พระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร
(ฉิม โปษยานนท์)
เกิด7 กันยายน พ.ศ. 2426
บ้านโปษ์กี่ ฝั่งธน
เสียชีวิต4 กรกฎาคม พ.ศ. 2497
บุพการี
  • หลวงวารีราชายุกต์ (โป๊ โปษยานนท์) (บิดา)
  • เสงี่ยม วารีราชายุกต์ (มารดา)

มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์) (7 กันยายน พ.ศ. 2426 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2497) อดีตเจ้ากรมฝิ่น (กรมสรรพสามิต)

ประวัติ[แก้]

มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์) เป็นบุตรหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊ โปษยานนท์) และท่านเสงี่ยม บุตรพระยาภักดีภัทรากร (ภัทรนาวิก) เกิดเมื่อ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2426 ตรงกับวันศุกร์ ขึ่น 6 ค่ำ เดือน 20 จุลศักราช 1245 เวลายํ่ารุ่ง 15 นาที ณ บ้านโปษ์กี่ ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี

เมื่อเยาว์ท่านบิดาได้หาจีนแสมาเป็นครูสอนหนังสือจีนอยู่กับบ้าน ครั้นอายุ 9 ขวบ ท่านบิดาได้ส่งออกไปศึกษาหนังสือจีน ที่บ้านเอ้าเคยกิม เมืองแต้จิ๋ว ในประเทศจีน เรียนอยู่ได้ 3 ปี ท่านบิดาได้เรียกกลับมาเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2437 ขณะที่มีอายุได้ 12 ปี ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้เข้าฝึกทำงานที่ห้างบอเนียวกัมปะนี 1 ปี จึงได้ลาออกมาทำการอุปสมบทในปี พ.ศ. 2446 ที่วัดทองนพคุณ ครบพรรษาจึงสึกแล้วได้ทำงานอยู่กับบิดา (หลวงวารีราชายุกต์) อายุ 23 ปี

พ.ศ. 2450 อายุ 23 ปี หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ได้ให้คนมาตามให้เข้ารับราชการในกรมฝิ่น (กรมสรรพสามิต) ทรงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองคลังรักษาและควบคุมกองบรรจุฝิ่นใส่อับ ได้รับพระราชทานเงินเดือนเริ่มตันเดือนละ 300 บาท

  • พ.ศ. 2451 เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกรมฯ
  • 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิพัฒนธนากร ถือศักดินา ๖๐๐ [1]
  • 20 สิงหาคม พ.ศ 2454 รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี[2]
  • พ.ศ. 2454 เจ้าพนักงานรักษาฝิ่น[3]
  • พ.ศ. 2456 เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดี
  • 9 ธันวาคม พ.ศ. 2457 รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพิพัฒนธนากร ถือศักดินา ๘๐๐[4]
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2457 รับพระราชทานยศอำมาตย์เอก[5]
  • 10 พฤษภาคม 2458 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[6]
  • 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิพัฒนธนากร ถือศักดินา ๑๐๐๐[7]
  • 4 มิถุนายน 2460 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[8]
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2471 เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดี[9]
  • 12 มิถุนายน พ.ศ. 2471 รับพระราชทานยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี[10]
  • 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ได้ลาออกจากราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ[11]
  • 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ทางราชการยุบกรมฝิ่น[12]

เมื่อออกจากราชการแล้ว มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากรได้ประกอบการค้าและได้เป็นประธาน บริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด บริษัทรวมรถยนต์ประกันภัย จำกัด บริษัทคลังสินค้าเอเชีย จำกัด และบริษัทธนาคารเอเชีย ได้เป็นกรรมการอีกหลายบริษัท เช่น บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด บริษัทไทยประกันชีวิต บริษัทไทยเศรษฐกิจ บริษัทสามัคคีประกันภัย บริษัทเกลือไทย จำกัด ฯลฯ แม้จะออกจากราชการแล้วท่านก็ยังช่วยเหลือทางราชการ เช่น รับเป็นกรรมการสภากาชาดไทย กรรมการสมาคมปราบวัณโรค กรรมการพระคลังข้างที่ เป็นประธานกรรมการส่งเสริมสันติราษฎร์ เป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นเทศมนตรีธนบุรี

ทางพระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากรเทิดทูนพระมหากษัตริย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต ท่านได้เป็นหัวหน้ารวบรวมพวกพ่อค้าชาติต่างๆ ที่ท่านรู้จักให้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลทูลเกล้าฯ ถวายทุก 7 วัน ความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์แก่ท่าน

เมื่อมหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากรถึงแก่อนิจกรรม ท่านได้รับพระราชทานโกศใส่ศพเป็นพิเศษ

ครอบครัว[แก้]

มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร มีบุตร 10 คน และมีบุตรี 10 คนดังนี้:

บุตร:

  • คุณสมสุข โปษยานนท์
  • ดร. พิพัฒน์ โปษยานนท์
  • พ.ต.อ. (พิเศษ) ธนา โปษยานนท์
  • คุณเฉลิม โปษยานนท์
  • คุณฉลอง โปษยานนท์
  • คุณสมชาย โปษยานนท์
  • พ.ต.ท. สุพัฒน์ โปษยานนท์
  • คุณสมวงศ์ โปษยานนท์
  • คุณคมชัด โปษยานนท์
  • ร.ต.ต. สมศักดิ์ โปษยานนท์

บุตรี:

  • ท่านผู้หญิงโฉมศรี วินิจฉัยกุล (สมรสกับ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล)
  • คุณมาลี โพธิศิริวัฒน์
  • คุณเรณู วรรณพฤกษ์
  • คุณฉวีวรรณ ประยูรพรหม
  • คุณชูศรี สุวรรณศิลป์
  • คุณหญิงสมหญิง โปษยานนท์
  • คุณชูจิตต์ พีชานนท์
  • คุณชูใจ โปษยานนท์
  • คุณสมสมร คูสกุล
  • คุณสุภาพ อิงคะวัต

ยศเสือป่า[แก้]

  • – นายหมวดตรี
  • 8 กุมภาพันธ์ 2467 – นายหมวดโท[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า ๑๗๓๑)
  2. ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ(หน้า ๑๐๑๖)
  3. ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หน้า ๑๔๐๒)
  4. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๑๗๖)
  5. พระราชทานยศและเลื่อนยศ (หน้า ๒๔๑๓)
  6. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  7. เลื่อนและตั้งบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๓๘๙)
  8. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  9. ประกาศกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรื่อง ตั้งอธิบดีกรมฝิ่น
  10. พระราชทานยศพลเรือน
  11. ประกาศ ปลดอธิบดีกรมสรรพสามิต กับ อธิบดีกรมฝิ่น
  12. พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้สมทบกรมฝิ่นและกรมสรรพสามิตเข้ากับกรมสรรพากร
  13. พระราชทานยศเสือป่า
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๘๒, ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๓
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๒๐, ๓๐ มกราคม ๒๔๖๓
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๕๑, ๑๙ มกราคม ๒๔๖๑
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๖๕, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๖๑, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๔๘ ง หน้า ๒๖๐๘, ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖
  • หนังสือพระคุณพ่อ ประวัติของมหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร(ฉิม โปษยานนท์)