มาร์ธา เบียทริซ พอตเตอร์ เวบบ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาร์ทา เบียทริซ พอตเตอร์ เวบบ์

มาร์ธา เบียทริซ พอตเตอร์ เวบบ์ (อังกฤษ: Martha Beatrice Potter Webb, พ.ศ. 2401 - พ.ศ. 2486) เป็นนักสังคมนิยม นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ทั้งยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นนักปฏิรูปด้วย และเป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับชนชั้นกรรมาชีพโดยตรง

ประวัติ[แก้]

เบียทริซ เวบบ์เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2401 ตรงกับในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria, พ.ศ. 2380 - พ.ศ. 2444) ที่เมืองกลอสเตอร์ในมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ (Gloucestershire) บิดาของเธอคือริชาร์ด พอตเตอร์ (Richard Potter) เป็นบุคคลที่มีฐานะดีและคุณปู่ของเธอก็เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษด้วย ในวัยเยาว์เบียทริซ เวบบ์ได้รับการศึกษาไม่มากนัก แต่ทว่าเธอก็เป็นเด็กที่ฉลาดสนใจการอ่านหนังสือปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ใน พ.ศ. 2426 เบียทริซ เวบบ์ได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมองค์กรการกุศล (Charity Organization Society : COS) ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามให้ความช่วยเหลือคนยากจน แต่เธอเห็นว่าการทำงานในองค์กรการกุศลไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาความยากจน เบียทริซ เวบบ์มองเห็นว่าสาเหตุปัญหาของความยากจน คือ ปัญหามาตรฐานการศึกษาต่ำ ปัญหาการไม่มีที่อยู่ และปัญหาสาธารณสุข

ด้านชีวิตครอบครัว เบียทริซ เวบบ์เคยพลาดหวังเรื่องความรักกับโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain) ซึ่งเป็นนักการเมือง ต่อมาเธอได้รู้จักกับซิดนีย์ เวบบ์ (Sidney Webb, พ.ศ. 2402 - พ.ศ. 2490) ซึ่งเป็นนักปฏิรูปสังคม นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียน และได้สมรสกันใน พ.ศ. 2435 ทั้งคู่เป็นบุคคลที่มีบทบาทเคียงข้างกันมาอย่างตลอด จนเบียทริซ เวบบ์ได้รับการกล่าวถึงไว้ว่าเปรียบเสมือนกับ “ลมหายใจของสามีเธอ” บทบาทสำคัญของซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์คือการวางแนวนโยบายสังคมนิยมระยะยาวให้อังกฤษ และผลักดันการก่อตั้ง London School of Economics (LSE) ใน พ.ศ. 2438

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษมีความเคลื่อนไหวภายในประเทศเป็นอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ประเด็นศึกษาประการหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักวิชาการในปัจจุบัน คือ สภาพสังคมของอังกฤษโดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพหรือชนชั้นแรงงาน และความเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชนชั้นดังกล่าวให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนที่สมควรกล่าวถึงคือการก่อตั้งสมาคมเฟเบียนใน พ.ศ. 2427[1] ซึ่งเบียทริซ เวบบ์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียนเหมือนกับซิดนีย์ เวบบ์สามีของเธอด้วย สมาคมนี้มีบทบาทและเป้าหมายคือ

"เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและเสรีนิยม ... ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradualism) โดยอาศัยกลไกของระบบรัฐสภา และเสนอแนวทางแก้ไขผ่านองค์กรหรือพรรคการเมืองที่มีบทบาทอยู่แล้ว ... เป็นแนวคิดสังคมนิยมที่โดดเด่นที่สุดของอังกฤษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20" [2]

แนวความคิดของสมาคมเฟเบียนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิรูปสังคมอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลงานสำคัญของสมาคมคือ Fabian Essays ได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2432 ซึ่งเป็นการรวบรวมคำบรรยายของสมาชิกของสมาคม โดยมีจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) เป็นบรรณาธิการ นักเขียนสำคัญคนอื่น เช่น เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ เป็นต้น สมาชิกของสมาคมยังมีบทบาทในการผลักดันการก่อตั้งพรรคแรงงาน (Labour Party) [3] จนสำเร็จใน พ.ศ. 2449 และยังคงเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในอังกฤษมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2441 ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์เดินทางไปยังอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เพื่อศึกษาเรื่ององค์กรปกครองระดับท้องถิ่น เป็นผลให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ขององค์กรปกครองระดับท้องถิ่นของอังกฤษ ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ยังได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาคนยากจนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลด้วย รัฐบาลได้จัดตั้ง Royal Commission ใน พ.ศ. 2448 เพื่อติดตามการทำงานให้ความช่วยเหลือคนยากจน ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ได้รับแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการดังกล่าว อย่างไรก็ตามทั้งคู่มีความเห็นขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการคนอื่นๆ เป็นเหตุให้ทั้งคู่ออกตีพิมพ์ Minority Report นับเป็น “การปลุกให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของหลักการประกันสังคม”[4] นอกจากนี้แล้วเบียทริซ เวบบ์ยังได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกฎหมายคนยากจน (Poor Law Commission) ในช่วง พ.ศ. 2449 - 2452 ด้วย

สองสามีภรรยาตระกูลเวบบ์ได้ร่วมกันก่อตั้งและตีพิมพ์วารสาร New Statesman ซึ่งเป็นวารสารที่เผยแพร่แนวคิดในการปฏิรูปของนักสังคมนิยมคนสำคัญ บทบาทความสำคัญของสามีภรรยาตระกูลเวบบ์คงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ที่สำคัญประการหนึ่งนั้นเห็นได้จากการที่บ้านของทั้งคู่ในกรุงลอนดอนได้กลายเป็น “สถานที่ชุมนุมของบรรดานักสังคมนิยม” (Socialist Salon)[5] มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เบียทริซ เวบบ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการของรัฐบาลหลายคณะ กระทั่งใน พ.ศ. 2467 ซิดนีย์ เวบบ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพรรคแรงงานได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการค้า (President of the Board of Trade) และใน พ.ศ. 2472 ซิดนีย์ เวบบ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบารอนพาสฟิลด์ (Baron Passfield) จากพระเจ้าจอร์จที่ 5แต่เบียทริซ เวบบ์ผู้เป็นภรรยาปฏิเสธที่จะใช้บรรดาศักดิ์เลดีพาสฟิลด์ (Lady Passfield) ตามสามีของเธอ

การเดินทางอีกครั้งของเบียทริซ เวบบ์ใน พ.ศ. 2475 เบียทริซ เวบบ์พร้อมกับสามีเดินทางไปยังสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ครั้งนี้เธอได้เห็นถึงข้อจำกัดในเสรีภาพทางการเมืองของโซเวียตซึ่งเธอรู้สึกไม่ยินดีนัก แต่เบียทริซ เวบบ์ก็รู้สึกชมชอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาของโซเวียตซึ่งจะนำไปสู่ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคของสตรี”[6] และเธอก็ได้เขียนผลงานเกี่ยวกับโซเวียตไว้ใน ค.ศ. 1935 เบียทริซ เวบบ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1943 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI, ค.ศ. 1936-1952)[7] ที่เมืองลิปฮุค (Liphook) มณฑลแฮมป์เชียร์ (Hampshire)

ผลงาน[แก้]

ตลอดเวลาที่เบียทริซ เวบบ์ดำรงชีวิตอยู่ เธอมีผลงานการเขียนแนวสังคมนิยมและเศรษฐศาสตร์มากมาย ทั้งที่เป็นผลงานการเขียนของเธอเองและที่เธอเขียนร่วมกับซิดนีย์ เวบบ์ ผู้เป็นสามี เช่น

  • Co-operative Movement in Great Britain (ค.ศ. 1891)
  • History of Trade Unionism (ค.ศ. 1894)
  • Industrial Democracy (ค.ศ. 1897) และ
  • English Local Government Vol. I-X (ค.ศ. 1906-1929) เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. สารานุกรมอเมริกานาให้ข้อมูลว่าสมาคมเฟเบียนก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2426. โปรดดูรายละเอียดใน A. J. Beattie. (1992). Fabian Society. In The Encyclopedia Americana, V.10. p. 823.
  2. โปรดดูรายละเอียดใน ชาคริต ชุ่มวัฒนะ. (2543). Fabian Society : สมาคมเฟเบียน. ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G. หน้า 99. หรือ ชาคริต ชุ่มวัฒนะ. (2546). ชีวิตและสังคมชนชั้นแรงงานอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (The English Working-Class in the Nineteenth Century : A Social Life). หน้า 223-226
  3. นายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากพรรคแรงงานคือนายกรัฐมนตรี เจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsey MacDonald) ดำรงตำแหน่งสมัยแรกใน พ.ศ. 2467 และปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคแรงงานแล้ว 6 คน คนล่าสุด คือ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ขึ้นดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2550 หลังการลาออกของนายกรัฐมนตรีแอนโทนี ชาลส์ ลินตัน แบร์ หรือโทนี แบร์ (Anthony Charles Lynton Blair ; Tony Blair) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคแรงงานเช่นกัน และดำรงตำแหน่งยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2540 - 2550
  4. WEBB, Beatrice. (1992). In The Encyclopedia Americana, V. 28. p. 554.
  5. lbid.
  6. Beatrice Webb. (2007). (Online)
  7. พระเจ้าจอร์จที่ 6 คือพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 (Elizabeth II) พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงมีบทบาทสำคัญในฐานะองค์พระประมุขที่เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวอังกฤษ ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่ประชาชน จนสามารถฝ่าฟันสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ ประสูติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2438 ณ พระตำหนักแซนดริงฮัม (Sandeingham House) ในมณฑลนอร์ฟอร์ก (Norfolk) ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายที่ดำรงพระอิสริยยศพระจักรพรรดิแห่งอินเดีย. โปรดดูรายละเอียดใน อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2543). George VI (1895-1952) : พระเจ้าจอร์จที่ 6 (พ.ศ. 2438-2495). ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G. หน้า 318-321.