มีตีเตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มีตีเตย์
มีตีเตย์บนเตาย่าง
ชื่ออื่นมิช
มื้อจานหลัก
ภูมิภาคโรมาเนีย
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเนื้อแกะ, เนื้อหมู, เนื้อวัว, ผักชี, หอมใหญ่, กระเทียม, พริกไทยดำ, ไทม์, โซเดียมไบคาร์บอเนต

มีตีเตย์ (โรมาเนีย: mititei, ออกเสียง: [mitiˈtej]) หรือ มิช (mici; ออกเสียง: [mit͡ʃʲ]; ทั้งสองคำแปลว่า "อันเล็ก ๆ") เป็นอาหารโรมาเนีย ประกอบด้วยเนื้อบดปั้นเป็นก้อนทรงกระบอก ทำมาจากส่วนผสมระหว่างเนื้อวัวและเนื้อแกะกับเครื่องเทศ เช่น กระเทียม, พริกไทยดำ, ไทม์, ผักชี, เทียนสัตตบุษย์, เซเวอรี และบางครั้งก็ใส่ปาปริกา นอกจากนี้ยังใส่น้ำโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือน้ำสต๊อกลงไปด้วย มีตีเตย์นี้คล้ายคลึงกันกับเชวาปี ซึ่งพบได้ในแถบบอลข่านและตะวันออกกลาง นิยมเสิร์ฟมีตีเตย์กับเฟรนช์ฟรายส์, มัสตาร์ด และผักดองที่เรียกว่า มูเรอตูร์

มีเรื่องเล่ากันว่ามีตีเตย์ได้รับการคิดค้นขึ้นในปลายศตวรรษที่ 14 โดยมีรากมาจากจักรวรรดิออตโตมัน[1] โดยส่วนผสมบางอย่างได้เลือนหายไปตามกาลเวลา (เช่น เทียนตากบ, ออลสไปซ์) และยังเริ่มมีการนำเนื้อหมูมาใช้ทำด้วย[2][3][4] ส่วนโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงฟูนั้นเพิ่งมาเป็นที่นิยมมากในสูตรอาหารสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มรสชาติและผิวสัมผัสของมีตีเตย์[5]

มีตีเตย์เป็นอาหารที่นิยมไปทั่วทั้งโรมาเนีย มีการประมาณไว้ว่าในโรมาเนียบริโภคมีตีเตย์มากถึง 440 ล้านชิ้นต่อปี และเป็นอาหารที่กินกันทั่วไปทั้งในครัวเรือน ภัตตาคาร และผับบาร์ ในการเฉลิมฉลอง วันแรงงานสากล (1 พฤษภาคม) ของทุกปี ชาวโรมาเนียนิยมออกไปปิกนิกและปิ้งบาร์บีคิวกัน มิชมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับการปิ้งย่างเฉลิมฉลองในโอกาสนี้เป็นพิเศษ ในวันแรงงานสากลเมื่อปี 2019 มีรายงานว่ามีการบริโภคมิชไปถึง 30 ล้านชิ้นในวันนั้นวันเดียว[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Reţeta originală de mici – cum se făceau mititeii acum 100 de ani!". Libertatea. 3 June 2019. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.
  2. Corespondenţi „Adevărul” (14 June 2013). "Povestea micului românesc: cum a ajuns o greşeală culinară dezbatere europeană. Unde se găsesc cei mai buni mici din ţară". Adevărul. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.
  3. Minea, Sorin (14 May 2013). "Scandalul micilor: Rețeta e a noastră sau provine din Turcia?". DC News. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.
  4. Lazăr, Simona (29 April 2017). "Mititei (rețeta din 1872 – varianta "nașului" N.T. Orășanu)". Gastroart.ro. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.
  5. Pantazi, Raluca (7 May 2013). "Marea dezbatere despre micul romanesc: cu bicarbonat sau fara. Ce spun oficialii europeni, guvernul si producatorii romani". hotnews.ro. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.
  6. "Minivacanța de 1 Mai - românii vor pune pe grătar 30 de milioane de mici / Sunt preferați micii din carne de porc şi vită". Hotnews.ro. 29 April 2019. สืบค้นเมื่อ 2 August 2019.