ยุทธการหูโข่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยุทธการหูโข่ว เป็นยุทธการที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยเป็นการรบระหว่างเจิงกว๋อพาน แม่ทัพแห่งกองทัพเรือราชสำนักชิง กับสือต๋าไค่ แม่ทัพมือดีของกองทัพกบฎไท่ผิงเทียนกว๋อ[1]

การต่อสู้ในยุทธการหูโข่ว

จุดกำเนิด[แก้]

ในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นการปกครองของชาวต่างชาติ ชาวจีนบางส่วนที่เป็นผู้อนุรักษ์นิยม จึงได้เกิดการต่อต้านขึ้นมา โดยหนึ่งในกบฎที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว (เมืองแมนแดนสันดิ) ซึ่งนำโดย หง ซิ่วเฉฺวียน ซึ่งเผยแพร่หลักคำสอนเพื่อสันติ จนมีผู้คนเข้าร่วมเป็นลูกศิษย์นับพันนับหมื่นคน ซึ่งเมื่อมีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก หง ซิ่วเฉฺวียน จึงก่อการกบฏ โดยใช้ชื่อ ไท่ผิงเทียนกั๋ว โดยเริ่มก่อการที่หมู่บ้านจินเถียน มณฑลกวางสี ในปี ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2394) แผ่ไปเรื่อย ๆ จากกุ้ยหลินถึงฉางซา อิ๋วโจวและอู๋ชัง จนไปยึดเมืองนานกิง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเทียนจิง (ราชธานีสวรรค์) ซึ่งเป็นการก่อตั้งรัฐบาลเพื่อการปกครองภายใต้รัฐบาลใหญ่คือราชวงศ์ชิง ทำให้ทางราชสำนักชิงจัดตั้งกองทัพเพื่อจัดการกับกองทัพของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว[2]

สงครามสองรัฐ[แก้]

ในการทำสงครามระหว่างราชสำนักชิงกับกบฏไท่ผิงนั้น ฝ่ายราชสำนักชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่ทางกบฏไท่ผิงมีอุดมการณ์ที่หนักแน่นกว่า จนในปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) อาณาเขตของกบฏไท่ผิงแผ่ขยายขึ้นมาก ราชสำนักชิงจึงออกหมายประกาศให้หัวเมือง ทำการสร้างกองทัพเพื่อจัดการกับกบฏไท่ผิง โดยใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง นำโดย เจิงกว๋อพาน ซึ่งเป็นขุนนางใหญ่ในราชสำนักชิง[3] ซึ่งรวมพลในมณฑลหูหนาน ตั้งชื่อว่ากองทัพเซียง เพื่อกำจัดกบฏไท่ผิงโดยเฉพาะ โดยยกทัพทั้งทางบกและทางน้ำ เลียบแม่น้ำแยงซีเกียง เพื่อกำจัดกบฏตามหมายประกาศของราชสำนักชิง โดยทางกบฏไท่ผิง ก็ส่งแม่ทัพ สือต๋าไค่ มารับมือกับกองทัพเซียง

ยุทธการที่หูโข่ว[แก้]

สือต๋าไค่ นำกองทัพมาถึงหูโข่ว ซึ่งเป็นปากทางของแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับกองเรืองของกองทัพเซียง ที่ผ่านการตีจิ่วเจียงมาถึงพอดี สือต๋าไค่นำกองทัพไท่ผิงขึ้นสังเกตการณ์บนเนินเพื่อประเมินกองกำลังของกองทัพเซียง ก็พบกับกองเรือที่ยิ่งใหญ่ ที่ประกอบด้วยเรือรบลำใหญ่และเล็กหลายลำ ซึ่งทำงานประสานงานกันได้เป็นอย่างดี แต่สือต๋าไค่ ก็เล็งเห็นว่ากองเรือใหญ่ที่ขาดความรวดเร็ว ส่วนเรือเล็กก็ไม่เหมาะแก่การพักผ่อนหรือเตรียมอาหาร ต้องจัดการด้วยการแยกกองเรือทั้งสองแบบออกจากกันเพื่อเข้าตี[4]

แต่ก็เล็งเห็นว่ากองทัพเรือที่นำโดย เจิงกว๋อพาน เพิ่งผ่านชัยชนะมา ทหารยังมีขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยม ไม่เหมาะแก่การเข้าตี จึงได้ให้ทหารตั้งมั่นที่ปากแม่น้ำ แล้วนำซุงมาลอยเป็นแพ รอบ ๆ แพยังตั้งป้อมรบติดปืนใหญ่ บนบกก็ตั้งค่ายปืนใหญ๋อีกเพื่อเสริมกำลัง ทำให้ฝ่ายกองทัพเรือของเจิงกว๋อพานที่ชนะมาโดยตลอด ทำการมุ่งเข้าตี แต่ไม่สามารถตีให้แตกได้และพ่ายแพ้ไป ประกอบกับในเวลากลางคืน กองทัพไท่ผิงก็ส่งเรือเล็กไปแอบลักลอบจุดไฟเผาเรือของกองทัพราชสำนักชิง ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

เมื่อเป็นเช่นนั้น กองทัพของราชสำนักก็ตีหักป้อมค่ายอย่างเต็มแรง ทำให้กองทัพเรือของไท่ผิงแตกกระเจิงไป แต่สือต๋าไค่ได้นำกองกรวดหินทราย มาใส่เรือแล้วเจาะเรือให้ล่ม ขวางแม่น้ำ เหลือแต่เพียงทางเล็ก ๆ ที่เรือเล็กผ่านไปได้ แม่ทัพเซียวเจี๋ยซันของกองทัพเซียง จึงนำกองเรือเล็กกว่าร้อยลำ ลอดช่องไปแล้วตีกองกำลังไท่ผิงแตกพ่ายอีกครั้ง แล้วกลับมารวมกับกองเรือใหญ่ เมื่อการโจมตีได้ผล ในวันต่อมา เซียวเจี๋ยซัน ก็นำกองเรือกว่าร้อยลำ ทหารอีกกว่า 2,000 คน ผ่านช่องเพื่อตีกองทัพไท่ผิงอีกครั้ง แต่คราวนี้ เมื่อกองเรือเล็กผ่านไปหมด สือต๋าไค่ได้สั่งให้ทหาร นำซุงมาตอกปิดทางหนี เพื่อแยกกองเรือเล็กและกองเรือใหญ่ของกองทัพเซียงออกจากกัน ทำให้สือต๋าไค่สามารถทำลายกองเรือเล็กร้อยกว่าลำของกองทัพเซียงลงได้ และเมื่อถึงกลางคืน ก็ใช้ยุทธวิธีเรือเล็กเข้าโจมตีกองเรือใหญ่ของกองทัพเซียง ซึ่งไม่มีกองเรือเล็กคอยป้องกัน ทำให้กองเรือใหญ่ถูกทำลาย แม่ทัพเจิงกว๋อพานเองก็โดดลงเรือเล็กหนีตายไป

อ้างอิง[แก้]