หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล)
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
หม่อมเจ้า ชั้น 4
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำรงตำแหน่ง1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2529
ก่อนหน้าหม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ ทองใหญ่
ถัดไปเอนก วีรเวชชพิสัย
ประสูติ23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466
สิ้นชีพิตักษัย6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 (79 ปี)
หม่อมหม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์สุภาณี ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์อรอนงค์ ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์อภิรดี ดิศกุล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546) เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีชาวไทย ทรงเป็นบุคคลคนแรกที่พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา จนมีการทวงทับหลังชิ้นกลับคืนสู่ประเทศไทย ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลไทยที่ทรงมีคุณูปการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีไทย

พระประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล มีพระนามลำลองว่า ท่านชายปาน[1] เป็นพระโอรสลำดับที่ 31 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม: สนธิรัตน์) ประสูติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เมื่อทรงพระเยาว์ ช่วงพระชันษา 1–11 ปี ได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

ในปี พ.ศ. 2501 เสกสมรสกับหม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม: อินทรทูต; เป็นบุตรสาวของพระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) กับหม่อมหลวงอรุณ สนิทวงศ์)[2] มีโอรสและธิดาด้วยกัน 4 คนได้แก่[1]

  1. หม่อมราชวงศ์สุภาณี ดิศกุล สมรสกับพรวุฒิ สารสิน มีบุตรธิดาสองคน
  2. หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช ดิศกุล สมรสกับจุไรรัตน์ (สกุลเดิม: ภิรมย์ภักดี) มีบุตรธิดาสามคน
  3. หม่อมราชวงศ์อรอนงค์ ดิศกุล สมรสกับโรจนฤทธิ์ เทพาคำ มีธิดาสองคน
  4. หม่อมราชวงศ์อภิรดี ดิศกุล สมรสกับ พันตรี ศยาม จันทรวิโรจน์ มีบุตรหนึ่งคน

การศึกษา[แก้]

ทรงศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนขัตติยานีผดุง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทาง ด้านอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ ระดับปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อปี พ.ศ. 2491 ศ. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิล (British Council) ให้ไปดูงานเป็นเวลา 3 เดือน ที่พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดี ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงได้รับทุนจากรัฐบาลไทย เข้าศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โรงเรียนลูฟร์ (École du Louvre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ สถาบันโบราณคดี (Institute of Archaeology) มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ศึกษาได้ 2 ปี ยังไม่ได้ทรงจบหลักสูตรปริญญาเอก ก็เสด็จกลับประเทศไทย

ผลงาน และหน้าที่[แก้]

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัย เมื่อเวลา 07.15 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยโรคพระหทัยวาย (หัวใจวาย)

การทำงานเป็นผู้วางรากฐานวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์[แก้]

เดิมศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางอนาคตไปทางสายอาชีพครู จึงทรงศึกษาวิชาครูไว้ก่อนเข้ารับราชการ แต่เมื่อทรงรับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร ก็ทรงมีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่โปรดปราน ทั้งยั้งมีโอกาสได้ทรงศึกษาวิชาเฉพาะทางคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และโบราณคดีในภาษาต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อรวมความรู้จากการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และการที่ทรงค้นคว้าเพิ่มเติมส่วนพระองค์ตลอดเวลา จึงทำให้เป็นเลิศในวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ นับว่าเป็นนักปราชญ์พระองค์หนึ่ง ได้ทรงนำความรู้ทั้งหมดมาสร้างประโยชน์แก่วงการศึกษาไทย ดังนี้

พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ก่อตั้งการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นครั้งแรกในโรงเรียนศิลปศึกษาของกรมศิลปากร ทรงวางหลักสูตรการเรียนวิชานี้เช่นเดียวกับโรงเรียนลูฟร์ นักศึกษาต้องเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไปของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น ในการนี้ต้องทรงจัดทำตำราเรียนให้ด้วย เพราะยังไม่มีตำราภาษาไทยด้านนี้โดยตรง ทรงอุตสาหะแปลตำราจากภาษาต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทั้งยังทรงรับเป็นผู้สอนนักศึกษาด้วย

พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงย้ายจากกรมศิลปากรไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2519–2524 และดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2525–2529 หลังจากทรงเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ตั้ง พ.ศ. 2530–2535 เมื่อพ้นจากตำแหน่งนี้แล้วทรงได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานของกรมศิลปากร และยังทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษแก่สถาบันต่าง ๆ ทรงยุติงานค้นคว้าและงานสอนที่ทรงรักทั้งหมดลงใน พ.ศ. 2540 เนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุทำให้ประชวรหนัก

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลทรงได้รับการขนานพระนามจากบรรดาสานุศิษย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า ท่านอาจารย์ เป็นพระนามที่แสดงถึงความเคารพยกย่องและสนิทสนมรักใคร่ เพราะทรงเมตตาศิษย์อย่างเสมอภาคและวางพระองค์เรียบง่ายไม่ถือยศศักดิ์ สามารถเข้ากับบุคคลทั่วไปได้ทุกระดับชั้น ทรงเต็มพระทัยที่จะถ่ายทอดความรู้และเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ทั้งยังประทานคำแนะนำและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งมาจากการที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าจากหนังสือต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทรงนิพนธ์ตำราและบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เช่น ศิลปะอินเดีย ศิลปะชวา ศิลปะขอม ศิลปะในประเทศไทย เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง Art in Thailand, A Brief History และ Thailand ในชุด Archeaological Mundi ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน เป็นต้น นอกจากทรงนิพนธ์ตำราความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังทรงจัดหาหนังสือทางวิชาการต่าง ๆ มาประทานแก่ห้องสมุดของคณะโบราณคดีตลอดจนห้องสมุดขององค์การสปาฟา (SPAFA) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดียิ่งขึ้นด้วย

การศึกษาที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางรากฐานไว้ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น กล่าวกันว่าเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ นักศึกษาจะได้เรียนวิชาหลักและวิชาที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานแก่การศึกษาขั้นลึกซึ้งต่อไป ทรงเลือกสรรเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชามาเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่นักศึกษา เพื่อให้ได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งและถูกต้อง ในส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นครูที่ตรงต่อเวลา ถ่ายทอดวิชาโดยไม่ปิดบังและมีเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เพิ่มให้ด้วย ทรงพยายามที่จะให้นักศึกษาได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง หากต้องขาดสอนวิชาใด จะทรงสอนชดเชยให้ในวันหยุด ในการฝึกภาคปฏิบัติ อันได้แก่การขุดค้นทางโบราณคดี หรือการเดินทางไปศึกษาโบราณสถานและศิลปะ ณ สถานที่จริงในจังหวัดต่าง ๆ จะทรงเป็นผู้นำและผู้บรรยายให้ความรู้ทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังทรงเอื้ออาทรแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนโดยทรงจัดหาทุนการศึกษาให้จนสำเร็จการศึกษา ด้วยการจัดทัศนศึกษาหรืออื่น ๆ ส่นผู้ที่มีการเรียนดีเด่นด้านใดด้านหนึ่ง หากทรงเห็นว่าจะสามารถเป็นกำลังของชาติในการพัฒนางานด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะทรงจัดหาทุนให้ไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศต่อไป

พระเกียรติคุณของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นที่ยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทรงได้รับเชิญไปร่วมการประชุม และบรรยายในประเทศต่าง ๆ หลายครั้ง ทรงได้รับเชิญไปสอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ทรงได้รับรางวัลในฐานะบุคคลสำคัญระหว่างชาติที่ได้ผลิตผลงานด้านวัฒนธรรมและความรู้เกี่ยวกับทวีปเอเชีย จากเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงได้รับเชิญให้ร่วมงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เช่น เป็นประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นอุปนายกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานมูลนิธิเจมส์ เอส. ดับเบิลยู ทอมป์สัน และนายกสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงมีความสามารถพิเศษในการอธิบายถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจง่าย ดังนั้น จึงมักจะทรงได้รับการทูลขอให้เป็นวิทยากรอบรมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่เสมอ ที่สำคัญคือได้ถวายคำบรรยายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จทอดพระเนตรโบราณวัตถุและโบราณสถานของชาติ และเมื่อมีประมุขของต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาล จะทรงได้รับมอบให้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์นำชุมโบราณวัตถุและโบราณสถาน ทุกครั้งจะทรงปฏิบัติภารกิจเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่มาเยือนอย่างยิ่งด้วยพระเกียรติคุณจึงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของไทย และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะยังมีผลงานด้านอื่นอันสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติอีก แต่ได้ทรงกล่าวไว้ในบทนิพนธ์พระประวัติของพระองค์เองว่า ผลงานหนึ่งที่ทรงภูมิใจที่สุดคือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเป็นพระองค์แรกที่เปิดสอนวิชานี้ในประเทศไทย ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าหลักสูตรของพระองค์ได้สร้างบุคลากรคุณภาพที่มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสมดังที่ทรงมุ่งหมาย[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล". ห้องสมุด ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2014.
  2. "สืบสาย "อินทรทูต" ใน 48 ปีแบงก์บีบีซี"". ผู้จัดการ. มกราคม 1993. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2022.
  3. ฉวีงาม มาเจริญ ใน "ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้วางรากฐานวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์". สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 21. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552. 409 หน้า. หน้า 148–152. ISBN 974-7770-60-1.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๗, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๒, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๕, ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๑๓, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


ก่อนหน้า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถัดไป
พลตรี หม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ ทองใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 10 สมัยที่ 1
(1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2527)
สมัยที่ 2
สมัยที่ 1 อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 10 สมัยที่ 2
(1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2529)
เอนก วีรเวชชพิสัย