มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มินาโมโตะ โยริโตโมะ
源頼朝
ปฐมโชกุนแห่งคามากูระ
พ.ศ. 1735 - 1742
ระยะเวลา7 ปี
ก่อนหน้าตำแหน่งใหม่
ถัดไปมินาโมโตะ โนะ โยริอิเอะ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 พฤษภาคม ค.ศ. 1147(1147-05-09)
อสัญกรรม9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1199 (51 ปี 276 วัน)
บิดามินาโมโตะ โนะ โยชิโตโมะ
มารดาฟูจิวาระ ซูเอโนริ แห่งมูซูเมะ
มิไดภริยาเอก: โฮโจ มาซาโกะ
อดีตภริยาเอก: เจ้าหญิงยาเอะ
สนม: คาเมโนมาเอะ, ไดชิน โนะสึโบเนะ, โทเนโนะสึโบเนะ
บุตร-ธิดามินาโมโตะ โนะ โยริอิเอะ
มินาโมโตะ โนะ ซาเนโตโมะ
ตระกูลมินะโมะโตะ

มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ (みなもと の よりとも Minamoto no Yoritomo หรือ 源 頼朝 Minamoto Yoritomo) หรือ โยริโตโมะแห่งมินาโมโตะ เป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ และดำรงตำแหน่งโชกุนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1192 - 1199[1]

ประวัติ[แก้]

มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1147 ที่เมืองอะสึดะ[2][3][4] (熱田) แคว้นโอะวะริ (尾張) ใกล้กับเมืองนะโงะยะ จังหวัดไอจิในปัจจุบัน โยะริโตะโมะเกิดในตระกูลเซวะเง็นจิ (清和源氏) หรือตระกูลคะวะชิเง็นจิ (河内源氏) ซึ่งเป็นตระกูลซะมุไรที่มีชื่อเสียงและผลงานอย่างมากในสมัยเฮอัง โยะริโตะโมะเป็นบุตรชายคนที่สามของมินะโมะโตะ โนะ โยะชิโตะโมะ (源義朝) ซึ่งเป็นโทเรียว หรือประมุขแห่งตระกูลเซวะเง็นจิ ซึ่งเกิดกับนางยุระ-โงเซ็ง (由良御前) ภรรยาเอกของโยะชิโตะโมะ ซึ่งเป็นบุตรสาวของฟุจิวะระ โนะ ซุเอะโนะริ (藤原季範) นางยุระเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในองค์หญิงมุเนะโกะ พระธิดาในจักรพรรดิโทะบะ โยะริโตะโมะเมื่อแรกเกิดได้รับชื่อว่า โอะนิมุชะ (鬼武者) มีพี่ชายต่างมารดาจำนวนสองคนได้แก่ มินะโมะโตะ โนะ โยะชิฮิระ (源義平) และ มินะโมะโตะ โนะ โทะโมะนะงะ (源朝長) มีน้องชายต่างมารดาอีกหกคน ที่เหลือรอดเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้แก่ มินะโมะโตะ โนะ โนะริโยะริ (源範頼) และมินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะ (源義経) และมีน้องสาวมารดาเดียวกันคือ นางโบมง-ฮิเมะ (坊門姫) เมื่อเติบโตขึ้นโอะนิมุชะจึงเข้าพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า โยะริโตะโมะ

กบฏโฮเง็ง[แก้]

ในปี ค.ศ. 1156 ความขัดแย้งในราชสำนักได้ปะทุเกิดเป็นสงครามกลางเมือง เมื่ออดีตจักรพรรดิโทะบะ และพระราชโอรสของพระองค์ จักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะ ทรงสนับสนุน ไทระ โนะ คิโยะโมะริ (สมาชิกตระกูลไทระ) และ ฟุจิวะระ โนะ ทะดะซะเนะ บุตรชายของฟุจิวะระ โนะ ทะดะมิชิ ผู้สำเร็จราชการ ในขณะที่อดีตจักรพรรดิซุโตะกุ สนับสนุนบุตรชายของทะดะซะเนะ ฟุจิวะระ โนะ โยะรินะงะ ซึ่งสงควรามกลางเมืองนี้รู้จักกันในชื่อ กบฏโฮเง็ง (保元の乱 โฮเง็ง โนะ รัง)

ความขัดแย้งทำให้ตระกูลมินะโมะโตะถูกแยกออกเป็นสองฝ่าย คือทะเมะโยะชิ ประมุขของตระกูลก็ตัดสินใจที่จะอยู่ฝ่ายอดีตจักรพรรดิซุโตะกุ ในขณะที่บุตรชายของเขา โยะชิโตะโมะเลือกที่จะอยู่ข้าง อดีตจักรพรรดิโทะบะ และจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายของจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะก็ได้รับชัยชนะ และอดีตจักรพรรดิซุโตะกุก็ถูกกักบริเวณ ในการนี้ ฟุจิวะระ โนะ โยะรินะงะได้รับบาดเจ็บสาหัสในการรบ และทะเมะโยะชิถูกประหารชีวิต ดังนั้นแล้ว โยะชิโตะโมะจึงได้ขึ้นเป็นประมุขของตระกูลมินะโมะโตะ ในขณะที่โยะริโตะโมะก็กลายเป็นทายาทของตระกูล

กบฏเฮจิ[แก้]

โยะริโตะโมะเริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุได้สิบสองปีในค.ศ. 1158 เป็นทหารองค์รักษ์ในพระราชวัง ในค.ศ. 1159 นางยุระผู้เป็นมารดาได้เสียชีวิตลง ในปีเดียวกันนั้นเองได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตระกูลเซวะเง็นจิ ซึ่งนำโดยมินะโมะโตะ โนะ โยะชิโตะโมะ กับตระกูลอิเซะเฮชิ (伊勢平氏) หรือตระกูลไทระซึ่งนำโดย ไทระ โนะ คิโยะโมะริ (平清盛) เรียกว่า กบฏเฮจิ (平治の乱) โยะริโตะโมะได้เข้าร่วมรบกับบิดาและพี่ชายทั้งสองของตน จนกระทั่งทัพของตระกูลมินะโมะโตะถูกหลอกล่อให้ไปติดกับดักที่โระกุฮะระและถูกตีแตกพ่ายไป โยะริโตะโมะจึงหลบหนีเข้าป่าร่วมกับบิดาและพี่ชายทั้งสอง ปรากฏว่าโทะโมะนะงะบาดเจ็บสาหัสและถูกบิดาสังหาร โยะชิโตะโมะผู้เป็นบิดาถูกข้ารับใช้คนสนิทสังหาร โยะชิฮิระถูกจับกุมและประหารชีวิต ส่วนโยะริโตะโมะหลงทางอยู่ในป่าผู้เดียวและถูกจับกุมในเวลาต่อมา แต่ด้วยคำขอของนางอิเกะ-โนะ-เซ็นนิ (池禅尼) มารดาเลี้ยงของไทระ โนะ คิโยะโมะริ โยะริโตะจึงได้รับการไว้ชีวิต เนื่องจากโยะริโตะโมะมีลักษณะคล้ายคลึงกับไทระ โนะ อิเอะโมะริ (平家盛) บุตรชายของนางอิเกะที่เสียชีวิตไปแล้ว ในค.ศ. 1160 เมื่ออายุ 14 ปี โยะริโตะโมะจึงถูกเนรเทศไปยังฮิรุงะชิมะ (蛭ヶ小島) แคว้นอิซุ (伊豆) ในจังหวัดชิซุโอะกะในปัจจุบัน

ถูกเนรเทศ[แก้]

โยะริโตะโมะใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นที่แคว้นอิซุ อยู่ภายใต้ความดูแลของอิโต ซุเกะชิกะ (伊東祐親) โดยมีแม่นมคือนางฮิกิ-โนะ-อะมะ (比企尼) และมีข้ารับใช้คนสนิทคือ โทกุโร่ (藤九郎) หรือต่อมาได้รับชื่อว่า อะดะชิ โมะรินะงะ (安達盛長) ครั้งหนึ่งในขณะที่อิโต ซุเกะชิกะ เดินทางไปยังเมืองเคียวโตะ โยะริโตะโมะได้แอบลักลอบมีความสัมพันธ์กับนางยะเอะ-ฮิเมะ (八重姫) บุตรสาวของซุเกะชิกะ จนนางยะเอะคลอดบุตรชายชื่อว่า ชิซึรุ-มะรุ (千鶴丸) เมื่อซุเกะชิกะกลับมาแคว้นอิซุพบว่าบุตรสาวของตนมีบุตรกับโยะริโตะโมะก็กลัวว่าตนจะถูกตระกูลไทระลงโทษ จึงนำเด็กทารกไปโยนทิ้งน้ำเสียชีวิตไปเสีย และวางแผนลอบสังหารโยะริโตะโมะ เมื่อทราบข่าวโยะริโตะโมะจึงหลบหนีออกจากที่พักย้ายไปอยู่ในความดูแลของโฮโจ โทะกิมะซะ (北条時政) ซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นอิซุ ฝ่ายนางยะเอะซึ่งถูกบิดาย้ายให้ไปอยู่ที่อื่นเมื่อทราบว่าโยะริโตะโมะมีภรรยาใหม่เกิดความน้อยใจจึงกระโดดน้ำเสียชีวิต

ในขณะที่โฮโจ โทะกิมะซะเดินทางไปยังเมืองเคียวโตะ โยะริโตะโมะได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับนางโฮโจ มะซะโกะ (北条政子) บุตรสาวของโทะกิมะซะ เมื่อกลับมาจากเมืองเคียวโตะโทะกิมะซะค้นพบว่าบุตรสาวของตนมีความสัมพันธ์กับโยะริโตะโมะก็โกรธมาก โยะริโตะโมะจึงหลบหนีไปกับนางมะซะโกะจนกระทั่งโทะกิมะซะสามารถยอมรับได้ในที่สุด นางมะซะโกะคลอดบุตรคนแรกในค.ศ. 1178 เป็นบุตรสาวชื่อว่า โอ-ฮิเมะ (大姫)

สงครามเก็มเป[แก้]

ในค.ศ. 1180 เจ้าชายโมะชิฮิโตะ (以仁王) ซึ่งไม่พอพระทัยการปกครองของตระกูลไทระ ออกประกาศให้สมาชิกตระกูลเซวะเง็นจิที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วญี่ปุ่นลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของตระกูลไทระ โยะริโตะโมะจึงได้โอกาสรวบรวมกำลังพลเพื่อต่อสู้กับตระกูลไทระด้วยความช่วยเหลือของโฮโจ โทะกิมะซะ และตั้งฐานที่มั่นที่เมืองคะมะกุระ จังหวัดคะนะงะวะในปัจจุบัน โยะริโตะโมะมีนโยบายที่เน้นการสร้างฐานสนับสนุนในภูมิภาคคันโตทางตะวันออกของญี่ปุ่น

ไทระ โนะ คิโยะโมะริ ทราบข่าวการกบฏของโยะริโตะโมะ จึงมีคำสั่งให้โอะบะ คะเงะชิกะ (大庭景親) ซะมุไรในแถบนั้นซึ่งรับใช้ตระกูลไทระ ยกทัพเข้าโจมตีกองทัพของโยะริโตะโมะในขณะที่ทัพของโยะริโตะโมะกำลังยกผ่านช่องเขาฮะโกะเนะโดยไม่ทันตั้งตัว ในค.ศ. 1180 ยุทธการเขาอิชิบะชิ (石橋山) จังหวัดคะนะงะวะในปัจจุบัน ทัพของโยะริโตะโมะแตกพ่ายไปและโยะริโตะโมะต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ จนกระทั่งมีขุนพลของฝ่ายไทระชื่อว่า คะจิวะระ คะเงะโทะกิ (梶原景時) มาพบเข้า แต่คะเงะโทะกิเลือกที่จะไม่นำความไปบอกโอบะ คะเงะโทะกิ และปล่อยโยะริโตะโมะไป โยะริโตะโมะจึงถือว่าคะเงะโทะกิมีบุญคุณมากและนับแต่นั้นมาคะเงะโทะกิก็ได้เป็นข้ารับใช้คนสำคัญของโยะริโตะโมะ

ในปีเดียวกันนั้นคิโยะโมะริได้ส่งหลานชายของตนคือ ไทระ โนะ โคะเระโมะริ (平維盛) ยกทัพมมาจากเคียวโตะเพื่อปราบกบฏของโยะริโตะโมะ โดยยกมาพบกับโยะริโตะโมะที่แม่น้ำฟุจิ (富士川) จังหวัดชิซุโอะกะในปัจจุบัน แต่เมื่อได้ยินเสียงของฝูงนกโคะเระโมะริจึงเข้าใจว่าทัพของโยะริโตะโมะมีจำนวนมหาศาลจึงถอยหนีกลับไปยังเมืองเคียวโตะโดยที่ยังไม่ได้ทำการสู้รบใดๆเลย และในวันต่อมาโยะริโตะโมะได้พบกับโยะชิสึเนะ น้องชายต่างมารดาซึ่งได้หลบหนีไปพำนักอยู่ที่แคว้นโอชู ภูมิภาคโทโฮะกุทางตอนเหนือ จังหวัดอิวะเตะในปัจจุบัน ในปีต่อมาค.ศ. 1181 คิโยะโมะริถึงแก่อสัญกรรมลง และในปีเดียวกันนางมะซะโกะได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกคือ มินะโมะโตะ โนะ โยะริอิเอะ (源頼家)

ในขณะที่โยะริโตะโมะกำลังรวบรวมกำลังในทางตะวันออกนั้น ในทางตะวันตกมีสมาชิกตระกูลเซวะเง็นจิได้แก่ มินะโมะโตะ โนะ โยะชินะกะ (源義仲) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของโยะริโตะโมะ และมินะโมะโตะ โนะ ยุกิอิเอะ (源行家) ซึ่งเป็นอาของโยะริโตะโมะ ทั้งโยะชินะกะและยุกิอิเอะต่อสู้ขับเคี่ยวกับตระกูลไทระ ในค.ศ. 1183 โยะชินะกะได้ยกทัพเข้าบุกยึดเมืองเคียวโตะได้สำเร็จ เป็นเหตุให้มุเนะโมะริต้องพาสมาชิกตระกูลไทระอพยพหนีไปยังเมืองยะชิมะ (屋島) บนเกาะชิโกกุ อดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะทรงต้องการจะให้ขุนพลฝ่ายมินะโมะโตะแตกคอกัน จึงมีพระราชสาส์นขอความช่วยเหลือไปยังโยะริโตะโมะให้ยกทัพมายึดเมืองเคียวโตะคืนจากโยะชินะกะ โยะริโตะโมะส่งน้องชายของตนมาคือ โนะริโยะริ และ โยะชิสึเนะ ยกทัพจากคะมะกุระสามารถเข้ายึดเมืองเคียวโตะได้ในค.ศ. 1184 และสามารถติดตามสังหารโยะชินะกะได้ จากนั้นโยะชิสึเนะน้องชายได้นำทัพตระกูลมินะโมะโตะติดตามสมาชิกตระกูลไทระที่หลบหนี โดยเอาชนะทัพของฝ่ายไทระได้ในยุทธการอิชิ-โนะ-ดะนิ (一ノ谷の戦い)

ในค.ศ. 1184 โยะริโตะโมะได้เชิญโอเอะ โนะ ฮิโระโมะโตะ (大江広元) ขุนนางในราชสำนักเคียวโตะมายังเมืองคะมะกุระเพื่อจัดตั้งการปกครอง ประกอบด้วยคุมง-โจ (公文所) หรือสภาบริหาร และมงชู-โจ (問注所) หรือศาลตัดสินคดีความ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ

ในค.ศ. 1185 โยะชิสึเนะและโนะริโยะริสามารถเข้ายึดเมืองยะชิมะได้ มุเนะโมะริจึงพาสมาชิกตระกูลไทระอพยพลงเรืออีกครั้งไปทางตะวันตก โยะชิสึเนะยกทัพเรือติดตามไปจนพบที่ช่องแคบ สามารถเอาชนะทัพเรือไทระในยุทธนาวีดังโนะอุระ (壇ノ浦の戦い) สมาชิกตระกูลไทระเกือบทั้งหมดรวมถึงจักรพรรดิอันโตะกุกระโดดทะเลเสียชีวิตเพื่อหนีความพ่ายแพ้ ความสำเร็จอันโดดเด่นของโยะชิสึเนะทำให้โยะริโตะโมะเกรงว่าน้องชายของตนจะขึ้นมามีอำนาจแทนที่ตน ด้วยคำยุยงของคะจิวะระ คะเงะโตะกิ และอดีตพระจักรพรรดิที่ทรงต้องการให้ตระกูลมินะโมะโตะแตกแยกกัน จึงทรงแต่งตั้งให้โยะชิสึเนะให้เป็นองค์รักษ์ ทำให้โยะริโตะโมะโกรธเป็นอย่างมากและประกาศห้ามขุนพลของตระกูลมินะโมะโตะรับตำแหน่งในราชสำนักเป็นอันขาดมิฉะนั้นจะถือว่าทรยศ โยะชิสึเนะและโนะริโยะรินำตัวเชลยศึกมาส่งยังเมืองคะมะกุระ แต่ทว่าโยะริโตะโมะปฏิเสธที่จะให้โยะชิสึเนะเข้าเมืองโดยให้พำนักอยู่ที่เขตโคะชิโงะเอะ (腰越状) นอกเมือง เมื่อการไต่สวนเสร็จสิ้นโยะชิสึเนะจึงพานักโทษกลับเมืองเคียวโตะ แต่โยะริโตะโมะเกิดเปลี่ยนใจส่งทัพมาสังหารนักโทษที่เหลือทั้งหมด

โยะริโตะโมะมีคำสั่งให้โยะชิสึเนะทำการสังหารยุกิอิเอะผู้เป็นอา แต่โยะชิสึเนะไม่ยอมทำตามคำสั่ง โยะริโตะโมะจึงสั่งให้โนะริโยะริไปสังหารโยะชิสึเนะซึ่งโนะริโยะริก็ไม่ยอมอีกเช่นกัน โยะริโตะโมะจึงส่งพระนักรบชื่อว่า โทซะโนะโบ โชชุน (土佐坊昌俊) ไปยังเมืองเคียวโตะเพื่อทำการลอบสังหารโยะชิสึเนะแต่ไม่สำเร็จ ฝ่ายอดีตจักรพรรดิทรงฉวยโอกาสอีกครั้งโดยมีพระราชโองการให้โยะชิสึเนะไปปราบโยะริโตะโมะ โยะริโตะโมะจึงส่งทัพมายังเมืองเกียวเพื่อกดดันองค์อดีตพระจักรพรรดิให้กลับพระราชโองการเสีย ให้โยะริโตะโมะยกทัพปราบโยะชิสึเนะแทน

ฝ่ายโยะชิสึเนะจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากเมืองเคียวโตะ โยะริโตะโมะไม่ทราบว่าน้องชายของตนไปหลบซ่อนอยู่ที่ใด จึงจัดตั้งระบบของ จิโต (地頭) และชูโง (守護) ขึ้น โดยทางรัฐบาลคะมะกุระจะทำการแต่งตั้งซะมุไรต่างๆให้ไปกครองดินแดนที่ได้รับมอบหมายโดยที่ไม่สนใจผู้ปกครองแคว้นที่แต่งตั้งจากราชสำนักเคียวโตะ มีเป้าหมายเพื่อตามล่าหาตัวโยะชิสึเนะ ในค.ศ. 1186 ยุกิอิเอะถูกสังหารด้วยน้ำมือของคะมะกุระในที่สุด และในค.ศ. 1189 โยะชิสึเนะได้ถูกสังหารโดยฟุจิวะระ โนะ ยะสุฮิระ (藤原泰衡) ผู้ปกครองแคว้นโอชูในภูมิภาคโทโฮะกุทางเหนือ แม้ว่าโยะชิสึเนะจะเสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของยะสุฮิระไปแล้ว แต่โยะริโตะโมะยังคงต้องการที่จะผนวกเอาภูมิภาคโทโฮะกุเข้ามาไว้ในการปกครอง จึงยกทัพไปโจมตีแค้วนโอชูในสงครามโอชู (奥州合戦) ในค.ศ. 1189 ตระกูลฟุจิวะระพ่ายแพ้และยะสุฮิระถูกประหารชีวิต


สถาปนาบะกุฟุ[แก้]

สุสานของโชกุนโยะริโตะโมะ ในคะมะกุระ

ในค.ศ. 1190 โยะริโตะโมะเดินทางไปยังเมืองเคียวโตะเป็นครั้งแรกหลังจากถูกเนรเทศออกมาเมื่อสามสิบปีก่อน เพื่อจัดตั้งการปกครองขึ้นในเขตโระกุฮะระ (六波羅) อันเป็นเขตดั้งเดิมของตระกูลไทระ โยะริโตะโมะรับเฉพาะตำแหน่งทางทหารเท่านั้นและได้ปฏิเสธตำแหน่งขุนนางพลเรือนทุกตำแหน่ง โยะริโตะโมะต้องการตำแหน่ง เซไทโชกุน (征夷大将軍) อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายทหาร แต่ทว่าอดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะทรงปฏิเสธที่จะแต่งตั้ง จนกระทั่งในค.ศ. 1192 อดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะสวรรคต และด้วยความช่วยเหลือของผู้สำเร็จราชการคุโจ คะเนะซะเนะ (九条兼実) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของโยะริโตะโมะที่เคียวโตะ ทำให้โยะริโตะโมะได้รับการแต่งตั้งเป็นเซไทโชกุนในที่สุด เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเซไทโชกุนแล้ว โยะริโตะโมะได้ยกระดับคุมง-โจขึ้นเป็น มันโดะโกะโระ (政所) โดยมีโอเอะ โนะ ฮิโระโมะโตะเป็นผู้นำเช่นเดิม ในปีเดียวกันนางมะซะโกะได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สองคือ มินะโมะโตะ โนะ ซะเนะโตะโมะ (源実朝)

อย่างไรก็ตามภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเขา ตระกูลโฮโจซึ่งนำโดย โฮโจ โทะกิมะซะ พ่อตาของเขา ก็ได้เข้ามามีอำนาจสูดสุดในบะกุฟุ ในตำแหน่งชิกเก็ง และบุตรของเขาซึ่งได้เป็นโชกุนต่อ มินะโมะโตะ โนะ โยะริอิเอะ ก็เป็นโชกุนที่แทบจะไร้อำนาจ

ครอบครัว[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Nussbaum, Louis-Frédéric. (2005). "Minamoto no Yoritomo" in Japan Encyclopedia, p. 635, p. 635, ที่ Google Books.
  2. "系図纂要(Keizusanyo)"
  3. "尾張名所図会(Owarimeishozue)"
  4. "尾張志(owarishi)"

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]


ก่อนหน้า มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง
โชกุนแห่งคะมะกุระบะกุฟุ
(ค.ศ. 1192 - ค.ศ. 1199)
มินะโมะโตะ โนะ โยะริอิเอะ