ข้ามไปเนื้อหา

รถกระบะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถบรรทุกขนาดใหญ่ ฟอร์ด เอฟ-150 Lariat SuperCrew ปี 2009–2012 พร้อมฝาปิดกระบะ สี่ประตู และบันไดข้าง

รถกระบะ หรือ พิกอัป (อังกฤษ: pickup truck) เป็นรถบรรทุกขนาดเล็กถึงกลางที่มีห้องโดยสารปิด และท้ายเป็นกระบะบรรทุกของที่มีผนังเตี้ยล้อมรอบสามด้านโดยไม่มีหลังคา (ท้ายกระบะนี้บางครั้งก็มีฝาท้ายและผ้าใบปิดที่ถอดออกได้)[1] ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทั้งรถกระบะและรถยนต์ประเภท "คูเปอเนกประสงค์" ถูกเรียกว่า "ยูต" (ute) ซึ่งเป็นคำย่อของ "utility vehicle" (รถยนต์อเนกประสงค์) ในประเทศแอฟริกาใต้ ผู้คนทุกกลุ่มภาษาใช้คำว่า bakkie ซึ่งเป็นคำย่อมาจากภาษาอาฟรีกานส์ bak ที่แปลว่าชามหรือภาชนะ[2]

ครั้งหนึ่งรถกระบะเคยเป็นเครื่องมือสำหรับใช้งานหรือทำการเกษตรที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยมาก ในช่วงทศวรรษ 1950 ผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มซื้อรถกระบะด้วยเหตุผลด้านไลฟ์สไตล์ และภายในทศวรรษ 1990 มีผู้เป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 15 ที่รายงานว่าใช้รถกระบะในการทำงานเป็นจุดประสงค์หลัก[3] ในอเมริกาเหนือ รถกระบะส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นรถยนต์นั่ง[4] และคิดเป็นประมาณร้อยละ 18 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐ[5] รถกระบะขนาดใหญ่และรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง (SUV) เป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ เช่น ฟอร์ด เจเนรัลมอเตอร์ และสเตลแลนทิส ซึ่งคิดเป็นมากกว่าสองในสามของกำไรก่อนหักภาษีทั่วโลก แม้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของการผลิตยานยนต์ในอเมริกาเหนือ รถเหล่านี้มีอัตรากำไรสูงและมีราคาสูง ใน ค.ศ. 2018 Kelley Blue Book อ้างถึงราคาเฉลี่ย (รวมอุปกรณ์เสริม) ของฟอร์ด เอฟ-150 ใหม่ที่ 47,174 ดอลลาร์สหรัฐ[6]

คำว่าพิกอัปมีที่มาที่ไม่ทราบแน่ชัด สตูเดอเบเกอร์ใช้คำนี้ใน ค.ศ. 1913 และในช่วงทศวรรษ 1930 คำนี้ได้กลายเป็นคำมาตรฐานในตลาดบางแห่งสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็ก[7][ แหล่งข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ]

ประวัติศาสตร์

[แก้]
1922 ฟอร์ด โมเดลที พิกอัป
1961 อินเตอร์เนชันแนล ทราเวเล็ตต์

ในช่วงแรกของการผลิต รถกระบะถูกขายเฉพาะแชสซี (โครงรถ) และผู้ผลิตภายนอกเป็นผู้ติดตั้งตัวถังเพิ่มเติม[8] ใน ค.ศ. 1902 บริษัทแรปิดมอเตอร์วีฮิเคิล (Rapid Motor Vehicle Company) ก่อตั้งโดยแม็กซ์และมอร์ริส เกรบาวสกี ซึ่งสร้างรถบรรทุกขนาดบรรทุกหนึ่งตันในพอนทิแอก รัฐมิชิแกน ใน ค.ศ. 1913 บริษัทแกเลียนออลสตีลบอดี (Galion Allsteel Body Company) ผู้พัฒนาช่วงแรก ๆ ของรถกระบะและรถดัมป์ ได้สร้างและติดตั้งกระบะบรรทุกบนแชสซีของฟอร์ด โมเดลทีที่ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อย[9] และตั้งแต่ ค.ศ. 1917 เป็นต้นมาก็ได้ติดตั้งบนโมเดล ทีที เพื่อต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ ดอดจ์ (Dodge) ได้เปิดตัวรถกระบะขนาด 3/4 ตันที่มีห้องโดยสารและตัวถังที่สร้างจากไม้ทั้งหมดใน ค.ศ. 1924[10] ใน ค.ศ. 1925 ฟอร์ดตามมาด้วยรถกระบะขนาดครึ่งตันตัวถังเหล็กซึ่งพัฒนามาจากโมเดลทีโดยมีฝาท้ายที่ปรับได้และแหนบหลังที่แข็งแรง[11] รถรุ่นนี้มีชื่อเรียกว่า "ฟอร์ด โมเดลที รันอะเบาต์ วิทพิกอัปบอดี" (Ford Model T Runabout with Pickup Body) และขายในราคา 281 ดอลลาร์สหรัฐ มีการผลิตทั้งหมด 34,000 คัน ใน ค.ศ. 1928 รถรุ่นนี้ถูกแทนที่ด้วยรุ่นโมเดลเอ ซึ่งมีห้องโดยสารปิด กระจกบังลมหน้าแบบนิรภัย กระจกหน้าต่างด้านข้างแบบเลื่อนขึ้นลง และเกียร์สามสปีด

ใน ค.ศ. 1931 เจเนรัลมอเตอร์ (General Motors) เปิดตัวรถกระบะขนาดเล็กสำหรับทั้งจีเอ็มซี (GMC) และเชฟโรเลต (Chevrolet) โดยมุ่งเป้าไปที่การเป็นเจ้าของส่วนบุคคล รถกระบะเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากเชฟโรเลต มาสเตอร์ ใน ค.ศ. 1940 จีเอ็มเปิดตัวแพลตฟอร์มรถบรรทุกขนาดเล็กโดยเฉพาะ ซึ่งแยกจากรถยนต์นั่ง โดยตั้งชื่อแพลตฟอร์มนี้ว่าเอเค-ซีรีส์[12] ฟอร์ดนอร์ทอเมริกา (Ford North America) ยังคงนำเสนอตัวถังรถกระบะบนฟอร์ด โมเดล 51 และแผนกฟอร์ดออสเตรเลียได้ผลิตรถ "ยูต" (ute) คันแรกของออสเตรเลียใน ค.ศ. 1932[13] ใน ค.ศ. 1940 ฟอร์ดนำเสนอแพลตฟอร์มรถบรรทุกขนาดเล็กโดยเฉพาะที่เรียกว่าฟอร์ด เอฟ-100 จากนั้นได้อัปเกรดแพลตฟอร์มดังกล่าวหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นฟอร์ด เอฟ-ซีรีส์ใน ค.ศ. 1948

ในตอนแรกดอดจ์คาดการณ์การผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่จากเกรอัม-เพจ (Graham-Paige) ขณะที่บริษัทผลิตรถบรรทุกขนาดเล็ก (รถกระบะ) ของตนเอง โดยเริ่มแรกใช้โครงรถยนต์นั่งที่แข็งแรงพอสมควร แต่หลังเปลี่ยนไปใช้โครงรถบรรทุกโดยเฉพาะใน ค.ศ. 1936 ดอดจ์/ฟาร์โกก็เปิดตัวรถบรรทุกรุ่นต่าง ๆ ของตนเองอย่างกว้างขวางใน ค.ศ. 1939 โดยทำการตลาดในชื่อ "จ็อบ-เรเต็ด" รถบรรทุกสไตล์อลังการศิลป์เหล่านี้ได้รับการผลิตต่อเนื่องอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อินเตอร์เนชันแนล ฮาร์เวสเตอร์ (International Harvester) นำเสนอรถบรรทุกอินเตอร์เนชันแนล เค- และเคบี-ซีรีส์ซึ่งทำการตลาดสำหรับงานก่อสร้างและเกษตรกรรมและไม่ได้มีฐานลูกค้าผู้บริโภครายย่อยที่แข็งแกร่ง ขณะที่สตูเดอเบเกอร์ (Studebaker) ก็ผลิตรถบรรทุกเอ็ม-ซีรีส์ด้วยเช่นกัน ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลสหรัฐสั่งระงับการผลิตรถกระบะส่วนบุคคล และผู้ผลิตอเมริกันทั้งหมดได้สร้างรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนความพยายามทำสงคราม[12]

ในช่วงทศวรรษ 1950 ผู้บริโภคเริ่มซื้อรถกระบะด้วยเหตุผลด้านไลฟ์สไตล์มากกว่าด้านการใช้งาน[12] รถบรรทุกที่มีลักษณะคล้ายรถยนต์ ด้านข้างเรียบ และไม่มีบังโคลนถูกนำเสนอ เช่น เชฟโรเลต ฟลีตไซด์, เชฟโรเลต เอล กามีโน, ดอดจ์ สเว็ปไลน์ และใน ค.ศ. 1957 ฟอร์ดเปิดตัวสไตล์ไซด์ที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ รถกระบะเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เช่น ระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ[3] ในช่วงเวลานี้ รถกระบะสี่ประตู รู้จักในชื่อครูว์แค็บ (crew cab) เริ่มได้รับความนิยม รถกระบะเหล่านี้เปิดตัวใน ค.ศ. 1954 ในญี่ปุ่นด้วยโตโยต้า สเตาต์[14][15] ใน ค.ศ. 1957 ในญี่ปุ่นด้วยดัทสัน 220 และใน ค.ศ. 1957 ในอเมริกาด้วยอินเตอร์เนชันแนล ทราเวเล็ตต์[16] ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็ตามมาในไม่ช้า รวมถึงฮีโน่ บริสกาใน ค.ศ. 1962 ดอดจ์ใน ค.ศ. 1963[17] ฟอร์ดใน ค.ศ. 1965 และเจเนรัลมอเตอร์ใน ค.ศ. 1973[18]

ใน ค.ศ. 1961 ในสหราชอาณาจักร บริษัทบริติชมอเตอร์คอร์ปอเรชัน (British Motor Corporation) เปิดตัวออสติน มินิพิกอัป ซึ่งเป็นรุ่นกระบะของรถมินิรุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวใน ค.ศ. 1959 โดยรถรุ่นนี้มีการผลิตต่อเนื่องจนถึง ค.ศ. 1983

มินิ พิก-อัป

ใน ค.ศ. 1963 ภาษีไก่ของสหรัฐจำกัดการนำเข้ารถฟ็อลคส์วาเกิน ไทป์ 2 โดยตรง ทำให้ตลาดบิดเบือนไปในทางเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในสหรัฐ[19] ภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศใดก็ตามที่ต้องการนำเข้ารถบรรทุกขนาดเล็กไปยังสหรัฐและส่งผลให้ "บริษัทรถบรรทุกขนาดเล็กของเอเชียถูกบีบออกจากตลาดรถกระบะของอเมริกา" อย่างมีประสิทธิภาพ[20] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดีทรอยต์ได้ล็อบบีเพื่อปกป้องภาษีรถบรรทุกขนาดเล็ก[19] ซึ่งเป็นการลดแรงกดดันต่อดีทรอยต์ในการนำเสนอรถที่ปล่อยมลพิษน้อยลงและประหยัดน้ำมันมากขึ้น[19]

นโยบาย Corporate Average Fuel Economy (CAFE) ของรัฐบาลสหรัฐใน ค.ศ. 1973 กำหนดข้อกำหนดด้านประหยัดเชื้อเพลิงที่สูงกว่าสำหรับรถยนต์เมื่อเทียบกับรถกระบะ นโยบาย CAFE นำไปสู่การเข้ามาแทนที่รถสเตชันแวกอนด้วยรถมินิแวน ซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทรถบรรทุก ทำให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยไอเสียที่เข้มงวดน้อยกว่าได้ ท้ายที่สุด CAFE ก็ส่งเสริมความนิยมของรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV)[21][22] รถกระบะที่ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อบังคับควบคุมการปล่อยไอเสียเช่นเดียวกับรถยนต์ เริ่มเข้ามาแทนที่รถยนต์มัสเซิลในฐานะยานยนต์สมรรถนะสูงที่ผู้คนเลือกใช้ ดอดจ์ วอร์ล็อกปรากฏตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ "ของเล่นสำหรับผู้ใหญ่" ของดอดจ์[3] พร้อมกับมาโช เพาเวอร์ แวกอนและสตรีตแวน ภาษี "gas guzzler" (แปลตรงตัว: นักกินน้ำมัน) ใน ค.ศ. 1978 ซึ่งเก็บภาษีรถยนต์ที่สิ้นเปลืองน้ำมันขณะที่ยกเว้นรถกระบะ ยิ่งบิดเบือนตลาดให้เป็นประโยชน์ต่อรถกระบะ นอกจากนี้ จนถึง ค.ศ. 1999 รถบรรทุกขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยเดียวกันกับรถยนต์[23] และ 20 ปีต่อมา รถกระบะส่วนใหญ่ยังคงล้าหลังรถยนต์ในการนำคุณสมบัติด้านความปลอดภัยมาใช้[24]

ในทศวรรษ 1980 รถกระบะขนาดเล็ก มาสด้า บี-ซีรีส์, อีซูซุ ฟาสเตอร์ และมิตซูบิชิ ฟอร์เตได้เปิดตัว ต่อมา ผู้ผลิตในสหรัฐได้สร้างรถกระบะขนาดเล็กของตนเองสำหรับตลาดในประเทศ รวมถึงฟอร์ด เรนเจอร์และเชฟโรเลต เอส-10 รถตู้ขนาดเล็กเริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถกระบะ[3] ในทศวรรษ 1990 ส่วนแบ่งตลาดของรถกระบะถูกกัดกร่อนเพิ่มเติมจากความนิยมของรถยนต์อเนกประสวค์สมรรถนะสูง[3]

รถบรรทุกพลังไฟฟ้าขนาดกลางเคยถูกทดลองใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20[25] แต่ไม่นานก็พ่ายแพ้ให้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ใน ค.ศ. 1997 เชฟโรเลต เอส-10 อีวี ได้เปิดตัว แต่ขายได้น้อย และส่วนใหญ่ขายให้กับผู้ประกอบการกองยานพาหนะ[26]

ภายใน ค.ศ. 2023 รถกระบะได้กลายเป็นยานพาหนะที่เน้นการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ผลสำรวจประจำปีของผู้เป็นเจ้าของรถฟอร์ด เอฟ-150 ตั้งแต่ ค.ศ. 2012 ถึง 2021 เผยให้เห็นว่าร้อยละ 87 ของเจ้าของรถใช้รถกระบะบ่อยครั้งสำหรับการซื้อของและทำธุระ และร้อยละ 70 ใช้เพื่อการขับขี่เพื่อความเพลิดเพลิน ขณะที่ร้อยละ 28 ใช้รถกระบะบ่อยครั้งสำหรับการบรรทุกส่วนตัว (ร้อยละ 41 เป็นครั้งคราว และร้อยละ 32 แทบจะไม่เคยเลย) และมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่ใช้สำหรับการลากจูงบ่อยครั้ง ขณะที่ร้อยละ 29 ทำเช่นนั้นเป็นครั้งคราว และร้อยละ 63 แทบจะไม่เคยเลย ฟอร์ด เอฟ-100 ในช่วงทศวรรษ 1960–1970 โดยทั่วไปเป็นแบบตอนเดียวและมีสัดส่วนกระบะท้ายประมาณร้อยละ 64 และห้องโดยสารร้อยละ 36 ขณะที่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 รถกระบะสี่ประตู (Crew Cab) กลายเป็นมาตรฐานมากขึ้นและขนาดของกระบะท้ายลดลงเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับห้องโดยสารที่ใหญ่ขึ้น และฟอร์ด เอฟ-150 รุ่นปี 2023 มีสัดส่วนห้องโดยสารร้อยละ 63 และกระบะท้ายร้อยละ 37[27]

ตลาดต่างประเทศ

[แก้]

ขณะที่ฟอร์ด เอฟ-150 เป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในสหรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ. 1982[28] แต่ฟอร์ด เอฟ-150 หรือรถกระบะขนาดใหญ่รุ่นอื่น ๆ นั้นพบเห็นได้ยากในยุโรป ที่ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงกว่าและถนนในเมืองที่แคบกว่าทำให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ยาก[29] ในสหรัฐ รถกระบะได้รับความนิยมจากความผูกพันทางวัฒนธรรมที่มีต่อแบบรถ ราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า รวมถึงภาษีและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่บิดเบือนตลาดให้เป็นประโยชน์แก่รถบรรทุกที่ผลิตในประเทศ[19] ณ ค.ศ. 2016 กรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) เสนอการลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้งานเชิงธุรกิจของ "ยานพาหนะใด ๆ ที่ติดตั้งพื้นที่บรรทุกสินค้า ... ที่มีความยาวภายในอย่างน้อยหกฟุตและไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากห้องโดยสาร"[30]

ในยุโรป รถกระบะมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของยานยนต์ขนาดเล็กรวมที่ขายได้[31] รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือฟอร์ด เรนเจอร์โดยมียอดขาย 27,300 คันใน ค.ศ. 2015[32] นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่น ๆ เช่น เรอโน อลาสกัน (นิสสัน นาวาราที่เปลี่ยนตรา) และโตโยต้า ไฮลักซ์

กฎหมายควบคุมการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และข้อกำหนดที่แตกต่างกันอื่น ๆ ทำให้รถกระบะไม่สามารถนำเข้าไปขายในญี่ปุ่น แต่มิตซูบิชิ ไทรทันที่จำหน่ายในตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีขายในช่วงเวลาจำกัด รถกระบะรุ่นล่าสุดที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นคือโตโยต้า ไฮลักซ์


ในประเทศจีน (ซึ่งเป็นที่รู้จักด้วยคำยืมภาษาอังกฤษ 皮卡车 pí kǎ chē) เกรทวอลล์ วิงเกิลผลิตภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย[33] ในประเทศไทย รถกระบะที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ได้แก่ อีซูซุ ดีแมคซ์และมิตซูบิชิ ไทรทัน ในแถบลาตินอเมริกาและอเมริกาใต้ โตโยต้า ไฮลักซ์, ฟอร์ด เรนเจอร์, ฟ็อลคส์วาเกิน อมาร็อก, ดอดจ์ แรม, เชฟโรเลต เอส-10, เชฟโรเลต ดี-20 และเชฟโรเลต มอนแทนามีจำหน่าย

ในแอฟริกาใต้ รถกระบะคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของยอดขายรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่เป็นโตโยต้า ไฮลักซ์, ฟอร์ด เรนเจอร์ และอีซูซู เคบี (อีซูซุ ดีแมคซ์)[34] นอกจากนี้ยังมีฟ็อลคส์วาเกิน อมาร็อกและนิสสัน นาวาราจำหน่ายด้วย

การออกแบบและคุณสมบัติ

[แก้]
Alt
ฟอร์ด เอฟ-350 ที่มีล้อหลังสี่ล้อ ("ดูอัลลี") และห้องโดยสารตอนครึ่งพร้อมประตูบานพับด้านหลัง

ในสหรัฐและแคนาดา รถกระบะรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดถูกจำหน่ายพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติ มีเพียงจี๊ป กลาดิเอเตอร์และโตโยต้า ทาโคมาเท่านั้นที่ยังมีเกียร์ธรรมดาให้เลือก[35]

รถกระบะตอนเดียว บ้างเรียกว่ารถกระบะหัวเดียว (regular/single/standard cab; แปลว่า ห้องโดยสารปกติ/เดี่ยว/มาตรฐาน) มีเบาะนั่งเพียงแถวเดียวและมีประตูข้างละบาน

รถกระบะตอนครึ่ง หรือรถกระบะแค็บ (extended/extra cab; แปลว่า ห้องโดยสารขยาย/เสริม) มีพื้นที่เพิ่มเติมด้านหลังเบาะนั่งหลัก บางครั้งก็มีเบาะนั่งเสริมขนาดเล็กที่สามารถพับเก็บได้เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของ รถกระบะตอนครึ่งคันแรกในสหรัฐอเมริกาเรียกว่าคลับแค็บ (Club Cab) และเปิดตัวโดยไครส์เลอร์ใน ค.ศ. 1973 ในดอดจ์ ดี-ซีรีส์ รถกระบะตอนครึ่งมีประตูเพียงชุดเดียวโดยไม่มีทางเข้าโดยตรงไปยังส่วนขยายของห้องโดยสาร หรือมีประตูหลังขนาดเล็กมาก (ครึ่งบาน) ที่เปิดจากด้านหลังซึ่งจะเปิดได้ก็ต่อเมื่อเปิดประตูหน้าแล้วเท่านั้น หรือมีประตูขนาดเล็ก (สามในสี่ของขนาดปกติ) ที่เปิดจากด้านหน้า

รถกระบะสองตอน หรือรถกระบะ 4 ประตู (Crew/Double Cab; แปลว่า ห้องโดยสารลูกเรือ/สองตอน) สามารถนั่งได้ห้าหรือหกคนและมีประตูบานพับด้านหน้าขนาดเต็มสี่บาน รถกระบะสองตันคันแรกในสหรัฐผลิตโดยอินเตอร์เนชันแนล ฮาร์เวสเตอร์ใน ค.ศ. 1957 และต่อมาดอดจ์ใน ค.ศ. 1963 ฟอร์ดใน ค.ศ. 1965 และเชฟโรเลตใน ค.ศ. 1973 อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกมีจำหน่ายเฉพาะรุ่นสามในสี่ตันหรือหนึ่งตันเท่านั้น (เช่นฟอร์ด เอฟ-250/เอฟ-350) ขณะที่รถบรรทุกขนาดครึ่งตัน เช่น ฟอร์ด เอฟ-150 จะไม่มีรุ่นสี่ประตูจนกระทั่ง ค.ศ. 2001 ซึ่งในเวลานั้นรถกระบะสองตอนก็เริ่มได้รับความนิยมแซงหน้ารถกระบะตอนเดียว/ตอนครึ่ง[27]

การออกแบบรถกระบะแบบแค็บโอเวอร์ (cab-over) หรือแค็บฟอร์เวิร์ด (cab forward) คือการออกแบบที่ห้องโดยสารอยู่เหนือเพลาหน้า การจัดวางแบบนี้ทำให้มีพื้นที่บรรทุกสินค้ายาวขึ้นโดยที่ความยาวโดยรวมของรถเท่าเดิม รถกระบะเปิดข้าง (drop-sided pickup) แบบแค็บฟอร์เวิร์ดคันแรกคือฟ็อลคส์วาเกิน ทรานสปอร์เตอร์ ซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ. 1952 การออกแบบนี้พบได้บ่อยกว่าในผู้ผลิตรถยนต์ชาวยุโรปและญี่ปุ่น มากกว่าในอเมริกาเหนือ การออกแบบนี้เคยได้รับความนิยมมากกว่าในอเมริกาเหนือในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ตัวอย่างรถแบบดังกล่าว ได้แก่ เชฟโรเลต คอร์แวร์ แรมไซด์และโหลดไซด์, ดอดจ์ เอ-100 และ เอ-108, ฟอร์ด อีโคโนไลน์ และจี๊ป เอฟซี-150 และเอฟซี-170

คำว่า "ดูอัลลี" (dually) เป็นศัพท์ภาษาพูดในทวีปอเมริกาเหนือที่ใช้เรียกรถกระบะที่มีล้อหลังสี่ล้อแทนที่จะมีสองล้อ ทำให้รถประเภทนี้สามารถบรรทุกน้ำหนักบนเพลาล้อหลังได้มากขึ้น ยานพาหนะที่คล้ายกับรถกระบะ ได้แก่ รถยนต์คูเปอเนกประสงค์ (coupé utility) เป็นรถกระบะที่พัฒนามาจากรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกอเนกประสงค์สมรรถนะสูง (sport utility truck - SUT) ที่ใหญ่กว่าซึ่งพัฒนามาจากรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง (SUV)

คำว่ารถกระบะครึ่งตัน สามในสี่ตัน และหนึ่งตันเป็นชื่อที่เหลือมาจากสมัยก่อน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เคยบอกถึงน้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่รถสามารถรับได้[36]

ในอเมริกาเหนือ รถกระบะบางรุ่นอาจถูกทำการตลาดในชื่อเฮฟวีดิวตี (Heavy Duty) เช่นแรม เฮฟวีดิวตี ซูเปอร์ดิวตี (Super Duty) เช่นฟอร์ด ซูเปอร์ดิวตี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เอชดี" (HD) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นรถกระบะที่มีความสามารถในการบรรทุกและ/หรือลากจูงสูงกว่ารถกระบะขนาดมาตรฐานทั่วไป แม้ในอเมริกาเหนือคำเหล่านี้มักมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ดูอัลลี" (รถกระบะล้อคู่หลัง) หรือรถกระบะขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีข้อกำหนดว่ารถเฮฟวีดิวตีจะต้องเป็นรถล้อคู่หรือเป็นรถขนาดใหญ่เสมอไป ตัวอย่างเช่นแรม 2500 หรือฟอร์ด เอฟ-250 ไม่มีรุ่นล้อคู่ และล้อคู่เป็นเพียงตัวเลือกเสริมในแรม 3500 หรือฟอร์ด F-350 แต่รถกระบะเหล่านี้ทั้งหมดก็ยังถือว่าเป็นรถเฮฟวีดิวตี[37][38] มหินทรา โบเลโร MaXX Pik-Up HD เป็นรถกระบะขนาดกลางเฮฟวีดิวตีที่มีความสามารถในการบรรทุกได้ถึงสองตัน[39]

รถกระบะบางรุ่นมีการเปิดที่ด้านหลังของห้องโดยสาร เพื่อเพิ่มความจุในการบรรทุกตามแนวยาวโดยที่ไม่ต้องเพิ่มความยาวโดยรวมของตัวรถหรือระยะฐานล้อ ซึ่งการทำเช่นนี้จะลดมุมคร่อม (break over angle) มุมเข้า (approach angle) มุมจาก (departure angle) และเพิ่มรัศมีวงเลี้ยว คุณสมบัตินี้เรียกว่ามิดเกต (mid-gate) เนื่องจากตำแหน่งที่อยู่ตรงกลางของรถกระบะ ซึ่งต่างจากเทลเกต (tail-gate) หรือฝาท้ายที่อยู่ด้านท้ายของตัวรถ[40]

แบบกระบะบรรทุก

[แก้]
เชฟโรเลต ซี/เค (รุ่นที่ 1) การเปรียบเทียบแบบโป่งข้างและแบบเรียบข้าง
แบบโป่งข้าง (1964)
แบบเรียบข้าง (1965)

กระบะบรรทุกสามารถมีขนาดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่ารถได้รับการปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานบรรทุกสินค้าหรือความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ส่วนใหญ่มีผนังด้านข้างแบบตายตัวและฝาท้ายแบบบานพับ ปกติแล้วกระบะบรรทุกมีสองรูปแบบคือแบบโป่งข้าง (stepside) หรือแบบเรียบข้าง (fleetside) กระบะแบบมีโป่งข้างมีบังโคลนยื่นออกมาด้านนอกพื้นที่บรรทุก เดิมทีสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบังโคลนที่ติดอยู่กับกล่องบรรทุก รูปแบบนี้เคยเป็นการออกแบบมาตรฐานเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า กระบะแบบเรียบข้างมีซุ้มล้ออยู่ภายในกระบะสองชั้น และส่วนใหญ่มักได้รับการออกแบบให้เข้ากับแบบของห้องโดยสาร รถกระบะทั้งสองประเภทนี้ได้รับการตั้งชื่อที่หลากหลายโดยผู้ผลิตต่าง ๆ ชื่อ "สเต็ปไซด์" และ "ฟลีตไซด์" มีต้นกำเนิดมาจากเชฟโรเลต แต่ก็ถูกใช้บ่อยโดยดอดจ์และจีเอ็มซีเช่นกัน จีเอ็มซียังใช้ "ไวด์ไซด์" (Wideside) แทนฟลีตไซด์ ขณะที่ดอดจ์ก็ใช้ "ยูทิไลน์" (Utiline) และ "สเว็ปต์ไลน์" (Sweptline) สำหรับรถกระบะทั้งสองประเภท ฟอร์ดใช้ "แฟลร์ไซด์" (Flareside) และ "สไตล์ไซด์" (Styleside) ตามลำดับ จี๊ปใช้ "สปอร์ตไซด์" (Sportside) และ "ทริฟต์ไซด์" (Thriftside) สำหรับแบบบังโคลนแยก และ "ทาวน์ไซด์" (Townside) สำหรับแบบเรียบข้าง[41] อินเตอร์เนชันแนล ฮาร์เวสเตอร์เรียกกระบะทั้งสองประเภทว่า "สแตนดาร์ด" (Standard) และ "โบนัสโหลด" (Bonus-Load)

รถกระบะเรียบด้านข้างคันแรกคือครอสลีย์ในช่วงทศวรรษ 1940[ต้องการอ้างอิง] ตามด้วยเชฟโรเลต แคมีโอ แคเรียร์ ปี 1955 รถกระบะรุ่นแรก ๆ มีพื้นกระบะเป็นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยเหล็กภายในทศวรรษ 1960 ในหลายส่วนของโลก รถกระบะมักใช้กระบะแบบเปิดข้าง โดยเป็นพื้นเรียบมีแผงบานพับที่สามารถยกขึ้นแยกกันได้ทั้งด้านข้างและด้านหลัง กระบะพื้นเรียบด้านข้างได้ค่อย ๆ แทนที่รูปลักษณ์แบบบังโคลนแยกจากตัวรถแบบเดิมอย่างสมบูรณ์ ครั้งสุดท้ายที่เชฟโรเลตและจีเอ็มซีใช้สเต็ปไซด์คือในซิลเวอราโดและเซียร์รา 1500 ปี 2005 ฟอร์ดใช้แบบแฟลร์ไซด์ครั้งสุดท้ายในเอฟ-150 ปี 2009

ความปลอดภัย

[แก้]

รถกระบะสำหรับผู้บริโภคที่ขายในสหรัฐมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ตั้งแต่ ค.ศ. 1990[42] นอกจากนี้ ขนาดห้องโดยสารยังใหญ่ขึ้นและสูงจากพื้นมากขึ้น รวมถึงขนาดกระจังหน้าและฝากระโปรงก็ใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หมายความว่ารถกระบะมาตรฐานสมัยใหม่มีจุดบอดด้านหน้ายาวกว่ารถยนต์ประเภทอื่นถึง 2.1–3.0 เมตร (7–10 ฟุต) รวมถึงจุดบอดด้านหลังและด้านข้างที่เพิ่มขึ้น ฟอร์ด เอฟ-250 มีฝากระโปรงสูงเกือบ 1.8 เมตร (6 ฟุต) เป็นไปได้ว่าอาจมองไม่เห็นวัตถุขนาดเล็ก เช่น เด็กที่อยู่ห่างจากหน้ารถถึง 4.6 เมตร (15 ฟุต)[43] มีเด็กทั้งหมด 575 คนในสหรัฐเสียชีวิตจากการถูกรถชนด้านหน้า (front-over deaths) ระหว่าง ค.ศ. 2009 ถึง 2019 ส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่ของพวกเขาเอง นี่เป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับสิบปีก่อนหน้า นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และผู้เสียชีวิตที่เป็นคนเดินเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 ระหว่าง ค.ศ. 2011 ถึง 2021 แม้เหตุผลของการเพิ่มขึ้นนี้จะซับซ้อน แต่ Consumer Reports ให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่ามาจากขนาดและความแพร่หลายของรถบรรทุกที่เพิ่มขึ้น[44] ชัก ฟาร์เมอร์ จากสถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง (Insurance Institute for Highway Safety) พบว่ารถกระบะขนาดใหญ่มีความอันตรายถึงชีวิตพอ ๆ กับหรือมากกว่ารถยนต์สมรรถนะสูงและ "...เป็นรถบรรทุกสำหรับใช้งาน และผู้คนไม่ควรใช้มันสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพราะมันคร่าชีวิตผู้ขับขี่คนอื่น ๆ จำนวนมาก"[45]

การใช้งาน

[แก้]
1974 ดอดจ์ ดี200 พร้อมรถบ้าน

ในสหรัฐและแคนาดา รถกระบะถูกใช้เป็นหลักสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร รถกระบะมักถูกทำการตลาดและใช้งานสำหรับความสามารถในการบรรทุก (โดยใช้กระบะท้าย) และการลากจูง (โดยใช้โครงสร้างแบบบอดีออนเฟรม (body-on-frame) และฐานล้อยาว)

รถกระบะยังถูกใช้โดยช่างฝีมือ พ่อค้า และผู้ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งจำนวนมาก พวกมันยังถูกใช้เพื่อเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐ เจ้าของบ้านสามารถเช่ารถกระบะเพื่อขนส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่จากร้านขายเครื่องใช้ในบ้าน

การติดตั้งหลังคาครอบกระบะ (camper shell) บนรถกระบะช่วยให้มีพื้นที่ขนาดเล็กสำหรับการตั้งแคมป์ได้ ส่วนรถบ้านสไลด์อิน (slide-in truck camper) สามารถมอบสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนรถบ้านขนาดเล็กให้กับรถกระบะได้ แต่ยังคงให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกในการถอดออกและใช้งานตัวรถได้อย่างอิสระ[46]

รถกระบะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้เดินทางไกล (overlanders) เนื่องจากมักเป็นยานพาหนะที่ราคาเข้าถึงได้มากที่สุดและสามารถบรรทุกเชื้อเพลิงจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการเดินทางในพื้นที่ห่างไกลเป็นระยะทางไกล และการใช้งานเครื่องปั่นไฟโดยไม่ต้องมีการดัดแปลงที่มีราคาแพง

รถกระบะที่ดัดแปลงแล้วสามารถนำมาใช้เป็นยานรบชั่วคราวที่ไม่มีเกราะป้องกันซึ่งเรียกว่า "เทกนิคอล" (technical)

รถกระบะถูกนำมาใช้เพื่อบรรทุกผู้โดยสารในบางส่วนของทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย สองแถวส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากรถกระบะและรถบรรทุกพื้นเรียบ ในประเทศเฮติ แท็ปแท็ป (tap tap) ก็ดัดแปลงมาจากรถกระบะเช่นกัน

การลากจูงด้วยรถกระบะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ การลากจูงแบบทั่วไป (พ่วงท้าย) และการลากจูงแบบติดตั้งในกระบะ (งานหนัก) การลากจูงแบบทั่วไปจะติดตั้งหัวลากไว้ที่ด้านท้ายรถกระบะ ส่วนการลากจูงแบบติดตั้งในกระบะจะติดตั้งหัวลากไว้เหนือหรือด้านหน้าเพลาล้อหลังโดยตรง หัวลากกระจายน้ำหนักจัดอยู่ในการลากจูงแบบทั่วไป ส่วนหัวลากล้อที่ห้า (Fifth wheel) และหัวลากแบบคอห่าน (Gooseneck) จัดอยู่ในการลากจูงแบบติดตั้งในกระบะ

ขนาด

[แก้]
ในสหรัฐ รถกระบะมีการเติบโตทั้งในด้านขนาดและฟังก์ชันการใช้งาน จากรถที่ใช้ในการทำงานหนักไปจนถึงรถสำหรับครอบครัวที่มีเทคโนโลยีมากมาย[47] ภายในทศวรรษ 2010 รถกระบะขนาดเล็กเกือบจะหายไปและในทศวรรษ 2020 รถบรรทุกขนาดใหญ่เต็มรูปแบบคิดเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของการขายในสหรัฐ[47] กลุ่มผู้สนับสนุนด้านความปลอดภัยมีความกังวลเกี่ยวกับมวลที่มากขึ้นของรถบรรทุกขนาดใหญ่และจุดบอดของผู้ขับขี่[47]

รถบรรทุกเคอิ/ขนาดเล็กมาก

[แก้]

รถบรรทุกเคอิ (Kei) เป็นรถประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีความยาวสูงสุด 3,400 มิลลิเมตร (130 นิ้ว) ความกว้างสูงสุด 1,480 มิลลิเมตร (58 นิ้ว) ความสูงสูงสุด 2,000 มิลลิเมตร (79 นิ้ว) และมีปริมาตรกระบอกสูบสูงสุด 660 ลูกบาศก์เซนติเมตร (40 ลูกบาศก์นิ้ว)[48][49]

ในบางประเทศ รถบรรทุกขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายคลึงกับ หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรถบรรทุกเคอิ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐ รถบรรทุกขนาดเล็กเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของรถกระบะที่มีขนาดเล็กกว่ารถกระบะขนาดใหญ่ (full-size pickups[ต้องการอ้างอิง]

รถอเนกประสงค์หรือยูทีวี (Utility Task Vehicles - UTV) มีขนาดใกล้เคียงกันและมีบทบาทคล้ายคลึงกันในประเทศที่พัฒนาแล้วแต่โดยทั่วไปมักถูกจำกัดให้ใช้งานในพื้นที่นอกถนนและพื้นที่ชนบท[50]

รถกระบะขนาดเล็ก

[แก้]

ทั่วไปแล้ว รถกระบะแบบยูนิบอดี (Unibody) จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็กหรือของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น ฮุนได แซนตาครูซ และฟอร์ด มาเวอริก ซูบารุยังเคยผลิตซูบารุ บาฮาซึ่งพัฒนามาจากรถแวกอน ซูบารุ เอาต์แบ็ก (เลกาซี) อย่างมาก และซูบารุ แบรตซึ่งพัฒนามาจากรถแวกอน ซูบารุ เลโอเน่ โดยใช้โครงสร้างแบบยูนิบอดี[51][52] รถกระบะแบบอื่น ๆ ที่ต่างออกไป ได้แก่ โฮลเดน ครูว์แมนและโฮลเดน วันตันเนอร์ ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถเก๋งแต่ใช้โครงสร้างแบบกึ่งโมโนค็อก (monocoque) และกึ่งแชสซีเฟรม (chassis grame)[53][54]

รถกระบะขนาดกลาง

[แก้]

ทั่วไปแล้ว รถกระบะแบบบอดีออนเฟรม (body-on-frame) มีขนาดใกล้เคียงกับรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดกลาง ตัวอย่างเช่นฟอร์ด เรนเจอร์, โตโยต้า ไฮลักซ์ และอีซูซุ ดีแมคซ์ ซึ่งมักเป็นรถกระบะขนาดใหญ่ที่สุดที่ขายหรือผลิตในประเทศนอกทวีปอเมริกาเหนือ

รถกระบะขนาดใหญ่

[แก้]

เป็นรถกระบะที่มีโครงสร้างแบบบอดีออนเฟรมและมีความกว้างภายนอกมากกว่าสองเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้างและ/หรือโป่งล้อสำหรับล้อคู่)

ไม่มีนิยามชัดเจนว่าอะไรคือขนาดใหญ่เกินกว่าจะเป็นรถกระบะ ส่วนใหญ่มักแบ่งเส้นที่คุณสมบัติหรือกลุ่มเป้าหมายของรถบรรทุกนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เจ้าของส่วนตัวเป็นหลักอีกต่อไป (เช่นฟอร์ด เอฟ-550 และรุ่นที่ใหญ่กว่า) หรือเมื่อจำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับขี่เชิงพาณิชย์ (CDL) ตัวอย่างข้อยกเว้น ได้แก่ อินเตอร์ชันแนล เอกซ์ที, เอฟ 650 [ตามต้นฉบับ] ซูเปอร์ทรักและการดัดแปลงรถหัวลากให้กลายเป็นรถกระบะ

แกลเลอรี

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Pickup". Merriam Webster. สืบค้นเมื่อ 7 August 2014.
  2. "bakkie - definition of bakkie in A Dictionary of South African English - DSAE". dsae.co.za. สืบค้นเมื่อ 2023-10-05.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Mueller, Mike (1999). The American Pickup Truck. p. 9. ISBN 9780760304730.
  4. Porter, Bryan, บ.ก. (2011). Handbook of Traffic Psychology. Elsevier. p. 222. ISBN 9780123819840.
  5. "Vehicle Registration Data". Hedges & Company. สืบค้นเมื่อ 6 February 2016.
  6. Matt, Degan (August 22, 2018). "Pricing Your Next Ford F-150: It Could Cost $60,000 – or More". Kelley Blue Book.
  7. Zuehlke, Jeffrey (2007). Pickup Trucks. LernerClassroom. p. 9. ISBN 978-082256564-2.
  8. Mueller, Mike (1999). Classic Pickups of the 1950s.
  9. "Encyclopedia of American Coachbuilders & Coachbuilding". Coachbuilt. สืบค้นเมื่อ 10 April 2012.
  10. "1918 to 1928 Dodge Brother Pickups". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2019. สืบค้นเมื่อ 26 May 2015.
  11. "The History of Ford Pickups: The Model T Years 1925–1927". PickupTrucks.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2010. สืบค้นเมื่อ 4 June 2009.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Trucking Timeline: Vintage and Antique Truck Guide". สืบค้นเมื่อ 26 May 2015.
  13. "Australia Innovates: The Ute: 1934 vehicle with car cabin and utility tray". Powerhouse Museum. สืบค้นเมื่อ 4 October 2021.
  14. "Toyota Vehicle Identification Manual", Toyota Motor Corporation, Overseas Parts Department, Catalog No.97913-84, 1984, Japan
  15. "Toyota Truck 48HP brochure No. 228". Toyota. Japan. 1954. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2012. สืบค้นเมื่อ 17 June 2011.
  16. "The Evolution Of The Great American Pickup Truck, From 1925 To Today". Daily Detroit. 22 April 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2020. สืบค้นเมื่อ 13 November 2020.
  17. "The 2007 Jeep Wrangler". Allpar. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 6, 2007. สืบค้นเมื่อ 4 June 2007.
  18. "Chevrolet Avalanche press release" (Press release). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2007. สืบค้นเมื่อ 4 June 2007.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Bradsher, Keith (30 November 1997). "Light Trucks Increase Profits But Foul Air More than Cars". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 April 2010.
  20. Hunting, Benjamin (10 March 2009). "Global Vehicles and Thailand Argue Against 'Chicken Tax' On Imported Pickups". Autobytel.
  21. Brown, Warren (13 April 2007). "Greenhouse Real Wheels". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 22 June 2007.
  22. Brown, Warren (29 August 2004). "The Station Wagon Stealthily Returns". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 22 June 2007.
  23. Eddington, Julia (16 July 2015). "Why Trucks Aren't as Safe as Cars". The Zebra. สืบค้นเมื่อ 29 October 2019.
  24. Atiyeh, Clifford (21 March 2019). "Three Pickup Trucks Ace IIHS Crash Tests, Yet Many Aren't As Safe As They Should Be". Car and Driver. สืบค้นเมื่อ 29 October 2019.
  25. "Electric truck". Autocar. US. 14 June 1923. สืบค้นเมื่อ 1 October 2022.
  26. Stumpf, Rob (13 December 2019). "Forget the Cybertruck: Get Yourself a Factory 1997 Chevrolet S-10 Electric Pickup". The Drive (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 1 October 2022.
  27. 27.0 27.1 "Pickup trucks have gotten bigger, higher-tech — and more dangerous". axios.com. สืบค้นเมื่อ 2023-02-02.
  28. "Auto sales reach six-year high of 15.6 million vehicles sold, Ford F-Series takes the lead". NY Daily News. 6 January 2014.
  29. "How Do Europeans View the Ford F-150 Pickup Truck?". Carscoops. 6 June 2013. สืบค้นเมื่อ 20 June 2015.
  30. "Electing the Section 179 Deduction". IRS. สืบค้นเมื่อ 21 December 2016.
  31. Mirani, Leo (31 March 2015). "Mercedes is making a fancy pickup truck—for Europeans". สืบค้นเมื่อ 30 September 2016.
  32. Miller, Daniel (30 September 2016). "Europe's Best-Selling Pickup Might Surprise Americans". The Motley Fool. สืบค้นเมื่อ 30 September 2016.
  33. "Chinese Pickup Truck Sales, Led by Great Wall Wingle, Surged 48% to 378,000 Units in 2010". ChinaAutoWeb.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2012. สืบค้นเมื่อ 25 January 2024.
  34. "Hilux dethroned: SA has new top bakkie". Wheels. 2 December 2014. สืบค้นเมื่อ 6 February 2016.
  35. Mays, Kelsey (16 July 2021). "Which New Cars Have Manual Transmissions?". Cars.com. สืบค้นเมื่อ 8 October 2021.
  36. "Pickup truck buying guide". Consumer Reports. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 May 2015. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  37. "2024 Ford Super Duty® Truck | Pricing, Photos, Specs & More".
  38. "Ram Trucks Australia - 2500/3500 Laramie Crew Cab". Ram Trucks Australia (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). สืบค้นเมื่อ 2024-04-13.
  39. "maxx-hd". auto.mahindra.com (ภาษาอังกฤษ). India. สืบค้นเมื่อ 2024-04-13.
  40. "Great Moments in Midgate History".
  41. Rupp, Steven (2021-02-19). "Stepside vs Fleetside Truck Beds and What's the Difference?". Hot Rod. Motor Trend Group, LLC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-13.
  42. DeGood, Kevin [@kevin_degood] (27 August 2019). "Weight of pickup trucks since 1990" (ทวีต). สืบค้นเมื่อ 11 April 2023 – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  43. Segall, Bob (25 April 2019). "Millions of vehicles have unexpected, dangerous front blind zone". Wthr.com. สืบค้นเมื่อ 11 April 2023.
  44. Kieth, Barry (8 June 2021). "Which New Cars Have Manual Transmissions?". Consumer Reports. US. สืบค้นเมื่อ 11 April 2023.
  45. Samilton, Tracy (14 July 2023). "American muscle cars, large pickups, are most deadly vehicles on road, insurance institute finds". Michigan Radio (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 July 2023.
  46. Stimson, Tom (May 1967). "Campers, 12 ways to add comfort and convenience". Popular Mechanics. Vol. 127 no. 5. pp. 124–127, 228. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  47. 47.0 47.1 47.2 Chase, Will; Whalen, Jared; Miller, Joann (23 January 2023). "Pickup Trucks: From Workhorse to Joyride". Axios. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 January 2025.
  48. "Daihatsu Hijet Truck (S500 series)". J-Spec Imports. Australia. สืบค้นเมื่อ 2023-12-17.
  49. Hawley, Dustin (2022-11-24). "What Is A Kei Truck?". J.D. Power. US. สืบค้นเมื่อ 2023-12-17.
  50. "Ultra-light utility vehicle: Registration, uses and equipment". NSW Government. New South Wales, Australia. 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2024-02-27.
  51. "All SUBARU Baja Models by Year (2003-2006) - Specs, Pictures & History". autoevolution (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
  52. Niedermeyer, Paul (2021-02-26). "Curbside Classic: 1982 Subaru BRAT - The Young Man's Choice Of Pickup In Those Terrible Times". Curbside Classic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
  53. "MODELS info". Crewman (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
  54. NEWTON, GoAutoMedia-BRUCE. "First look: One-Tonner back in black". GoAuto (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
  55. Abel, David (28 July 2014). "Rules have diesel enthusiasts fuming". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  56. Dahl, Melissa (24 July 2014). "Why Pickup Truck Drivers Are Paying $5,000 to Pollute More". Science of Us. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  57. Kulze, Elizabeth (16 June 2014). "'Rollin' Coal' Is Pollution Porn for Dudes With Pickup Trucks". Vocativ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 May 2016. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.

หนังสืออ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Pickup trucks

แม่แบบ:Automobile configuration