มินซ์พาย
![]() มินซ์พายแบบปัจจุบัน | |
ประเภท | พาย |
---|---|
มื้อ | ของหวาน |
แหล่งกำเนิด | ![]() |
ส่วนผสมหลัก | มินซ์มีต |
มินซ์พาย (อังกฤษ: mince pie) หรือชื่ออื่น ๆ ได้แก่ มินซ์มีตพาย (อังกฤษ: mincemeat pie) ในบริเวณนิวอิงแลนด์ของสหรัฐ และ ฟรุตมินซ์พาย (อังกฤษ: fruit mince pie) ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นพายไส้หวานที่มีที่มาจากประเทศอังกฤษ โดยไส้ในทำจากผลไม้แห้งผสมกับเครื่องเทศที่เรียกว่า "มินซ์มีต" และนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ในอดีตมินซ์พายเคยมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมในไส้ แต่ในปัจจุบันไม่มีเนื้อสัตว์แล้ว แม้ว่าชื่อเรียกจะคงเป็น "มินซ์พาย" หรือพายเนื้อบดก็ตาม
ประวัติ[แก้]
ส่วนผสมของมินซ์พายสามารถสืบย้อนไปตั้งแต่สมัยที่ทหารชาวยุโรปที่รบในสงครามครูเสดเดินทางกลับจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยนั้นอาหารบางสูตรของชาวตะวันออกกลางจะผสมเนื้อสัตว์ ผลไม้ และเครื่องเทศเข้าด้วยกัน มินซ์พายในสมัยนั้นจึงมีไส้ที่มีทั้งของคาวและของหวานผสมกัน มินซ์พายในสมัยทิวดอร์หรือชื่อในสมัยนั้นว่า ชริดพาย (อังกฤษ: shrid pie) มีไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่ยีให้เป็นฝอย มันสัตว์ (suet) และผลไม้แห้ง ส่วนผสมสามชนิดสื่อถึงของขวัญสามอย่างที่โหราจารย์สามคนนำมานมัสการพระเยซูหลังประสูติ[1] ในขณะที่เครื่องเทศได้แก่อบเชย กานพลู และจันทน์เทศนั้นเพิ่มเข้ามาภายหลัง จอห์น ทิมส์ นักสะสมและศึกษาของเก่าชาวอังกฤษให้ความเห็นว่าเครื่องเทศเพิ่มเข้ามาเพื่อระลึกถึงของขวัญจากโหราจารย์แห่งตะวันออก[2][3] ทิมส์มองว่ามินซ์พายมีที่มาจากธรรมเนียมของชาวโรมันในช่วงเทศกาลแซตเทอร์นาเลีย[2] พายในสมัยนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าในปัจจุบัน[3] และมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า จอห์น เซลเดน นักกฎหมายชาวอังกฤษสันนิษฐานว่ารูปร่างยาวคล้ายโลงศพนั้นน่าจะมาจากรางหญ้าที่พระเยซูประสูติ[4] แม้ว่าโทมัส เฟอร์มิงเงอร์ ทิสเซิลตัน-ดายเออร์ นักเขียนชาวอังกฤษจะไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานของเซลเดนก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าส่วนที่เป็นแป้งด้านนอกของพายในตำราอาหารของอังกฤษสมัยก่อนเรียกว่า coffin ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่าโลงศพ[5]
ในอดีตมินซ์พายมีชื่อเรียกหลายอย่าง จอห์น แบรนด์ นักสะสมและศึกษาของเก่าชาวอังกฤษอ้างว่าชาวอังกฤษสมัยเอลิซาเบธและสมัยจาโคเบียนเรียกพายชนิดนี้ว่ามินชต์พาย (อังกฤษ: minched pie)[6] มัตตันพาย (อังกฤษ: mutton pie) หรือพายเนื้อแกะ และคริสต์มาสพาย ซึ่งเริ่มเรียกในศตวรรษถัดมา[7] ในตำราอาหารของเจอร์วาส มาร์คัม จาก ค.ศ. 1615 ระบุว่าให้ใช้เนื้อส่วนที่ดีที่สุดจากขาแกะ แล้วผสมมันแกะ พริกไทย เกลือ กานพลู ดอกจันทน์เทศ เคอร์แรนต์ (คล้ายลูกเกดแต่ทำจากผลไม้อีกชนิดหนึ่ง) ลูกเกด ลูกพรุน อินทผลัม และเปลือกส้ม และระบุว่าสามารถใช้เนื้อวัวหรือเนื้อลูกวัวแทนได้[8] ทางภาคเหนือของอังกฤษนิยมใช้ห่านเป็นส่วนผสมไส้พาย[9]
มินซ์พายกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษเช่นเดียวกับสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับนิกายโรมันคาทอลิก[10] กลุ่มพิวริตันหรือกลุ่มเคร่งศาสนาในอังกฤษสมัยนั้นปฏิเสธมินซ์พาย เนื่องจากพวกเขามองว่าคริสต์มาสพายหรือมินซ์พายเกี่ยวข้องกับนิกายโรมันคาทอลิก[2]
หลังการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ มินซ์พายยังคงได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าขนาดจะเล็กลงและมีรสหวานขึ้นก็ตาม มินซ์พายยุคหลังการปฏิรูปนั้นไม่มีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรมันคาทอลิกแล้ว[11] ผู้คนเริ่มเตรียมไส้ผลไม้และเครื่องเทศใส่กระปุกไว้ล่วงหน้าก่อนเทศกาลเพื่อความสะดวก เมื่อเข้าสู่สมัยวิกตอเรีย มินซ์พายแทบไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์แล้ว แม้ว่าจะยังคงใช้มันสัตว์อยู่ และนักเขียนในช่วงศตวรรษที่ 20 จะยังรณรงค์ให้ใช้เนื้อในมินซ์พายก็ตาม ซึ่งรสชาติของมินซ์พายในสมัยวิกตอเรียจะใกล้เคียงกับมินซ์พายในปัจจุบัน[12][13]
มินซ์พายยังคงได้รับความนิยมในปัจจุบัน แม้ว่าส่วนผสมจะเปลี่ยนไปจากเดิมแล้วก็ตาม ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ค.ศ. 2011 เกร็กส์ซึ่งเป็นเครือร้านเบเกอรีที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรรายงานว่าขายมินซ์พายได้ 7.5 ล้านชิ้น[14] ในขณะที่ยอดขายมินซ์พายของซูเปอร์มาร์เกตและร้านค้าในเกรตบริเตนในช่วง 12 สัปดาห์สุดท้ายของ ค.ศ. 2017 มีมูลค่ารวม 28,872 ล้านปอนด์[15]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Crump, William D. (2013). The Christmas Encyclopedia, 3d ed (ภาษาอังกฤษ). McFarland. p. 120. ISBN 978-1-4766-0573-9.
It was fashionable at Christmastime to bake a mince pie in the form of a manger topped with an image of the Christ Child fashioned from dough, for the spices and sweetmeats were held as symbols of the Magi's gifts.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Timbs 1866, p. 149
- ↑ 3.0 3.1 John 2005, p. 78
- ↑ Selden 1856, p. 27
- ↑ Dyer 2007, pp. 458–459
- ↑ Brand 1849, pp. 527–528
- ↑ Ayto 1990, pp. 184–185
- ↑ Markham & Best 1994, p. 104
- ↑ Brand 1849, p. 530
- ↑ Quote taken from Lewis, Thomas (1720), English Presbyterian eloquence, printed for T. Bickerton อ้างใน Brand 1849, pp. 527–528
- ↑ Baker 1992, pp. 32–33
- ↑ Stavely & Fitzgerald 2004, p. 220
- ↑ Hirst, Christopher (4 ธันวาคม 2011), "Sweet Delight: A Brief History of the Mince Pie", independent.co.uk, The Independent, สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2011
- ↑ George, Colin (11 มกราคม 2012), Booming Mince Pie and Coffee Sales Boost Greggs, nebusiness.co.uk, สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2012
- ↑ Bamford, Vince (9 มกราคม 2018), Mince pie sales soar as festive spend rises £1bn, British Baker, สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2019
บรรณานุกรม[แก้]
- Ayto, John (1990), The Glutton's Glossary: a Dictionary of Food and Drink Terms, Routledge, ISBN 0-415-02647-4
- Baker, Margaret (1992), Discovering Christmas Customs and Folklore (third ed.), Osprey Publishing, ISBN 0-7478-0175-4
- Brand, John (1849), Observations on the popular antiquities of Great Britain, Bohn, ISBN 978-7-27-000726-7
- Dyer, T. F. (2007), British Popular Customs – Present and Past – Illustrating the Social and Domestic Manners of the People, Read Books, ISBN 978-1-4067-7899-1
- John, J (2005), A Christmas Compendium, Continuum International Publishing Group, ISBN 0-8264-8749-1
- Markham, Gervase; Best, Michael R. (1994), Michael R. Best (บ.ก.), The English Housewife, McGill-Queen's Press – MQUP, ISBN 0-7735-1103-2
- Selden, John (1856), The Table-Talk of John Selden, London: J. R. Smith
- Stavely, Keith W. F.; Fitzgerald, Kathleen (2004), America's founding food: the story of New England cooking, UNC Press Books, ISBN 0-8078-2894-7
- Timbs, John (1866), Something for Everybody (and a Garland for the Year), London: Lockwood and Co.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- วิธีทำมินซ์พาย, bbcgoodfood.com