มิอตสึกูชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มิโอะซึคุชิ)

มิอตสึกูชิ (ญี่ปุ่น: 澪標โรมาจิMiotsukushi; แปล:แสวงบุญ ณ ซูมิโยชิ) เป็นบทที่ 14 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

มิโอะซึคุชิ เสาวัดระดับน้ำ

ที่มาของชื่อบท มิโอะซึคุชิ[แก้]

มิโอะ (澪) แปลว่า ทางน้ำ ร่องน้ำ

ชิรุเบะ (標るべ) แปลว่า เครื่องหมาย , วัด

มิอตสึกูชิ (澪標) หมายถึง เสามาตรวัดระดับนำในร่องน้ำไม่ว่าเป็นช่องแคบ คลอง ปากแม่น้ำ หรือในทะเล ที่บ่งบอกว่าเรือจะสามารถผ่านได้หรือไม่[1]

มิอตสึกูชิ 「澪標」ยังเป็นการพร้องเสียงในภาษากวีญี่ปุ่นกับ มิโอะ(โวะ)ซึคุชิ「身を尽くし」ที่แปลว่า มอบให้ด้วยทั้งหมดของหัวใจ อีกด้วย[2]

ในบทนี้ เก็นจิเดินทางไปสักการะศาลเจ้าสุมิโยะชิ ใกล้ๆนะนิวะ เพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ปกป้องคุ้มครองเขา ในวันเดียวกันนั้น อะคะชิโนะคิมิเองก็บังเอิญลงเรือจากอะคะชิมาสักการะเทพสุมิโยะชิเช่นกัน ทว่าชายหาดเต็มไปได้บริวารของเก็นจิ ทำให้นางรู้สึกถึงฐานะอันต่ำต้อยของตน จึงไม่พายเรือขึ้นฝั่ง แต่แล่นเรือผ่านไปยังท่าเรือนะนิวะแทน

ในที่สุดเก็นจิก็ทราบเรื่องขณะที่เขาออกท่องเที่ยวแถบนะนิวะ ที่ๆเขาเห็นเสาวัดระดับน้ำ( มิโอะซึคุชิ )ในร่องน้ำโฮะริเอะ ( Horie ) เก็นจิจึงส่งเพลงยาวไปให้อะคะชิโนะคิมิความว่า

「みをつくし恋ふるしるしにここまでも   めぐり逢ひけるえには深しな」[3]

"Mi o tsukusi kofuru shirushi ni koko made mo  meguri-ahi keru e ni ha fukashi na"

"มิอตสึกูชิ โคฟูรุ ชิรูชิ นิ โคโกะ มาเดะ โมะ เมงูริ-อาฮิ เคะรุ เอะ นิ ฮะ ฟูกาชิ นะ"

ด้วยปรารถนาทั้งดวงหฤทัย ยังให้พี่พบเจ้ากัลยาณี ณ สมุทรวารี เสามาตรหยั่งชลธี ดั่งบ่งชี้ลึกล้ำบุพเพสันนิวาตสองเรา

ศาลเจ้าสุมิโยะชิ[แก้]

สุมิโยะชิไทฉะ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

สุมิโยะชิไทฉะ หรือ ศาลเจ้าใหญ่สุมิโยะชิ (住吉大社, Sumiyoshi-taisha,Sumiyoshi Grand Shrine ) เป็นศาลเจ้าในลัทธิชินโต อยู่ในเขตสุมิโยะชิ ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นศาลหลักของศาลเจ้าบูชาเทพสุมิโยะชิทั่วประเทศญี่ปุ่น

สุมิโยะชิไทฉะ บูชา เทพเจ้า สุมิโยะชิซันจิน ( เทพ 3 พระองค์แห่งสุมิโยะชิ ประกอบด้วย เทพ โซะโคะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ , นะคะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ และ อุวะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ ) และยังบูชา โอะกินะกะตะระชิฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ ( จักรพรรดินีจิงกู ) ทั้งหมดรวมเรียกว่า สุมิโยะชิ โอคะมิ แปลว่า เทพแห่งสุมิโยะชิผู้ยิ่งใหญ่ หรือ อีกชื่อหนึงว่า สุมิโยะชิ โนะ โอคะมิ โนะ มิยะ สถาปัตยกรรมของ สุมิโยะชิไทฉะ เป็นแบบเฉพาะตัวที่เรียกว่า แบบ สุมิโยะชิซึคุริ[4]

ตัวละครหลักในบท[แก้]

  • เก็นจิ  : ขึ้นเป็นไนไดจิน อายุ 28-29
  • พระราชชนนีโคกิเด็ง  : พระราชมารดาของจักรพรรดิสุซะคุ
  • จักรพรรดิสุซะคุ : พระเชษฐาต่างมารดาของเก็นจิ พระชนมายุ 30 ถึง 31
  • วิญญาณของคิริสึโบะอิน  : พระราชบิดาของเก็นจิ และจักรพรรดิสุซะคุ
  • โอะโบะโระซึกิโยะ  : ธิดาคนที่ 6 ของอุไดจิน นางในราชสำนักตำแหน่งไนชิโนะคะมิ(นางสนองพระโอษฐ์ ) อีกนัยหนึ่งคือพระสนมของ จักรพรรดิสุซะคุ
  • มุระซะกิ  : ภรรยาของเก็นจิที่คฤหาสน์บนถนนนิโจ อายุ 20 ถึง 21
  • องค์รัชทายาท  : โอรสของฟุจิตสึโบะ ( บุตรชายลับๆของเก็นจิ )อายุ 10 ถึง 11 ปี ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิเรเซ
  • ฟุจิตสึโบะ  : อดีตจักรพรรดินีในองค์จักรพรรดิคิริสึโบะ อายุ 33 - 34
  • องค์รัชทายาทพระองค์ถัดมา  : พระโอรสของจักรพรรดิสุซะคุกับพระชายาตำหนักโชเคียว ( โชเคียวเด็ง ) อายุ 2-3 ปี
  • พระชายาตำหนักโชเคียว  : พระราชมารดาขององค์รัชทายาทพระองค์ถัดมา
  • ไดโจไดจิน  : ขุนนางผู้สำเร็จราชการ เดิมคือ สะไดจิน พ่อตาของเก็นจิ ขึ้นรับตำแหน่งแทน บิดาที่ล่วงลับของพระชนนีโคกิเด็ง อายุ 62-63
  • โทโนะจูโจ  : เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น กอนไดนะกอน สหายสนิทและพี่ชายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วของเก็นจิ
  • พระชายาตำหนักโคกิในจักรพรรดิเรเซ  : บุตรีของโทโนะจูโจ อายุ 11-12
  • โคไบ  : บุตรชายคนรองของโทโนะจูโจ
  • ยูงิริ  : บุตรชายของเก็นจิกับอะโอะอิ อายุ 11-12
  • อะคะชิโนะคิมิ  : ภรยาคนหนึ่งของเก็นจิ สมรสกันระหว่างที่เก็นจิเทรเทศตัวเองไปหาดสุมะ อายุ 19-20
  • ท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ  : บุตรีแรกเกิดของเก็นจิกับอะคะชิโนะคิมิ
  • นักบวชชราแห่งอะคะชิ  : บิดาที่บวชเป็นพระของอะคะชิโนะคิมิ อายุ 61-62
  • อดีตพระชายาตำหนักเรเค  : พระชายาของจักรพรรดิคิริสึโบะอิน
  • ฮะนะจิรุซะโตะ  : คนรักคนหนึ่งของเก็นจิ น้องสาวของพระชายาตำหนักเรเค
  • เฮียวบุเคียวโนะมิยะ  : องค์ชายเจ้ากรมกลาโหม พี่ชายของฟุจิตสึโบะ และ บิดาของมุระซะกิ
  • โยะชิคิโยะ  : ผู้ติดตามของเก็นจิ
  • โคะเระมิตสึ  : คนสนิท และพี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ
  • อดีตพระชายาแห่งโระคุโจ  : คนรักอายุมากกว่าที่เลิกรากันไปแล้วของเก็นจิ อายุ 35-36
  • อะกิโคะโนะมุ  : บุตรีของพระชายาแห่งโระคุโจ รับตำแหน่งไซกู( องค์หญิงผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าใหญ่เมืองอิเสะ ) อายุ 19 - 20

เรื่องย่อ[แก้]

หลังเก็นจิกลับนครหลวง สิ่งแรกที่เขาทำคือบำเพ็ญกุศลใหญ่ถวายวิญญาณพระราชบิดา อาการเจ็บพระเนตรของจักรพรรดิสุซะคุก็ค่อยๆหายเป็นปกติ พระองค์จึงดำริจะสละราชสมบัติ เดือนสอง องค์รัชทายาทเข้าพิธีเกมปุกุ ราววันที่ 20 ในเดือนเดียวกัน องค์จักรพรรดิสุซะคุสละราชสมบัติ องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเรเซ เก็นจิขึ้นสู่อำนาจราชศักดิ์อันยิ่งใหญ่ในราชสำนัก เขาขอร้องพ่อตาผู้ลาออกจากราชการ กลับมาเป็นไดโจไดจินเพื่อช่วยจักรพรรดิเรเซสำเร็จราชการแผ่นดิน ราวต้นเดือนสาม เก็นจิคิดถึงอะคะชิโนะคิมิผู้กำลังตั้งครรภ์ซึ่งป่านนี้นางคงคลอดแล้ว เขาส่งคนเดินสาส์นไปถามไถ่ที่อะคะชิและได้รับข่าวดีว่า อะคะชิโนะคิมิคลอดบุตรีอย่างปลอดภัยในวันที่ 16 เก็นจิฉุกคิดถึงเรื่องที่หมอดูเคยทำนายชะตาของเขาไว้ว่า เก็นจิจะมีบุตรธิดา 3 คน ทั้งสามจะได้เป็น จักรพรรดิ จักรพรรดินี และ มหาเสนาบดี เก็นจินึกเสียใจที่ปล่อยให้บุตรีต้องกำเนิดนอกนครหลวง เก็นจิคัดเลือกแม่นมด้วยตัวเองและส่งนางไปอะคะชิทันที

ต้นฤดูร้อน ฝนตกไม่ขาดสาย เก็นจิไปหา ฮะนะจิรุซะโตะ นางนั้นต้องพึ่งพาเก็นจิในทุกๆด้าน ถึงแม้เก็นจิจะไม่ใคร่ไปหานาง แต่นางก็ไม่เคยแสดงกิริยาแง่งอน แค้นเคืองเขาสักนิด เก็นจิรู้ว่านางไม่อยากทำให้เขาไม่สบายใจ นางรอการมาของเขาที่ระเบียง เก็นจิดูสง่างามหล่อเหลาภายใต้แสงจันทร์สลัวหมอก เสียงน้ำฝนไหลลงมายังโซ่รางน้ำดังกรุ๋งกริ๋ง ความอ่อนโยนและถ่อมตนของท่านหญิงดอกส้มทำให้เก็นจิยิ่งชื่นชมนาง

ในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เก็นจิเดินทางไปสักการะศาลเจ้าสุมิโยะชิ ขบวนสักการะนั้นช่างดูงดงามอลังการณ์ คนสนิทผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเก็นอย่างโคะเระมิตสึ และ โยะชิคิโยะ ก็อยู่นำในขบวนด้วย บังเอิญ อะคะชิโนะคิมิ ก็ลอยเรือมาสักการะศาลเจ้าในวันเดียวกัน นางรู้สึกถึงฐานันดรที่ต่างกันระหว่างครอบครัวตนกับเก็นจิ รู้สึกทุกข์ทรมานใจเมื่อเห็นความหรูหรายิ่งใหญ่ของขบวนเดินทาง กระทั่งยูงิริ บุตรชายของเก็นจิที่ยังเป็นเด็กมีผู้รับใช้ส่วนตัว บุตรีของนางเองก็ดูมีฐานันดรสูงกว่านาง อะคะชิโนะคิมิตัดสินใจไม่เข้าสักการะเทพสุมิโยะชิในวันนี้ เพราะท่านเทพเจ้าคงยากที่จะเห็นเครื่องบูชาอันเล็กน้อยของนางเมื่อเทียบกับเครื่องบูชาที่หรูหราของเก็นจิ นางจึงหันหัวเรือไปสู่ท่าเรือนะนิวะ ในที่สุดเก็นจิก็ทราบเรื่องขณะที่เขาออกท่องเที่ยวแถบนะนิวะ ที่ๆเขาเห็นเสาวัดระดับน้ำ( มิโอะซึคุชิ )ในร่องน้ำโฮะริเอะ ( Horie ) เก็นจิจึงส่งสาส์นเป็นกวีส่งไปให้อะคะชิโนะคิมิ เพื่อยืนยันความรักที่เขามีต่อนาง

อดีตพระชายาแห่งโระคุโจกลับมายังเมืองหลวง เนื่องจากการผลัดแผ่นดิน อะกิโคะโนะมุพ้นจากตำแหน่งไซกู อดีตพระชายาแห่งโรคุโจป่วยและตายไปโดยฝากฝังบุตรีให้เก็นจิดูแล เก็นจิประกอบพิธีทางศาสนาและไว้ทุกข์ให้นาง ในวันที่ลมแรงที่มีหิมะและลูกเห็บตกหนัก เก็นจิห่วงใยอะกิโคะโนะมุว่านางคงทุกข์ระทม เขาจึงเขียนโคลงด้วยกระดาษสีเทาหม่นด้วยลายพู่กันงดงามส่งไปให้อะกิโคะโนะมุว่า อดีตวิญญาณพระชายาแห่งโระคุโจมารดาของนางจะคอยปกป้องนางอยู่[5]

จักรพรรดิสุซะคุอินผู้สละราชย์นั้น หมายปองอะกิโคะโนะมุ หวังจะได้นางเป็นชายา ทว่าเก็นจิรับนางไปดูแลที่คฤหาสน์นิโจในฐานะบุตรีบุญธรรมเพื่อเตรียมจะถวายตัวเป็นพระชายาของจักรพรรดิเรเซ ด้วยอายุที่มากกว่า จะนอกจากจะเป็นพระชายาแล้ว อะกิโคะโนะมุจะได้คอยดูแลและแนะนำเรื่องต่างๆใหจักรพรรดิเรเซได้อีกด้วย โดยแสร้งทำเป็นไม่รับรู้ความในพระทัยขององค์สุซะคุอิน ไดโจไดจิน ( อดีตสะไดจิน ) เองก็รับหลานสาว ( บุตรีของโทโนะจูโจ ) เป็นบุตรีบุญธรรมเพื่อเพิ่มบารมี และส่งนางเข้าถวายตัวให้จักรพรรดิเรเซ เป็นพระชายาโคกิเด็ง

ศึกษาเพิ่มเติม[แก้]

อ้างอิง[แก้]