บิ๊กซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มินิบิ๊กซี)
บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
ISINTH0280010016 Edit this on Wikidata
อุตสาหกรรมศูนย์การค้า
ก่อตั้งพ.ศ. 2536 (31 ปี)
ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล Edit this on Wikidata
สำนักงานใหญ่88/9 ซอยสมานฉันท์-บาร์โบส ถนนสุขุมวิท 42 (กล้วยน้ำไท) แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
พื้นที่ให้บริการ
ไทย ไทย
ลาว ลาว
กัมพูชา กัมพูชา
ฮ่องกง ฮ่องกง
บุคลากรหลัก
เจริญ สิริวัฒนภักดี (ประธานกรรมการ)
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่)
ผลิตภัณฑ์ศูนย์การค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ
รายได้เพิ่มขึ้น ฿ 120,918 ล้านบาท
(ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1]
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น ฿ 6,372 ล้านบาท
(ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1]
เจ้าของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
พนักงาน
29,394
(ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1]
บริษัทแม่กลุ่มทีซีซี
เว็บไซต์http://www.bigc.co.th
เชิงอรรถ / อ้างอิง
[1]

บิ๊กซี (อังกฤษ: Big C) เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและฮ่องกง บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 และเปิดให้บริการสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันกิจการในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ภายใต้กลุ่มทีซีซี

ประวัติ[แก้]

กลุ่มเซ็นทรัล ได้มีแนวคิดในการขยายธุรกิจออกสู่รูปแบบห้างสรรพสินค้าครบวงจรในที่เดียว (Bigbox Retail) จึงได้เปิดบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด และเปิดให้บริการเซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ สาขาแรกแทนที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาวงศ์สว่าง (ปัจจุบันคือมาร์เก็ต เพลส วงศ์สว่าง) ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2536[2] นับเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่ของประเทศไทยในขณะนั้น ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลจะเปิดบริษัทที่ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ ในนาม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536[3][4][a] และเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในนาม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บนถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2537[5] และเปลี่ยนชื่อ เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ เป็นบิ๊กซีในปีถัดมา รวมถึงในปี พ.ศ. 2539 กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการกลุ่มโรบินสัน และเปลี่ยนชื่อห้างค้าปลีกของกลุ่มโรบินสันในนามว่า "เซฟวัน" ที่รังสิตมาเป็นบิ๊กซีด้วย

บิ๊กซีได้เปิดให้บริการอีก 19 สาขาในทั่วประเทศหลังจากเปิดสาขาแรก แต่ผลจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้บิ๊กซีตัดสินใจหยุดขยายสาขา หลังเปิดให้บริการสาขาที่ 20 ที่เพชรบุรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2541 เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนจากผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้นำมาใช้ในการขยายสาขา ระหว่างนั้นจึงพยายามแสวงหากลุ่มทุนเข้ามาช่วยเหลือ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2542[6] กลุ่มคาสิโน ผู้ประกอบการค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทจำนวน 530 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 66% บิ๊กซีจึงกลายเป็นค้าปลีกต่างชาติเช่นเดียวกับ เทสโก้ โลตัส และ คาร์ฟูร์ ในขณะนั้นโดยสมบูรณ์[7]

ในปี พ.ศ. 2545 บิ๊กซีได้มีการจัดตั้งมูลนิธิบิ๊กซีไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาส โดยในปี พ.ศ. 2559 มูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือเยาวชนไทยเป็นจำนวนเงินรวมนับตั้งแต่ก่อตั้งกว่า 350 ล้านบาท มีการสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนมาแล้ว 44 หลัง การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนกว่า 42,000 ทุน และการส่งเสริมการศึกษาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในปี พ.ศ. 2551 บิ๊กซีได้เริ่มขยายกิจการจากการค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตออกสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา ภายใต้ชื่อ มินิบิ๊กซี และ เพรียว ตามลำดับ[8] ในปี พ.ศ. 2553 บิ๊กซี ได้เปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ บิ๊กซี จูเนียร์ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าทวีกิจ คอมเพล็กซ์ สระบุรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม[6], ในปี พ.ศ. 2561 บิ๊กซี ยังได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขาแรกที่เกทเวย์ แอท บางซื่อ อีกด้วย[9]

ในปี พ.ศ. 2566 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ [10]

การซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย[แก้]

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคาสิโน ได้ชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยราคาซื้อขาย 868 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงิน 35,857 ล้านบาท[b][11]และมีผลทำให้ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น ได้แก่ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งกิจการได้ควบรวมกันเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 และในปี พ.ศ. 2556 บิ๊กซีได้ทำการปรับปรุงคาร์ฟูร์ทั้งหมดเสร็จสิ้น โดยแบ่งออกเป็นรูปแบบคาร์ฟูร์ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้านขนาดใหญ่) จำนวนทั้งหมด 34 สาขาให้กลายเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 13 สาขา, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, บิ๊กซี จัมโบ้ 1 สาขา ที่สำโรง ส่วนในบางสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกันหรือหมดสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่ารายเดิมก็ได้ปิดตัวไปจำนวน 5 สาขา และยังได้ปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ มาร์เก็ต 8 สาขา รวมถึงบิ๊กซี จูเนียร์ 2 สาขาให้เป็น บิ๊กซี มาร์เก็ต และปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ ซิตี้ เป็น มินิบิ๊กซี[12][13]

การขายกิจการให้กลุ่มทีซีซีและกลุ่มเซ็นทรัล[แก้]

ในปี พ.ศ. 2559 กลุ่มคาสิโนได้ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงเปิดประมูลกิจการบิ๊กซีในไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อนำเงินทุนไปชำระหนี้สินของบริษัทฯ โดยมี กลุ่มเซ็นทรัล กับ กลุ่มทีซีซี เข้าร่วมประมูล ซึ่งกลุ่มทีซีซีได้ชนะการประมูลบิ๊กซีในประเทศไทยด้วยมูลค่า 2 แสนล้านบาท[6] และกลายเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 97.94% โดยการซื้อขายหุ้นได้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 และกลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ขายหุ้นที่มีอยู่ในบิ๊กซีทั้งหมดให้กับกลุ่มทีซีซี ทำให้บิ๊กซีกลายเป็นกิจการค้าปลีกของคนไทยอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนคำขวัญเป็น "ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า" นับแต่นั้นมา โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)[1] ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เพียงแค่กิจการในประเทศเวียดนาม ด้วยมูลค่า 3.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มเหงียนคิม ผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ของเวียดนาม[14] โดยสาขาในประเทศเวียดนามทั้งหมดถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "โก!" และ "ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต" ครบทุกสาขาใน พ.ศ. 2566 เนื่องด้วยสิทธิการใช้ชื่อบิ๊กซีของกลุ่มเซ็นทรัลได้หมดลง ทั้งนี้กลุ่มทีซีซีมีความคิดที่จะขยายธุรกิจบิ๊กซีออกไปยังเวียดนามหลังจากสิทธิการใช้ชื่อบิ๊กซีของกลุ่มเซ็นทรัลหมดลงด้วยเช่นกัน[15]

หลังการเข้าซื้อกิจการ 6 ปี ใน พ.ศ. 2565 บีเจซีมีแนวคิดในการแยกบิ๊กซีออกเป็นบริษัทเอกเทศผ่านการระดมทุนสาธารณะด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และกลับเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบีเจซีตั้งเป้าระดมทุนไม่เกิน 18,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนและขายกิจการตามแผนงานที่บีเจซีได้วางไว้ แทนการใช้งบประมาณจากบีเจซีที่ปัจจุบันต้องปันส่วนงบประมาณกว่า 90% มาใช้หมุนเวียนกิจการบิ๊กซีที่ปัจจุบันถือเป็นรายได้หลักของบีเจซี และต่อมาใน พ.ศ. 2566 บีเจซีได้แปรสภาพ บริษัท บีเจซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด ให้เป็น บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ย่อ: BRC) โดยบีเจซีถือหุ้นเองทั้งหมด และได้โอนย้ายกิจการค้าปลีกภายใต้บีเจซี ซึ่งประกอบไปด้วย บิ๊กซี เอเชียบุ๊คส์ กาแฟวาวี ร้านยาเพรียว ร้านยาสิริฟาร์มา รวมถึงโอนธุรกิจ เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส ในประเทศไทย ให้เป็นของบิ๊กซี ภายใต้ชื่อ บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส และโอนธุรกิจ เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต ในประเทศเวียดนามให้อยู่ภายใต้บิ๊กซี

ต่อมาในเดือนเมษายน บีอาร์ซี ได้ยื่นหนังสือชี้ชวนให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พิจารณา และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยรายงานเปิดเผยว่า บีเจซี เสนอขายหุ้น บีอาร์ซี ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 29.98% แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ บิ๊กซี รีเทล ยังมีความคิดที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โดยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการเข้าตลาด

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาสีอาน ในประเทศเวียดนาม

กิจการในต่างประเทศ[แก้]

บิ๊กซี ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศเวียดนามในราวคริสต์ทศวรรษ 2000[15] มีจำนวนสาขาก่อนขายกิจการทั้งสิ้น 36 สาขา ซึ่งภายหลังจากที่คาสิโนได้ขายกิจการให้กลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันบิ๊กซี เวียดนามได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการจากการรีแบรนด์เป็น "โก!", "มินิโก!", และ "ท็อปส์" ในปี พ.ศ. 2565 ในขณะที่กิจการในประเทศลาวทางบีเจซีได้เข้าซื้อกิจการเองทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มทีซีซี ยังได้เริ่มทำการเปลี่ยนชื่อ เอ็มพอยท์มาร์ท ร้านสะดวกซื้อที่บริษัทตั้งขึ้นเองในประเทศลาวทั้งหมด 44 สาขาให้เป็นมินิบิ๊กซีทั้งหมดซึ่งการเปลี่ยนแปลงชื่อได้เสร็จสิ้นในปีต่อมา[16][17] ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 บิ๊กซียังได้เปิดสาขาแรกในประเทศกัมพูชา ที่ปอยเปต โดยใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาทบนเนื้อที่ 20 ไร่ พร้อมพื้นที่ขาย 3,000 ตารางเมตรและพื้นที่เช่า 5,000 ตารางเมตร โดยบิ๊กซียังวางแผนที่จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายแห่งแห่งในพนมเปญและเสียมราฐในอีกสองปีข้างหน้า[18][19]

ต่อมาในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 บิ๊กซี รีเทล ได้เข้าซื้อกิจการ อะเบาไทย (AbouThai) กิจการซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศฮ่องกง จำนวน 24 สาขา ภายใต้งบลงทุน 300 ล้านบาท ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ บิ๊กซีได้เริ่มปรับร้าน AbouThai เป็นบิ๊กซี และเปลี่ยนชื่อบริษัท AbouThai Group เป็น Big C (HK) เพื่อกำหนดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้บิ๊กซีตั้งเป้าเปิดสาขาให้ได้ 99 สาขาใน พ.ศ. 2569 และยังได้ปรึกษากับตลาดหลักทรัพย์ของประเทศฮ่องกงในการนำ Big C (HK) เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในฮ่องกงอีกด้วย

รูปแบบสาขา[แก้]

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาปทุมธานี ในอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขาเกทเวย์ แอท บางซื่อ ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
บิ๊กซี มินิ ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนคชเสนีย์ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
เครื่องหมาย
การค้า
ประเภท พื้นที่ขาย เวลาทำการ ลักษณะ อ้างอิง
บิ๊กซี 4,000 – 12,000 ตรม. 8.00, 9.00, 10.00 น. – 21.00, 22.00, 23.00 ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มุ่งจับลูกค้าทุกระดับ โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอสินค้าหลากหลายที่ประหยัด ให้ความคุ้มค่าสูงสุด รวมถึงบริการที่ประทับใจ และสภาพแวดล้อมในร้านค้าที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด พร้อมด้วยพื้นที่ร้านเช่าและบางสาขายังมีโฮมโปร และโรงภาพยนตร์เปิดทำการร่วมด้วย [13]
บิ๊กซี เพลส ไม่ทราบ 8.00 , 9.00 - 22.00 น. รูปแบบศูนย์การค้าให้เช่า ควบคู่กับไฮเปอร์มาร์เก็ต เดิมเปิดเป็นส่วนต่อขยายจากบิ๊กซี สาขาพระรามที่ 4 บริเวณที่ดินทางทิศตะวันออกของอาคาร ในชื่อ "บิ๊กซี พลาซ่า" ปัจจุบันได้ยกขึ้นเป็นรูปแบบหลักสำหรับสาขาประเภทอาคารอิสระ [19][20]
บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 750 - 2,000 ตรม. 08:00, 09.00, 10.00 – 22.00 น.
24 ชั่วโมง (สามย่านมิตรทาวน์)
รูปแบบร้านที่เน้นการจำหน่ายอาหารสด อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารพร้อมรับประทาน และผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมพื้นที่รับประทานอาหารภายในบริเวณร้าน อนึ่ง บิ๊กซีได้นำตรา "ฟู้ดเพลส" ไปใช้เป็นชื่อแผนกอาหารสดของบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ตบางสาขาด้วย [21]
บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส 750 - 2,000 ตรม. 07.00, 09.00 – 22.00 น. รูปแบบร้านที่เน้นการจำหน่ายอาหารสด สินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อผู้ประกอบการภายใต้แนวคิด สด สะอาด ปลอดภัย ราคาขายส่ง เป็นการปรับภาพลักษณ์มาจาก เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส เดิม [22]
บิ๊กซี มินิ เฉลี่ยประมาณ 160 ตรม. เปิด 24 ชั่วโมง รูปแบบร้านสะดวกซื้อที่เน้นความสะดวกสบาย มีจุดเด่นที่จำหน่ายอาหารสดเช่นเดียวกับไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อตอบสนองความต้องการของนักชอปปิ้งรายวัน ยังมีบริการต่าง ๆ เช่น เคาท์เตอร์เซอร์วิส แรบบิทเซ็นเตอร์ เป็นต้น มีสาขาอยู่มากกว่า 1,000 สาขา [13][23]
เพียว ประมาณ 45 ตรม. 6.00, 7.00, 8.00, 9.00 – 21.00, 22.00, 23.00, 24.00 น.
24 ชั่วโมง (สามย่านมิตรทาวน์)
ร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพและความงาม มีสินค้าประมาณ 2,000 รายการ โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตและบิ๊กซีมาร์เก็ต แต่ก็ได้มีบางสาขาที่เปิดอย่างเป็นเอกเทศ [13]

ในอดีต[แก้]

ประเภท พื้นที่ขาย ลักษณะ อ้างอิง
เอ็กซ์ตร้า 4,000 – 12,000 ตรม. ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มุ่งจับลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงบน โดยนำเสนอสินค้าพรีเมี่ยม อาหารสด และอาหารแห้งที่หลากหลาย รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ สินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ไวน์ และสินค้าพิเศษอื่น ๆ อย่างไรก็ตามสาขาเอ็กซ์ตร้าทั้งหมด ถูกยุบให้กลายเป็น บิ๊กซี เพลส ใน พ.ศ. 2565 ยกเว้นสาขาเมกาซิตี้ บางนา ที่ยังคงใช้ตราเอ็กซ์ตร้าเช่นเดิม [13]
จัมโบ้ 10,000 ตรม. เป็นร้านค้าแบบขายส่ง ภายใต้แนวคิด “พบทุกอย่างที่นี่ ที่เดียว” โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง ผู้ประกอบการรายย่อย บริษัท สถาบันและครอบครัวใหญ่ เปิดสาขาแรกที่สำโรง ซึ่งเป็นการเข้ามาแทนที่คาร์ฟูร์เดิม และเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาโดยการปรับเปลี่ยนมาจากบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่ราษฎร์บูรณะและนวนคร อีกทั้งยังมี บิ๊กซี จัมโบ้สเตชัน ซึ่งเป็นรูปแบบขนาดเล็กของบิ๊กซี จัมโบ้ซึ่งเปิดอยู่ในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาพัทยา และ อยุธยา ปัจจุบันสาขาทั้งหมดถูกปรับเปลี่ยนเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ [13]
มาร์เก็ต 750 – 2,000 ตรม. สาขาขนาดกลางเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในชุมชนที่ต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน เปิดสาขาแรกที่ทวีกิจ คอมเพล็กซ์ จังหวัดสระบุรี ต่อมาได้ปรับรูปแบบเป็น บิ๊กซี ฟู้ดเพลส [24][25]
ดีโป้ 750 – 2,000 ตรม. ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มกลางถึงล่าง มีสินค้าประมาณ 8,000 – 15,000 รายการ ทั้งอาหารสด ของใช้ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทั้งรูปแบบสาขาปกติทั่วไป และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2565 สาขาทั้งหมดถูกยุบให้กลายเป็น บิ๊กซี ฟู้ดเพลส [13]
ลีดเดอร์ไพรซ์ 150 – 500 ตรม. ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มล่างที่ต้องการสินค้าราคาประหยัด มีสินค้ากว่าหลายพันรายการที่ใช้ตรา ลีดเดอร์ไพรซ์ มีทั้งสาขารูปแบบปกติและสาขาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า อย่างไรก็ดีด้วยความนิยมของตราที่เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ใน พ.ศ. 2548 บิ๊กซีได้พยายามเปลี่ยนตราลีดเดอร์ไพรซ์มาใช้ตรา ลีดเดอร์ไพรซ์ บาย บิ๊กซี เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น พร้อมทั้งนำสินค้าตราดังเริ่มวางจำหน่ายในสาขาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ใน พ.ศ. 2551 บิ๊กซีได้ตัดสินใจยุบตรานี้ พร้อมทั้งปิดร้านลีดเดอร์ไพรซ์ไปจำนวนหนึ่ง โดยที่อีกจำนวนหนึ่งได้ปรับเป็นร้าน บิ๊กซี มินิ แทน [26][27]

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[28] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต ชนะ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "รายงานประจำปี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2559". ไฟล์ PDF สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  2. "ย้อนตำนาน 27 ปี "บิ๊กซี" แจ้งเกิดกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันอยู่ในมือเสี่ยเจริญ". mgronline.com. 2020-01-24.
  3. ข้อมูลนิติบุคคล : บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)[ลิงก์เสีย] แหล่งค้นหาข้อมูลนิติบุคคล และประเภทธุรกิจในประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  4. ข้อมูลการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2020-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซค์สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผูบริโภค สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  5. ข้อมูลบิ๊กซี สาจาแจ้งวัฒนะ bigc.co.th ผ่านทาง web.archive.org สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  6. 6.0 6.1 6.2 ย้อนตำนาน 27 ปี “บิ๊กซี” แจ้งเกิดกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันอยู่ในมือเสี่ยเจริญ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 เขียนโดย กิตตินันท์ นาคทอง สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  7. BIG C เติบโตภายใต้ทักษะของ CASINO นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2545 ผ่านทาง web.archive.org เขียนโดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  8. "รายงานประจำปี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2551". ไฟล์ PDF สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  9. "BigC Foodplace เกตเวย์ บางซื่อ เจอกันวันพรุ่งนี้ พลาดไม่ได้". เพจ ฺBig C บนเฟซบุ๊ก.คอม ลงไว้ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สืบค้นเทื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  10. "บอร์ด BJC อนุมัติแผนนำหุ้น "บิ๊กซี รีเทล" IPO ไม่เกิน 29.98%". prachacha. มติชนปากเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 27 March 2023.
  11. ["คาร์ฟูร์" ปิดฉากทำธุรกิจในไทย ตกลงขายกิจการให้ "บิ๊กซี" กว่า 3.5หมื่นล้าน มติชนออนไลน์ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ผ่านทาง web.archive.org สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  12. "รายงานประจำปี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2555". ไฟล์ PDF สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 "รายงานประจำปี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2556". ไฟล์ PDF สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  14. ‘เซ็นทรัล’ ฮุบบิ๊กซีเวียดนาม ฐานเศรษฐกิจ เผยแพร่เมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  15. 15.0 15.1 “BJC” เตรียมดึงแบรนด์ “บิ๊กซี” ในเวียดนามคืน หลังเครือเซ็นทรัลหมดสัญญาใน 3 ปี positioningmag.com เผยแพร่เมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สืบค้นเมื่อ 8 กรกรฎาคม พ.ศ. 2563
  16. "ลาก่อน..M-Point Mart mini BigC มาแล้ว!!". เพจเป็นเรื่อง...เป็นลาว ลงไว้ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2561 สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 หมายเหตุ : มีรูปภาพที่น่าเชื่อได้ว่าเริ่มมีการเปลี่ยนเปลี่ยนตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2561
  17. ตลาดเพื่อนบ้านคึกคัก “บิ๊กซี” ปี 2563 ลงทุน 1,500 ล้าน ระดมเปิดสาขากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม positioningmag.com เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  18. Big C spreading hypermarkets around bangkokpost.com 5 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  19. 19.0 19.1 “บิ๊กซี” ยึดปอยเปต 3 พันตร.ม. ผุดโมเดลใหม่ดึง “ยูนิโคล่” เสริมความแรง เขียนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561 prachachat.net สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  20. "เจาะยุทธศาสตร์ 5 ปี "บีเจซี บิ๊กซี" ขยายอาณาจักรธุรกิจครองอาเซียน-รุกจีน". bangkokbiznews. 2022-04-17.
  21. ข้อมูลองค์กร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) bigc.co.th สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  22. ข้อมูลองค์กร บริษัท บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด bigc.co.th สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
  23. 1,000 สาขาแล้ว !  มินิบิ๊กซี “สะดวก ใกล้บ้านคุณ” springnews.co.th เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  24. "BIGCเปิดสาขาจูเนียร์แห่งแรกที่สระบุรี จับมือห้างท้องถิ่นเจาะระดับชุมชน". ryt9.com.
  25. "ย้อนตำนาน 27 ปี "บิ๊กซี" แจ้งเกิดกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันอยู่ในมือเสี่ยเจริญ". mgronline.com. 2020-01-24.
  26. "บิ๊กซีเลิกยื้อแล้วรื้อทิ้งลีดเดอร์ไพรซ์ ปรับสู่มินิบิ๊กซีลั่นสิ้นปีโตตามเป้า10%". mgronline.com. 2007-05-20.
  27. "กลยุทธ์การตลาด:ร้านเฮาส์แบรนด์ Leader Price ไยไม่สำเร็จ - gotomanager.com". info.gotomanager.com.[ลิงก์เสีย]
  28. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า บริษัทฯ จดทะเบียนในวันดังกล่าว แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัทฯ ทำการซื้อขายหุ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535
  2. คิดในอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ในอัตรา 1 ยูโร ต่อ 41.31 บาท

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]