ยมก
ยมก หรือ ยมกปกรณ์ หรือ มูลยมก เป็นหนึ่งในคัมภีร์ของพระอภิธรรมปิฎก คำว่า ยมก แปลว่า "คู่" ดังในอรรถกถายกตัวอย่างคำว่า ยมกปาฏิหาริย์ หมายถึง ปาฏิหาริย์คู่ หรือคำว่า ยมกสาลา หมายถึง ไม้สาละคู่ เป็นต้น[1] ยมกเป็นคัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และมีการทดสอบความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ เช่น ถามว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, หรือคำถามที่ว่ารูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป, หรือคำถามที่ว่าทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ ดังนี้ [2]
หลักธรรมหลักที่นำมาอธิบายแจกแจงในคัมภีร์ยมกมีทั้งสิ้น 10 หลักธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎกที่แบ่งคัมภีร์ยมกออกเป็น 2 ส่วน หรือ 2 เล่ม เช่นฉบับภาษาไทย จะแบ่งหลักธรรมเป็น 2 ส่วน[3] ในเล่มแรกหลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มแรกมี 7 ข้อ คือ มูล (เช่น กุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้น ๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น ส่วนในเล่ม 2 แบ่งออกเป็น 3 หลักธรรม คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก รวมเป็น 10 ยมก [4]
เนื้อหา
[แก้]หลักธรรมหลักที่นำมาอธิบายแจกแจงในคัมภีร์ยมกมีทั้งสิ้น 10 หลักธรรม อันได้แก่ [5]
- มูลยมก คือ ธรรมเป็นคู่อันเป็นมูล กล่าวถึง กุศลธรรม (ธรรมอันเป็นฝ่ายดี), อกุศลธรรม (ธรรมอันเป็นฝ่ายชั่ว), อัพยากตธรรม (ธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว และนามธรรม (ธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ) [6]
- ขันธยมก คือ ธรรมเป็นคู่ คือขันธ์ หรือขันธ์ 5 อันเป็นส่วนประกอบของร่าง และแจกแจงว่าขันธ์มีบัญญัติว่าอย่างไร (ปัณณัตติวาร) มีวาระว่าด้วยความเป็นไปเช่นไร (ปวัตติวาร) และวาระว่าด้วยการกำหนดรู้ในขันธ์ (ปริญญาวาร) [7]
- อายตนะยมก คือ ธรรมเป็นคู่คืออายตนะ ประกอบด้วยอายตนะ 12 อันได้แก่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ใจ, ธรรม การแจกแจงออกเป็นการบัญญัตินิยามของอายตนะ การความเป็นไป และการกำหนดรู้ [8]
- ธาตุยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือธาตุห้า แบ่งย่อยเป็น 18 ได้แก่ธาตุ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย; รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ; ธาตุ คือ จักขุวิญญาณ, โสตวิญญาณ, ฆานวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ (ธาตุรู้ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย); มโนธาตุ (ธาตุคือใจ), มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ทางใจ), ธัมมธาตุ (ธาตุคือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) [9]
- สัจจยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือสัจจะ อันได้แก่อริยสัจ 4 คือ ทุกขสัจจ์ ความจริงคือทุกข์, สมุทยสัจจ์ ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด, นิโรธสัจจ์ความจริงคือความดับทุกข์, มัคคสัจจ์ ความจริงคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์ แจกแจงเป็น ปัณณัตติวาร, ปวัตติวาร และปริญญาวาร [10]
- สังขารยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือสังขาร หรือการปรุงแต่ง สังขารประกอบด้วย 3 คือ กายสังขาร (เครื่องปรุงกาย), วจีสังขาร (เครื่องปรุงวาจา) และจิตสังขาร (เครื่องปรุงจิต) แจกแจงเป็น 3 ส่วนเหมือนหลักธรรมข้างต้น [11]
- อนุสสัยยมก คือ ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย หรือ กิเลสอันนอนเนื่องด้วยในสันดาน ในยมกประกอบด้วยการแจกแจง 7 วาระ คือ 1) อนุสยวาร วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน 2) สานุสยวาร วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสัย 3) ปชหนวาร วาระว่าด้วยการละ 4) ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ 5) ปหีนวาร วาระว่าด้วยอนุสัยที่บุคคลละได้แล้ว 6) อุปปัชชนวาร วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น 7) ธาตุวาร วาระว่าด้วยธาตุ คือผู้เกิดในธาตุไหน [12]
- จิตตยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือจิต ว่าด้วยลักษณะ และความเป็นไปของจิต เช่น จิตของบุคคล การเกิดดับของจิต จิตที่ผสมด้วยกิเลสและจิตปราศจากราคะ ฯลฯ เป็นต้น [13]
- ธัมมยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือธรรม ว่าด้วย กุศล อกุศล อัพยากฤต และแจกแจงบทอธิบายหลักโดยรวม (นิทเทส), แจกแจงความเป็นไปของธรรมต่าง ๆ (ปวัตติวาร) และว่าด้วยการทำให้เกิดของธรรมต่าง ๆ (ภาวนาวาร) [14]
- อินทรียยมก คือ ธรรมเป็นคู่คืออินทรีย์ ได้แก่ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ประกอบด้วยอินทรีย์ 22 อันได้แก่ 1) จักขุนทรีย์ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในประสาทตา, 2) โสตินทรีย์ การได้ยินเสียง, 3) ฆานินทรีย์ การรู้กลิ่น 4) ชิวหินทรีย์ การรู้รส 5) กายินทรีย์ การสัมผัส 6) มนินทรีย์ การรับอารมณ์ 7) อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง 8) ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย 9) ชีวิตินทรีย์ การรักษารูปและนาม 10) สุขินทรีย์ การเสวยความสุขกาย 11) ทุกขินทรีย์ การเสวยความทุกข์กาย 12) โสมนัสสินทรีย์ การเสวยความสุขใจ 13) โทมนัสสินทรีย์ ความทุกข์ใจ 14) อุเปกขินทรีย์ การเสวยอารมณ์ เป็นกลาง ๆ 15) สัทธินทรีย์ ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ 16) วิริยินทรีย์ ความเพียร 17) สตินทรีย์ การระลึกชอบ 18) สมาธินทรีย์ การตั้งมั่นในอารมณ์เดียว 19) ปัญญินทรีย์ การรู้ตามความเป็นจริง 20) อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ การรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนไม่เคยรู้ 21) อัญญินทรีย์ การรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนเคยรู้ 22) อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นผู้ปกครองในการรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 สิ้นสุดแล้ว ดังนี้ แจกแจงอธิบายเป็น 3 ลักษณะการณ์เหมือนข้างต้น [15] [16] [17]
คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
[แก้]- ยมกปกรณ์อรรถกถา หรือยมกอัฏฐกถา หรือปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆสะ รจนา [18]
- ยมกมูลฎีกา หรือปัญจปกรณืมูบฎีกา หรือ ปรมัตถปกาสินี หรือ ลีนัตถโชติกา ลีนัตถโชตนา และลีนัตถปทวัณณนา พระอานันทะ พระเถระสมัยศตวรรษที่ 6 หรือศตวรรษที่ 8 - 9 รจนา [19]
- ยมกอนุฎีกา หรือปัญจปกรณ์อนุฎีกา หรือลีนัตถวณณนา หรือลีนัตถปกาสินีอนุฎีกา หรืออภิธัมมอนุฎีกา พระจุลลธัมมปาล พระเถระสมัยศตวรรษที่ 6 หรือศตวรรษที่ 8 - 9 รจนา รจนา [20]
- ยมกวัณณนาฎีกา หรือยมกวัณณนา พระติโลกคุรุ เมืองสกายง์ รจนาเมื่อศตวรรษที่ 17 [21]
- ยมกโยชนา หรือยมกอัตถโยชนา พระญาณกิตติ เมืองเชียงใหม่ รจนาเมื่อศตวรรษที่ 15 [22]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๕ ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 18
- ↑ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2535). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า 117
- ↑ Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka หน้า 126
- ↑ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2535). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า 117
- ↑ Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka หน้า 126
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 151 - 152
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 152 -154
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 154 - 155
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 155
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 155 - 156
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 156 - 157
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 157 - 159
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 160 - 161
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 161 - 164
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 164 - 165
- ↑ พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี). วิปัสสนาภูมิ.
- ↑ Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka หน้า 126
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๕ ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 18
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 11.
- พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี). วิปัสสนาภูมิ.
- Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka. Kandy. Sri Lanka. Buddhist Publication Society.
- Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature. Sri Lanka. Buddhist Publication Society.