รถพุ่มพวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถพุ่มพวงในกรุงเทพฯ

รถพุ่มพวง บ้างก็เรียก รถกับข้าว, รถโตงเตง[1] คือ รถกระบะที่เปิดท้ายขายของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ โดยมีสินค้ามักจะห้อยเป็นพวง ๆ จับเป็นกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่ม ๆ ไว้ทั่วตัวถังรถ โดยวิ่งไปขายตามชุมชนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ตามพื้นที่ก่อสร้าง ไปจนถึงบ้านเดี่ยว บางรายเปิดเพลงสลับพูดผ่านไมโครโฟน[2] นอกจากจะมีการดัดแปลงรถกระบะแล้ว ยังมีการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ และรถจักรยานยนต์สามล้อ (ซาเล้ง) เป็นรถขายของด้วย ช่วงเวลาที่เร่ขายมักเป็นช่วงเช้า[3] รถพุ่มพวงบางคัน ไม่ได้ขายเฉพาะของสด ของแห้ง ยังมีอาหารสำเร็จรูป เป็นแกงถุง แกงอ่อม ผัดเผ็ด รวมทั้งของว่างของทานเล่นอย่าง ข้าวโพดต้ม ถั่วต้ม มันต้ม ฯลฯ ห้อยท้ายเป็นถุง ๆ อีกด้วย[4]

ชื่อ รถพุ่มพวงนั้น น่าจะมาจาก การห้อยสินค้า "เป็นพุ่มเป็นพวง" เพื่อง่ายต่อการวางสินค้าและคิดราคา และการจัดวางสินค้าทุกอย่างไว้พื้นที่ท้ายกระบะจะทำได้น้อยและเกิดการซ้อนทับ เมื่อเป็นอาหารประเภทผักถ้าซ้อนทับกันมาก ๆ ผักก็จะช้ำ การห้อยไว้ในพื้นที่ด้านข้าง จึงเป็นการใช้พื้นที่ในแนวตั้งให้เกิดประโยชน์ หาสินค้าได้ง่าย ไม่ต้องควานหาให้วุ่นวาย รถพุ่มพวงจึงเป็นรถขายสินค้าที่รวมเอาตลาดสดและร้านโชห่วยเข้าไว้ด้วยกัน และตระเวนขายสินค้าและบริการให้กับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลหรือที่ไม่ได้รับความสะดวกจากบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ[5]

สินค้าที่ขายอาจจะมีราคาสูงกว่าทั่วไปบ้าง แต่หากดูจากความคุ้มค่าที่ต้องเสียค่ารถ ก็อาจถือได้ว่าคุ้มค่ากว่า การขายสินค้าตามสถานที่ก่อสร้าง พฤติกรรมต่างจากลูกค้าทั่วไป คือ ซื้อบ่อยและถี่กว่า ซื้อแทบทุกโอกาส แต่ซื้อครั้งละไม่มาก เช่น บางรายแบ่งซื้อเนื้อหมูเพียง 2-3 ขีด ผักกำเล็ก ๆ ถ้าจะเป็นกะปิ น้ำปลา ผงชูรส ฯลฯ จะเลือกขนาดเล็กที่สุด[6]

รถพุ่มพวงน่าจะเกิดขึ้นและแพร่หลายในยุครุ่งเรืองของธุรกิจจัดสรรที่ดิน ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ราว พ.ศ. 2531–34 ซึ่งมีการตัดถนนสายใหม่ ๆ สู่ชานเมือง เริ่มมีโครงการจัดสรร มีแคมป์คนงาน อีกปัจจัย คือ การรุกเข้ามาของร้านสะดวกซื้อใน พ.ศ. 2532 ทำให้มีผลกระทบต่อร้านโชห่วยดั้งเดิม[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. ทวี มีเงิน (29 มีนาคม 2561). "ทุนนิยม4.0'โชห่วย'ตายแล้ว 'รถพุ่มพวง'กำลังจะสูญพันธุ์". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ""บิ๊กจราจร"อ้ำอึ้งไม่ฟันธง "รถพุ่มพวง"ผิดกฎหมาย". เดลินิวส์. 14 สิงหาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "เขาเรียกรถเร่ขายของว่า "รถพุ่มพวง" …รู้ไหม ทำไมชื่อนี้??". สปริงนิวส์. 28 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "พลิกตำรา รถพุ่มพวง ธุรกิจสร้างรายได้ระดับรากหญ้า". มันนีฮับ. 7 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ยุวดี ศิริ (8 เมษายน 2561). "ยุวดี ศิริ : "รถพุ่มพวง" ยังอยู่ได้…สบายมาก". มติชนรายสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. อรรถภูมิ อองกุลนะ (21 กรกฎาคม 2559). "กับข้าวจ๋า มาแล้วจ๊ะ กับข้าว". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ยุวดี ศิริ (24 มีนาคม 2563). "ข้อสันนิษฐาน คำ "รถพุ่มพวง" มาจากไหน? ขายถึงที่ฉบับคลาสสิกซึ่งคนไทยคุ้นเคย". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)