มโนราห์ (รำ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มโนราห์ (การแสดง))
โนรา นาฏศิลป์ในภาคใต้ของไทย *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
มโนราห์
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, งานช่างฝีมือดั้งเดิม
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง01587
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2564 (คณะกรรมการสมัยที่ 16)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

มโนราห์, มโนห์รา หรือโดยย่อว่า โนรา เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า “นระ” เป็นภาษาบาลี – สันสกฤต แปลว่ามนุษย์ เพราะการร่ายรำแต่เดิมแล้ว การรำโนราจะรำให้เสมือนกับท่าร่ายรำของเทวดา

มโนราห์มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกายเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่นอก หรือ ปี่ใน และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย เดิมนิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วย[1]

การแต่งกาย[แก้]

  1. เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง (โบราณไม่นิยมให้นางรำใช้) ทำเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ
  2. เครื่องรูปปัด เครื่องรูปปัดจะร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ ประกอบด้วยชิ้นสำคัญ 5 ชิ้น คือ บ่า สำหรับสวมทับบนบ่าซ้าย-ขวา รวม 2 ชิ้น ปิ้งคอ สำหรับสวมห้อยคอหน้า-หลังคล้ายกรองคอหน้า-หลัง รวม 2 ชิ้น พานอก ร้อยลูกปัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พันรอบตัวตรงระดับอก บางถิ่นเรียกว่า"พานโครง"บางถิ่นเรียกว่า"รอบอก" เครื่องลูกปัดดังกล่าวนี้ใช้เหมือนกันทั้งตัวยืนเครื่องและตัวนาง (รำ) แต่มีช่วงหนึ่งที่คณะชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราชใช้อินทรธนู ซับทรวง (ทับทรวง) ปีกเหน่ง แทนเครื่องลูกปัดสำหรับตัวยืนเครื่อง
  3. ปีกนกแอ่น หรือ ปีกเหน่ง มักทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายนกนางแอ่นกำลังกางปีก ใช้สำหรับโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง สวมติดกับสังวาลอยู่ที่ระดับเหนือสะเอวด้านซ้ายและขวา คล้ายตาบทิศของละคร
  4. ซับทรวง หรือ ทับทรวง หรือ ตาบ สำหรับสวมห้อยไว้ตรงทรวงอก นิยมทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายขนมเปียกปูนสลักเป็นลวดลาย และอาจฝังเพชรพลอยเป็นดอกดวงหรืออาจร้อยด้วยลูกปัด นิยมใช้เฉพาะตัวโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ตัวนางไม่ใช้ซับทรวง
  5. ปีก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาง หรือ หางหงส์ นิยมทำด้วยเขาควายหรือโลหะเป็นรูปคล้ายปีกนก 1 คู่ ซ้าย-ขวาประกอบกัน ปลายปีกเชิดงอนขึ้นและผูกรวมกันไว้มีพู่ทำด้วยด้ายสีติดไว้เหนือปลายปีก ใช้ลูกปัดร้อยห้อยเป็นดอกดวงรายตลอดทั้งข้างซ้ายและขวาให้ดูคล้ายขนของนก ใช้สำหรับสวมคาดทับผ้านุ่งตรงระดับสะเอว ปล่อยปลายปีกยื่นไปด้านหลังคล้ายหางกินรี
  6. ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า นุ่งทับชายแล้วรั้งไปเหน็บไว้ข้างหลัง ปล่อยปลายชายให้ห้อยลงเช่นเดียวกับหางกระเบน เรียกปลายชายที่พับแล้วห้อยลงนี้ว่า "หางหงส์"(แต่ชาวบ้านส่วนมากเรียกว่า หางหงส์) การนุ่งผ้าของโนราจะรั้งสูงและรัดรูปแน่นกว่านุ่งโจมกระเบน
  7. หน้าเพลา เหน็บเพลา หนับเพลา ก็ว่า คือสนับเพลาสำหรับสวมแล้วนุ่งผ้าทับ ปลายขาใช้ลูกปัดร้อยทับหรือร้อยทาบ ทำเป็นลวดลายดอกดวง เช่น ลายกรวยเชิง รักร้อย
  8. ผ้าห้อย คือ ผ้าสีต่างๆ ที่คาดห้อยคล้ายชายแครงแต่อาจมีมากกว่า โดยปกติจะใช้ผ้าที่โปร่งผ้าบางสีสด แต่ละผืนจะเหน็บห้อยลงทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าผ้า
  9. หน้าผ้า ลักษณะเดียวกับชายไหว ถ้าเป็นของโนราใหญ่หรือนายโรงมักทำด้วยผ้าแล้วร้อยลูกปัดทาบเป็นลวดลาย ที่ทำเป็นผ้า 3 แถบคล้ายชายไหวล้อมด้วยชายแครงก็มี ถ้าเป็นของนางรำ อาจใช้ผ้าพื้นสีต่างๆ สำหรับคาดห้อยเช่นเดียวกับชายไหว
  10. กำไลต้นแขนและปลายแขน กำไลสวมต้นแขน เพื่อขบรัดกล้ามเนื้อให้ดูทะมัดทะแมงและเพิ่มให้สง่างามยิ่งขึ้น
  11. กำไล กำไลของโนรามักทำด้วยทองเหลือง ทำเป็นวงแหวน ใช้สวมมือและเท้าข้างละหลายๆ วง เช่น แขนแต่ละข้างอาจสวม 5-10 วงซ้อนกัน เพื่อเวลาปรับเปลี่ยนท่าจะได้มีเสียงดังเป็นจังหวะเร้าใจยิ่งขึ้น
  12. เล็บ เป็นเครื่องสวมนิ้วมือให้โค้งงามคล้ายเล็บกินนร กินรี ทำด้วยทองเหลืองหรือเงิน อาจต่อปลายด้วยหวายที่มีลูกปัดร้อยสอดสีไว้พองาม นิยมสวมมือละ 4 นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ)
  13. หน้าพราน เป็นหน้ากากสำหรับตัว "พราน" ซึ่งเป็นตัวตลก ใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่มีส่วนที่เป็นคาง ทำจมูกยื่นยาว ปลายจมูกงุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนที่เป็นตาดำ ให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็นฟันทำด้วยโลหะสีขาว หรือทาสีขาว หรืออาจลี่ยมฟัน (มีเฉพาะฟันบน) ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ดหรือห่านสีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก
  14. หน้าทาสี เป็นหน้ากากของตัวตลกหญิง ทำเป็นหน้าผู้หญิง มักทาสีขาวหรือสีเนื้อ

เครื่องดนตรี[แก้]

  1. ทับ (โทนหรือทับโนรา) เป็นคู่ เสียงต่างกันเล็กน้อย ใช้คนตีเพียงคนเดียว เป็นเครื่องตีที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่ คุมจังหวะและเป็นตัวนำในการเปลี่ยนจังหวะทำนอง (แต่จะต้องเปลี่ยนตามผู้รำ ไม่ใช่ผู้รำ เปลี่ยน จังหวะลีลาตามดนตรี ผู้ทำหน้าที่ตีทับจึงต้องนั่งให้มอง เห็นผู้รำตลอดเวลา และต้องรู้เชิง ของผู้รำ)
  2. กลอง เป็นกลองทัดขนาดเล็ก (โตกว่ากลองของหนังตะลุงเล็กน้อย) 1 ใบทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ
  3. ปี่ เป็นเครื่องเป่าเพียงชิ้นเดียวของวง นิยมใช้ปี่ใน หรือ บางคณะอาจใช้ปี่นอก ใช้เพียง 1 เลา ปี่มีวิธีเป่าที่คล้ายคลึงกับขลุ่ย ปี่มี 7 รูแต่สามารถกำเนิดเสียงได้ ถึง 21 เสียงซึ่งคล้ายคลึงกับเสียงพูด มากที่สุด
  4. โหม่ง คือ ฆ้องคู่ เสียงต่างกันที่เสียงแหลม เรียกว่า "เสียงโหม้ง" ที่เสียงทุ้ม เรียกว่า "เสียงหมุ่ง" หรือ บางครั้งอาจจะเรียกว่าลูกเอกและลูก ทุ้มซึ่งมีเสียงแตกต่างกันเป็น คู่แปดแต่ดั้งเดิมแล้วจะใช้คู่ห้า
  5. ฉิ่ง หล่อด้วยโลหะหนารูปฝาชีมีรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก สำรับนึงมี 2 อัน เรียกว่า 1 คู่เป็นเครื่องตีเสริมแต่งและเน้นจังหวะ ซึ่งการตีจะแตกต่างกับการตีฉิ่ง ในการกำกับจังหวะของดนตรีไทย
  6. แตระ หรือ แกระ คือ กรับ มี ทั้งกรับอันเดียวที่ใช้ตีกระทบกับรางโหม่ง หรือกรับคู่ และมีที่ร้อยเป็นพวงอย่างกรับพวง หรือใช้เรียวไม้หรือลวด เหล็กหลาย ๆ อันมัดเข้าด้วยกันตีให้ปลายกระทบกัน

องค์ประกอบหลักของการแสดง[แก้]

นักแสดงมโนราห์ในอดีต
  1. การรำ นักแสดงต้องรำอวดความชำนาญและความสามารถเฉพาะตน โดยการรำผสมท่าต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องกลมกลืน แต่ละท่ามีความถูกต้องตามแบบฉบับ มีความคล่องแคล่วชำนาญที่จะเปลี่ยนลีลาให้เข้ากับจังหวะดนตรี และต้องรำให้สวยงามอ่อนช้อยหรือกระฉับกระเฉงเหมาะแก่กรณี บางคนอาจอวดความสามารถในเชิงรำเฉพาะด้าน เช่น การเล่นแขน การทำให้ตัวอ่อน การรำท่าพลิกแพลง เป็นต้น
  2. การร้อง นักแสดงต้องอวดลีลาการร้องขับบทกลอนในลักษณะต่าง ๆ เช่น เสียงไพเราะดังชัดเจน จังหวะการร้องขับถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอนรวดเร็ว ได้เนื้อหาดี สัมผัสดี มีความสามารถในการร้องโต้ตอบ แก้คำอย่างฉับพลันและคมคาย เป็นต้น
  3. การทำบท เป็นการอวดความสามารถในการตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องและท่ารำสัมพันธ์กันต้องตีท่าให้พิสดารหลากหลายและครบถ้วน ตามคำร้องทุกถ้อยคำต้องขับบทร้องและตีท่ารำให้ประสมกลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรีอย่างเหมาะเหม็ง การทำบทจึงเป็นศิลปะสุดยอดของโนรา
  4. การรำเฉพาะอย่าง นอกจากความสามารถในการรำ การร้อง และการทำบทดังกล่าวแล้วยังต้องฝึกการำเฉพาะอย่างให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษด้วยซึ่งการรำเฉพาะอย่างนี้ อาจใช้แสดงเฉพาะโอกาส เช่น รำในพิธีไหว้ครู หรือพิธีแต่งพอกผูกผ้าใหญ่ บางอย่างใช้รำเฉพาะเมื่อมีการประชันโรง บางอย่างใช้ในโอกาสรำลงครูหรือโรงครู หรือรำแก้บน เป็นต้น การรำเฉพาะอย่าง มีดังนี้
    1. รำบทครูสอน
    2. รำบทปฐม
    3. รำเพลงทับเพลงโทน
    4. รำเพลงปี่
    5. รำเพลงโค
    6. รำขอเทริด
    7. รำเฆี่ยนพรายและเหยียบลูกนาว (เหยียบมะนาว)
    8. รำแทงเข้
    9. รำคล้องหงส์
    10. รำบทสิบสองหรือรำสิบสองบท
  5. การเล่นเป็นเรื่อง โดยปกติมโนราห์ไม่เน้นการเล่นเป็นเรื่อง แต่ถ้ามีเวลาแสดงมากพอหลังจากการอวดการรำการร้องและการทำบทแล้ว อาจแถมการเล่นเป็นเรื่องให้ดู เพื่อความสนุกสนาน โดยเลือกเรื่องที่รู้ดีกันแล้วบางตอนมาแสดงเลือกเอาแต่ตอนที่ต้องใช้ตัวแสดงน้อย ๆ (2-3 คน) ไม่เน้นที่การแต่งตัวตามเรื่อง มักแต่งตามที่แต่งรำอยู่แล้ว แล้วสมมติเอาว่าใครเป็นใคร แต่จะเน้นการตลกและการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่อง

โนราลงแข่ง (ประชันโรง)[แก้]

การแข่งมโนราห์ หรือ มโนราห์ประชันโรง เพื่อจะพิสูจน์ว่าใครเล่นหรือรำดีกว่า มีศิลปในการรำเป็นอย่างไรการว่ามุตโต (กลอนสด) ดีกว่ากัน ถ้าโรงไหนดีกว่าโรงนั้นก็จะมีคนดูมาก และเป็นผู้ชนะ การแข่งมโนรานี้มีพิธีที่คณะมโนราต้องทำมาก กลางคืนก่อนแข่งมีการไหว้ครูเชิญครู แล้วเอาเทริดผูกไว้ที่เพดานโรง เอาหมาก 3 คำ และจุดเทียนตามเอาไว้ จากนั้นหมอก็ทำพิธีปิดตู (ประตู) กันตู (ประตู) โดยชักสายสิญจน์กันไว้ หมอและคณะจะไม่นอนกันทั้งคืน หมอทำพิธีประพรมน้ำมนต์ไปเรื่อย (หมอประจำโรงต้องจ้างเป็นพิเศษไปกับคณะ สมัยก่อนเมื่อมีการแข่งครั้งหนึ่งหมอจะได้รับค่าจ้าง 1 เหรียญ หรือ 50 เบี้ย)

การเอาเทริดผูกไว้ที่เพดานเพื่อที่จะเสี่ยงทายเอาเคล็ด คือ ให้หันเทริดเวียน 3 ที แล้วคอยดูว่าเมื่อหยุดเทริดจะหันหน้าไปทางไหน ถ้าเทรอดหันหน้าไปทางคู่แข่งมีหมายความว่ารุ่งเช้าจะแข่งชนะ ถ้าเทริดหันไปทางอื่นหมายความว่าแพ้ เมื่อถึงเวลาแข่งก็มีการรำอย่างธรรมดา คือ ออกนางรำทุกๆคน ประมาณ 4-5 คน แล้วก็ถึงตัวมโนราใหญ่ (นายโรง) นายโรงจะออกมารำ แต่ยังไม่สวมเทริดแล้วหมอก็จะนำหน้าลงมาจากโรงเพื่อทำพิธีเวียนโรงเป็นทักษิณาวัด 3 รอบ (ขณะเวียนโรงดนตรีเชิด) หมอถือน้ำมนต์นำหน้า มโนราใหญ่เดินตามหลัง การเวียนโรงทำเพื่อโปรดสัตว์ แผ่เมตตา มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สพเพ สตตา กรุณา อุเบกขา มุทิตา สพเพ สตตา สุขี โหนตุ แผ่เมตตาแก่ผู้ดูและสรรพสัตว์ทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข แล้วก็กลับขึ้นโรงตามเดิม

ท่ารำมโนราห์[แก้]

ท่ารำของโนราที่เป็นหลัก ๆ นั้นเมื่อแกะออกมารวมประมาณ 83 ท่ารำ

  1. ตั้งต้นเป็นประถม
  2. ถัดมาพระพรหมสี่หน้า
  3. สอดสร้อยห้อยเป็นพวงมาลา
  4. เวโหนโยนช้า
  5. ให้น้องนอน
  6. พิสมัยร่วมเรียง
  7. เคียงหมอน
  8. ท่าต่างกัน
  9. หันเป็นมอน
  10. มรคาแขกเต้าบินเข้ารัง
  11. กระต่ายชมจันทร์
  12. จันทร์ทรงกลด
  13. พระรถโยนสาส์น
  14. มารกลับหลัง
  15. ชูชายนาดกรายเข้าวัง
  16. กินนรร่อนรำ
  17. เข้ามาเปรียบท่า
  18. พระรามาน้าวศิลป์
  19. มัจฉาล่องวาริน
  20. หลงใหลไปสิ้นงามโสภา
  21. โตเล่นหาง
  22. กวางโยนตัว
  23. รำยั่วเอแป้งผัดหน้า
  24. หงส์ทองลอยล่อง
  25. เหราเล่นน้ำ
  26. กวางเดินดง
  27. สุริวงศ์ทรงศักดิ์
  28. ช้างสารหว้านหญ้า
  29. ดูสาน่ารัก
  30. พระลักษณ์แผลงศรจรลี
  31. ขี้หนอนฟ้อนฝูง
  32. ยูงฟ้อนหาง
  33. ขัดจางหยางนางรำทั้งสองศรี
  34. นั่งลงให้ได้ที่
  35. ชักสีซอสามสายย้ายเพลงรำ
  36. กระบี่ตีท่า
  37. จีนสาวไส้
  38. ชะนีร่ายไม้
  39. เมขลาล่อแก้ว
  40. ชักลำนำ
  41. เพลงรำแต่ก่อนครูสอนมา
ท่าสิบสอง
  1. พนมมือ
  2. จีบซ้ายตึงเทียมบ่า
  3. จีบขวาตึงเทียมบ่า
  4. จับซ้ายเพียงเอว
  5. จีบขวาเพียงเอว
  6. จีบซ้ายไว้หลัง
  7. จีบขวาไว้หลัง
  8. จีบซ้ายเพียงบ่า
  9. จีบขวาเพียงบ่า
  10. จีบซ้ายเสมอหน้า
  11. จีบขวาเสมอหน้า
  12. เขาควาย
บทครูสอน
  1. ครูเอยครูสอน
  2. เสดื้องกร
  3. ต่อง่า
  4. ผูกผ้า
  5. ทรงกำไล
  6. ครอบเทริดน้อย
  7. จับสร้อยพวงมาลัย
  8. ทรงกำไลซ้ายขวา
  9. เสดื้องเยื้องข้างซ้าย
  10. ตีค่าได้ห้าพารา
  11. เสดื้องเยื้องข้างขวา
  12. ตีค่าได้ห้าตำลึงทอง
  13. ตีนถับพนัก
  14. มือชักแสงทอง
  15. หาไหนจะได้เสมือนน้อง
  16. ทำนองพระเทวดา
บทสอนรำ
  1. สอนเจ้าเอย
  2. สอนรำ
  3. รำเทียใบ่า
  4. ปลดปลงลงมา
  5. รำเทียมพก
  6. วาดไว้ฝ่ายอก
  7. ยกเป็นแพนผาหลา
  8. ยกสูงเสมอหน้า
  9. เรียกช่อระย้าพวงดอกไม้
  10. โคมเวียน
  11. วาดไว้ให้เสมือนรูปเขียน
  12. กระเชียนปาดตาล
  13. พระพุทธเจ้าห้ามมาร
  14. พระรามจะข้ามสมุทร

พิธีกรรม[แก้]

โนราโรงครู[แก้]

โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ

  1. โรงครูใหญ่ หมายถึงการรำโนราโรงครูอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะต้องกระทำต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืนจึงจะจบพิธี โดยจะเริ่มในวันพุธ ไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องกระทำเป็นประจำทุกปี หรือทุกสามปี ทุกห้าปี ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการกันนานและใช้ทุนทรัพย์สูง จึงเป็นการยากที่จะทำได้
  2. โรงครูเล็ก หมายถึงการรำโรงครูอย่างย่นย่อ คือใช้เวลาเพียง 1 วันกับ 1 คืน โดยปกติจะเริ่มในตอนเย็นวันพุธแล้วไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี ซึ่งการรำโรงครูไม่ว่าจะเป็นโรงครูใหญ่หรือโรงครูเล็กก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และความพร้อม การรำโรงครูเล็ก เรียกอีกอย่าง คือ " การค้ำครู "

โนราโรงครูท่าแค[แก้]

การจัดพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค เริ่มตั้งแต่การไหว้พระภูมิโรงพิธีพระ แล้วเข้าโรงในวันแรกซึ่งเป็นวันพุธตอนเย็น จากนั้นจึงทำพิธีเบิกโรง ลงโรง กาศครู เชิญครู กราบครู โนราใหญ่รำถวายครู จับบทตั้งเมือง การรำทั่วไป วันที่สองซึ่งเป็นวันพฤหัสบดีถือเป็นพิธีใหญ่ เริ่มตั้งแต่ ลงโรง กาศโรง เชิญครู เอาผ้าหุ้มต้นโพธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นที่เผาศพและฝังกระดูกของขุนศรีศรัทธา เซ่นไหว้ครูหมอตายายโนราทั่วไป รำถวายครู การรำสอดเครื่องสอดกำไล ทำพิธีตัดจุก ทำพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ พิธีแก้บนด้วยการรำถวายครูและออกพราน พิธีผูกผ้าปล่อย การรำทั่วไปในเวลากลางคืน ส่วนวันที่สาม เริ่มตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครู การรำทั่วไป รำบทสิบสองเพลง สิบสองบท เหยียบเสน ตัดผมผีช่อ รำบทคล้องหงส์ รำบทแทงเข้ รำส่งตายาย เป็นอันเสร็จพิธี

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้[แก้]

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ในการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 16 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนการรำโนราห์ทางภายใต้ของไทย ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Nora, dance drama in southern Thailand" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม) ในประเภท "รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity" นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่สามของประเทศไทย [2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "มารู้จัก "ศิลปะการแสดงของไทย" กันเถอะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-10. สืบค้นเมื่อ 2010-09-13.
  2. Nora, dance drama in southern Thailand
  3. ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Ginsburg, Henry D. "The Menora dance-drama: an introduction". In: Journal of the Siam Society nr. 60. 1972. pp. 169-181.
  • Hemmet, Christine. "Le Nora Du Sud De La Thaïlande: Un Culte Aux Ancêtres." Bulletin De L'École Française D'Extrême-Orient 79, no. 2 (1992): 261-82. Accessed June 17, 2020. www.jstor.org/stable/43731384.
  • Kershaw, Roger. "A Little Drama of Ethnicity: Some Sociological Aspects of the Kelantan Manora." Southeast Asian Journal of Social Science 10, no. 1 (1982): 69-95. Accessed June 17, 2020. www.jstor.org/stable/24490909.
  • "CORRIGENDA: A Little Drama of Ethnicity: Some Sociological Aspects of the Kelantan Manora." Southeast Asian Journal of Social Science 10, no. 2 (1982): 118. Accessed June 17, 2020. www.jstor.org/stable/24490818.
  • Plowright, P. (1998). The Art of Manora: An Ancient Tale of Feminine Power Preserved in South-East Asian Theatre. New Theatre Quarterly, 14(56), 373-394. [doi:10.1017/S0266464X00012458]
  • Sheppard, Mubin. "MANORA in KELANTAN." Journal of the Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society 46, no. 1 (223) (1973): 160-70. Accessed June 16, 2020. www.jstor.org/stable/41492072.
  • Simmonds, E. H. S. “‘Mahōrasop’ in a Thai Manōrā Manuscript.” Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London, vol. 30, no. 2, 1967, pp. 391–403. JSTOR, www.jstor.org/stable/611002. Accessed 24 Apr. 2020.
  • Simmonds, E. H. S. “‘Mahōrasop’ II: The Thai National Library Manuscript.” Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London, vol. 34, no. 1, 1971, pp. 119–131. JSTOR, www.jstor.org/stable/614627. Accessed 24 Apr. 2020.
  • Sooi-Beng, Tan. “The Thai ‘Menora’ in Malaysia: Adapting to the Penang Chinese Community.” Asian Folklore Studies, vol. 47, no. 1, 1988, pp. 19–34. JSTOR, www.jstor.org/stable/1178249. Accessed 24 Apr. 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]