ยากิซูงิ



ยากิซูงิ (ญี่ปุ่น: 焼杉, แปลตรงตัว 'ไม้ซีดาร์ญี่ปุ่นเผา'[1]) เป็นวิธีการถนอมไม้แบบดั้งเดิมและเก่าแก่มากของญี่ปุ่น[1][2][3] เรียกในภาษาอังกฤษว่า burnt timber cladding ('การเคลือบด้วยไม้เผา') และยังเรียกอีกชื่อว่า ยาเกอิตะ (焼板) อักษร 板 หมายถึง "ไม้กระดาน"
การเผาพื้นผิวไม้ให้ไหม้เกรียมเพียงเล็กน้อยโดยไม่เผาไม้ทั้งชิ้น ทำให้พื้นผิวทนน้ำได้จากกระบวนการคาร์บอนไนเซชัน และในขณะเดียวกันความชื้นของไม้ก็ลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเซลล์ระหว่างกระบวนการทำให้เกิดถ่าน ส่งผลให้ไม้มีความทนทานมากขึ้น[4][5] นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องไม้จากแมลงและเชื้อรา รวมถึงทำให้เป็นวัสดุที่ทนไฟได้ดีอีกด้วย[6]

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยบางกรณีแสดงให้เห็นว่าการเผาไม้เพียงเล็กน้อยไม่ได้ทำให้ไม้มีความทนทานหรือทนไฟมากขึ้น และไม้ก็ยังไม่กันน้ำด้วย[7]
เทคนิคเก่านี้มีความคล้ายคลึงกับวิธีการดัดแปลงไม้ด้วยความร้อนสมัยใหม่หลายประการ[8] ที่ใช้ในยุโรปและที่อื่น ๆ
ประวัติ
[แก้]ยากิซูงิเป็นเทคนิคดั้งเดิมที่ใช้ในพื้นที่ทางตะวันตกของจังหวัดชิงะ ใช้สำหรับไม้ฝาที่ผนังภายนอกและแผ่นไม้กันดินที่ฝังอยู่ใต้ดิน ยากิซูงิไม่ได้นำมาใช้ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ในภาคคันโตทางทิศตะวันออกมีการทำให้ได้ผิวไม้คล้าย ๆ กันด้วยการทาด้วยหมึก การเคลือบพื้นผิวสีดำสนิทนั้นหายากทั่วโลก แต่แหล่งที่มาและเหตุผลที่เป็นที่รู้จักเฉพาะในญี่ปุ่นภาคตะวันตกเท่านั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน[9]
ในปี ค.ศ. 1973 (โชวะที่ 48) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น โยชิโอะ นิชิชิตะ (西下 芳雄) แห่งบริษัท เคียวเอ โมคุไซ โคเกียว (有限会社共栄木材工業 ปัจจุบันคือ บริษัท เคียวเอ โมคุไซ 株式会社共栄木材) ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรสำหรับผลิตยากิซูงิในโรงงาน และเริ่มดำเนินการผลิตเพื่อฟื้นฟูยากิซูงิซึ่งก่อนหน้านั้นได้เสื่อมความนิยมในการใช้เป็นวัสดุผนังภายนอก และเพื่อใช้ไม้ซีดาร์เนื้อหยาบ (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20–30 ซม.) ซึ่งมีการใช้ประโยชน์น้อยมากสำหรับผนังภายนอก หลังจากนั้น ยากิซูงิก็เริ่มถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคทะเลในเซโตะ และฐานการผลิตก็แผ่ขยายไปทั่วญี่ปุ่นภาคตะวันตก และพื้นที่ที่ใช้ก็ขยายไปจนถึงภาคคันไซ รวมถึงจังหวัดโอกายามะและเกียวโต ต่อมา ตามคำแนะนำของนิชิชิตะ ยากิซูงิประเภทหนึ่งที่มีการนำถ่านออกจากพื้นผิวก็แพร่หลายโดยเฉพาะในเกียวโต และมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น หลังจากนั้นวัฒนธรรมการใช้ยากิซูงิก็เป็นที่รู้จักนอกพื้นที่ภาคตะวันตก และปัจจุบันตลาดได้ขยายไปยังต่างประเทศในชื่อ "YAKISUGI" นอกจากนี้ยังมีการออกเสียงว่า "โชซูงิบัง" (焼杉板) ที่ไม่ถูกต้องอย่างแพร่หลาย แต่สาเหตุยังไม่ชัดเจน
วิธีการผลิต
[แก้]กระบวนการผลิตไม้ยากิซูงิมีขั้นตอนดังนี้ ในอดีตช่างไม้จะเผาไม้ยากิซูงิที่หน้างาน[9]
- นำไม้ซีดาร์สามแผ่นประกอบเป็นรูปปริซึมสามเหลี่ยมแล้วมัดด้วยเชือกเปียกเพื่อป้องกันการไหม้ จากนั้นสอดลิ่มระหว่างเชือกกับไม้เพื่อขันให้แน่น
- นำหนังสือพิมพ์ม้วนใส่เข้าไปในปลายเสาสามเหลี่ยมแล้วจุดไฟ ในอดีตจะใช้ขี้เลื่อยแทนหนังสือพิมพ์
- เมื่อตั้งเสาสามเหลี่ยมขึ้นแล้ว ด้านในของแผ่นไม้ซึ่งคล้ายปล่องไฟจะเริ่มไหม้ ในบริเวณที่เปลวไฟอ่อน จะใช้เคียวสอดเข้าไประหว่างแผ่นไม้เพื่อเปิดช่องว่างและให้อากาศเข้าไปได้
- เมื่อพื้นผิวของกระดานสุกพอประมาณแล้ว ให้วางปริซึมสามเหลี่ยมลง คลายเชือกออก แล้วนำไปแช่ในน้ำเพื่อให้เย็นลง เวลาในการเผาประมาณ 5 นาที
ไม้ซีดาร์ที่ไหม้ด้วยเหตุอื่นก็มีขายเช่นกัน ไม้ซีดาร์เผาด้วยมือสามารถอยู่ได้นาน 60 ถึง 70 ปี แต่ไม้ซีดาร์ที่ไหม้จากเหตุอื่นจะมีรอยไหม้ไม่ลึกนัก ดังนั้นชั้นที่ไหม้จะหลุดออกอย่างรวดเร็วและไม่คงทน[9]
ตัวอย่างการใช้งานในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
[แก้]เทรูโนบุ ฟูจิโมริ (藤森 照信) นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปนิก ได้ออกแบบผลงานโดยใช้ไม้ยากิซูงิเช่น อุทยานแมลงโยโระ (養老昆虫館, Yoro Insectarium) และรามุเนะ อนเซ็งกัง (ラムネ温泉館, Ramune Onsenkan)[10]
-
รามุเนะ อนเซ็งกัง (ラムネ温泉館)
-
โคลเฮาส์ (コールハウス)
เคนโกะ คุมะ (隈 研吾) ออกแบบ COMICO ART MUSEUM YUFUIN ซึ่งใช้ไม้ยากิซูงิเป็นผนังด้านนอก[11]
นากามูระ โยชิฟูมิ (中村 好文) และ Lemming House (レミングハウス) ออกแบบพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์อิตามิ จูโซ (伊丹十三記念館) โดยมีผนังด้านนอกที่ทำจากไม้ซีดาร์ที่ไหม้เกรียม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 MacDonald, Deanna (9 กุมภาพันธ์ 2016). Eco Living Japan: Sustainable Ideas for Living Green (ภาษาอังกฤษ). Tuttle Publishing. ISBN 978-1-4629-1845-4.
- ↑ Ebner, David Hans; Barbu, Marius-Catalin; Klaushofer, Josef; Čermák, Petr (2021). "Surface Modification of Spruce and Fir Sawn-Timber by Charring in the Traditional Japanese Method—Yakisugi". Polymers. 13 (10): 1662. doi:10.3390/polym13101662. PMC 8160771. PMID 34065260.
- ↑ Fortini, Amanda (19 กันยายน 2017). "The Latest Design Trend: Black and Burned Wood". The New York Times.
- ↑ "Use This Incredible Technique to Waterproof Wood Furniture". Architectural Digest. 3 พฤศจิกายน 2017.
- ↑ Mehta, Geeta; MacDonald, Deanna (9 กรกฎาคม 2012). New Japan Architecture: Recent Works by the World's Leading Architects (ภาษาอังกฤษ). Tuttle Publishing. ISBN 978-1-4629-0850-9.
- ↑ Steele, James (16 มีนาคม 2017). Contemporary Japanese Architecture: Tracing the Next Generation (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-317-37728-3.
- ↑ Hasburgh, Laura E.; Zelinka, Samuel L.; Bishell, Amy B.; Kirker, Grant T. (16 กันยายน 2021). "Durability and Fire Performance of Charred Wood Siding (Shou Sugi Ban)". Forests. 12 (9): 1262. doi:10.3390/f12091262.
- ↑ "Springer Handbook of Wood Science and Technology (Chapter 16.8. Thermal Wood Modification)". Springer Handbooks. Cham: Springer International Publishing. 2023. pp. 899–906. doi:10.1007/978-3-030-81315-4. ISBN 978-3-030-81314-7. ISSN 2522-8692. S2CID 257902863.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 藤森照信 2009.
- ↑ 二川幸夫 2010.
- ↑ 宮沢洋 2021.
บรรณานุกรม
[แก้]- 藤森照信 (2009). 藤森照信、素材の旅 (ภาษาญี่ปุ่น). 新建築社. pp. 213–225. ISBN 978-4-7869-0216-1.
- 二川幸夫 (2010). 藤森照信読本 (ภาษาญี่ปุ่น). エーディーエー・エディタ・トーキョー. ISBN 978-4-87140-670-3.
- 宮沢洋 (2021). 隈研吾 建築図鑑 (ภาษาญี่ปุ่น). 日経BP. pp. 98–101. ISBN 978-4-296-10885-5.