อมาได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย คุมการออกหวย ก.ข. และทำการค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจการเดินเรือกลไฟจีน-สยาม (華暹輪船公司) ในปี พ.ศ. 2493 และท่านได้เลือกทำเลปลูกคฤหาสน์อยู่ตรงสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยในปัจจุบัน

ยี่กอฮงมีส่วนในการบริจาคทรัพย์สินและได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้อย่างมากมาย เช่น ถนน, สะพานฮงอุทิศ สะพานนิยมนฤนาถ สะพานอนุวัฒนโรดม, โรงเรียนวัดสะพานสูง, โรงเรียนเผยอิง เมื่อ พ.ศ. 2463, ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด, ศาลเจ้าไต้ฮงกง, ก่อสร้างท่าน้ำฮั่วเซี้ยม, ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้า เป็นต้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขึ้น โดยชักชวนเหล่าพรรคพวกเพื่อนฝูงในสมัยนั้น มาร่วมกันสร้างมูลนิธิช่วยเหลือผู้ยากไร้ตกทุกข์ได้ยากและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดีแต่ยากไร้ อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนในการรณรงค์หาเงินเข้าสภากาชาดไทยอย่างมากมาย รวมถึงได้บริจาคเงิน 10,000 บาทในการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 9 และมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในแต้จิ๋ว ในวันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ยี่กอฮงก็ได้ระดมเงินบริจาคจำนวนมหาศาลจากเมืองไทยไปช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากในดินแดนบ้านเกิด

เมื่อครั้งที่ซุน ยัตเซ็น เดินทางมาถึงไทยในวันที่ 20 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ยี่กอฮงได้ให้การต้อนรับ หลังจากพูดคุยกับซุน ยัตเซ็นที่คฤหาสน์ของท่านแล้ว ยี่กอฮงตัดสินใจตัดผมเปียทิ้ง และอาสาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยประจำประเทศไทยขึ้น แล้วยังมอบเงินสนับสนุนการปฏิวัติกับซุน ยัตเซ็นเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งแสนหยวน แล้วสาบานเป็นพี่น้องกับซุน ยัตเซ็นที่อายุอ่อนกว่า ซุนยัต เซ็นได้ตั้งชื่อให้ยี่กอฮงว่า ตี้ย้ง (智勇) หมายถึงผู้ที่มีพร้อมทั้งปัญญาและความกล้าหาญ จึงเรียกท่านอีกชื่อว่า แต้ตี้ย้ง (鄭智勇) และยกย่องยี่กอฮงว่าเป็น เจ้าสัวนักปฏิวัติ (革命座山) ด้วย[2]

นอกจากนี้ยี่กอฮงยังได้รับพระราชทานตำแหน่ง หย่งหลกไต่ฮู (榮祿大夫) ขุนนางฝ่ายพลเรือนระดับ 1 ชั้นโท จากราชวงศ์ชิงด้วย ซึ่งเป็นขุนนางจีนสยามที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนนางจีนระดับสูงที่สุดในไทย[3]

พระราชทานบรรดาศักดิ์[แก้]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงทราบถึงคุณความดีและทรงพอพระทัยอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระอนุวัตน์ราชนิยม"รองหัวหมื่น กรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามสกุล "เตชะวณิช" ตำแหน่งนายอากร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2461[4]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 (นับแบบปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2480) รองหัวหมื่น พระอนุวัตน์ราชนิยมได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านของท่าน สิริอายุรวม 86 ปี ในย่านชุมชนกุฎีจีน ศพของท่านได้นำกลับไปฝัง ที่สุสานในเมืองปังโคย ประเทศจีน ขณะเดียวกันหลวงอดุลเดชจรัส ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นมีความต้องการใช้บ้านของท่านมาเป็นโรงพักกลางแทนโรงพักสามแยกที่ถูกไฟไหม้เสียหายไป จึงทำการรื้อตัวอาคารเดิมทั้งหมดทิ้งลง แล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน และสร้างศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮงไว้บนโรงพักแห่งนี้ด้วย[5]

อ้างอิง[แก้]