มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประเภท | มูลนิธิ |
---|---|
ก่อตั้ง | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (45 ปี) |
สำนักงานใหญ่ | วังรื่นฤดี 69 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10100 |
บุคลากรหลัก | พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ หม่อมราชวงศ์บุตรี วีระไวทยะ |
เว็บไซต์ | http://www.bsf.or.th http://www.bejaratana-suvadhana.org |
มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เป็นมูลนิธิที่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดตั้งขึ้น ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 เลขทะเบียน 1259 สำนักงานมูลนิธิ ตั้งอยู่ที่วังรื่นฤดี เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมีทุนเริ่มต้น 100,000 บาท[1]
ประวัติ
[แก้]พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงโปรดให้จัดตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เนื่องด้วย ในช่วงทรงมีพระชนมายุมากขึ้น นางข้าหลวงและพระประยูรญาติก็คงเริ่มสังเกตได้ว่าพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงครุ่นคิดเพื่อตอบคำถามในพระหฤทัย เพราะ เมื่อทรงพระชนมายุมากก็ทรงตระหนักพระหฤทัยแน่แล้วว่า จะทรงพระชนมายุไปอีกได้ไม่เท่าใดนัก และทรงมีห่วงในพระหฤทัยอยู่ 2 สิ่ง คือ หนึ่งทรงห่วงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดา จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "หม่อมฉันขอฝากเจ้าฟ้าด้วยนะ เพคะ" ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะทุกครั้ง จึงทรงคลายห่วงข้อนี้ได้ ส่วนห่วงที่สองของพระองค์นั้น คือ ทรงห่วงประชาชน ซึ่งห่วงข้อนี้ทรงตรึกตรองพระหฤทัยมานานนับปี ในที่สุดก็ทรงได้คำตอบในพระหฤทัยข้อนี้ว่า ฉันจะตั้งมูลนิธิ
เมื่อทรงตัดสินพระหฤทัยได้ดังนั้น ก็ทรงปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดาพระองค์เดียวว่าจะทรงจัดตั้งมูลนิธิ โดยทรงพระราชทานนามว่า มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยมีพระราชธิดาเป็นนายกกิตติมศักดิ์และพระองค์เป็นองค์ประธานมูลนิธิ(ไม่ออกพระนาม) จนเมื่อทรงประชวรด้วยพระโรคอัลไซเมอร์จึงทรงมอบตำแหน่งนี้ให้แก่พระราชธิดา จนสิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช พระราชธิดาจึงดำเนินการต่อ
ในปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา สิ้นพระชนม์จากพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลศิริราช ตำแหน่งประธานมูลนิธิและนายกกิตติมศักดิ์จึงว่างลง ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ จึงทรงรับตำแหน่งทั้งสอง
วัตถุประสงค์
[แก้]มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ดำเนินงานการกุศลทุกด้านที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม อาทิ
- สืบสานพระปณิธานตลอดจนเผยแผ่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6
- ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ สงเคราะห์ แก่ผู้สละชีวิต เลือดเนื้อ และร่างกาย เพื่อป้องกันรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- สนับสนุน ส่งเสริม ทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
- ทำนุบำรุงการพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านวัตถุและการศึกษา เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรสืบต่อไป
- บำรุงโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ
- ให้ทุนแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เรียนเก่งและความประพฤติดี ควรได้รับทุนอุดหนุนตามกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษานั้น ๆ และให้ทุนแก่บุคคลใดคณะใดเพื่อได้ศึกษาวิจัยวิทยาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
- บริหารงานวังรื่นฤดีและตำหนักส่วนพระองค์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ตลอดจนจัดกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
- บริหารจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ รวมทั้งการนำทรัพย์สินให้เช่าในระยะยาว
- ดำเนินการสนับสนุนหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อการกุศล และองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์
- ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อการสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง[2]
ประธานกิตติมศักดิ์
[แก้]พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | ลักษณะ | ดำรงตำแหน่ง | สุดตำแหน่ง | รวมเวลา |
---|---|---|---|---|---|
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี | ตลอดพระชนมายุ | พ.ศ. 2522 | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 | 6 ปี |
นายกกิตติมศักดิ์
[แก้]พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | ลักษณะ | ปีเริ่มต้น | ปีสุดตำแหน่ง | รวมปีดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี | ตลอดพระชนมายุ | พ.ศ. 2522 | พ.ศ. 2554 | 32 ปี | |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ | ตลอดพระชนม์ | พ.ศ. 2554 | อยู่ในตำแหน่ง | 10 ปี |
คณะการดำเนินงานเริ่มแรก
[แก้]- หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล ประธานกรรมการ
- พลเอก หลวงสุรณรงค์ กรรมการ
- นายจินตา บุณยอาคม กรรมการ
- นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการ
- นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ กรรมการ
- นายภิญโญ เอครพานิช กรรมการและเหรัญญิก
- นายกิตติ สีหนนทน์ กรรมการและเหรัญญิก
คณะกรรมการของมูลนิธินี้มี จำนวนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๒๐ คน อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี ตามที่ได้จดทะเบียนเป็นครั้งคราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้คณะกรรมการเลือกกันเองเป็นประธานคนหนึ่ง เหรัญญิกคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงกรรมการที่เหลืออยู่นั้น เป็นผู้พิจารณาเลือกบุคคลเข้าเป็นกรรมการซ่อมแทนให้ครบจำนวน เพื่อให้การบริหารงานและกิจการของมูลนิธิดำเนินไปโดยติดต่อกัน หนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการครั้งแรกจะต้องออกจากตำแหน่งโดยวิธีจับฉลาก ในเมื่อกรรมการมูลนิธิชุดแรกได้ทำหน้าที่ครบ ๒ ปี การออกจากตำแหน่งในกรณีนี้ให้ถือว่าเป็นการออกตามวาระ แต่กรรมการที่ออกไปแล้วอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ มูลนิธิอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาได้ตามความเหมาะสม
คณะการดำเนินงานในปัจจุบัน
[แก้]- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์
- นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ประธานกรรมการ
- นายศุภชัย ภู่งาม รองประธานกรรมการ
- นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการ
- นายระพิล จารุดุล กรรมการ
- ม.ล.จารุวัฒนา ชินธรรมมิตร์ กรรมการ
- นายจรรมนง แสงวิเชียร กรรมการ
- นายระพิล จารุดุล กรรมการ
- นางสาวเกล้ามาศ ยิบอินซอย กรรมการ
- ม.ร.ว.ปิยฉัตร ฉัตรชัย กรรมการ
- นายประวีณ กุวานนท์ กรรมการ
- นายชัชพล ไชยพร กรรมการ
- นางพิริยาภรณ์ ธรรมารักษ์ กรรมการและเหรัญญิก
- นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก
- ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ
- นายเชื้อพร รังควร กรรมการและรองเลขาธิการ
ตราประจำมูลนิธิ
[แก้]- อักษร พ สีชมพู หมายถึง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้ประสูติวันอังคาร เป็น นายกกิตติมศักดิ์
- อักษร ส สีม่วง หมายถึง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ผู้ประสูติวันเสาร์ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ
- ภายใต้พระชฎามหากฐินและเลข ๖ หมายถึง ทั้งสองพระองค์เป็นราชนารีในรัชกาลที่ ๖ โดยพระชฎามหากฐินนำมาจากตราประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และ เลข ๖ นำมาจากตราประจำพระองค์พระนางเจ้าสุวัทนาฯ
- ด้านล่าง มีข้อความว่า มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจแต่งตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เป็นนิติบุคคล, เล่ม ๙๗, ตอน ๑ง, ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓, หน้า ๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจแต่งตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เป็นนิติบุคคล, เล่ม ๙๗, ตอน ๑ง, ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓, หน้า ๕๖
บรรณานุกรม
[แก้]- http://www.bejaratana-suvadhana.org/suvadhana.html
- วินิตา ดิถียนต์, ชัชพล ไชยพร. ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, 2550.
- สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เก็บถาวร 2015-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 6 รอบ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- คณะข้าราชบริพารใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี , เฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6, โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2548
- ชัชพล ไชยพร, พระผู้ทรงเป็น “เพชรรัตน” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พระผู้ทรงเป็น “เพชรรัตน” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์