อาสนวิหารอาวร็องช์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารอาวร็องช์)
อาสนวิหารนักบุญอันดรูว์แห่งอาวร็องช์
ภาพร่างของอาสนวิหารในคริสต์ศตวรรษที่ 18
แผนที่
48°41′16″N 1°21′53″W / 48.68778°N 1.36472°W / 48.68778; -1.36472
ที่ตั้งอาวร็องช์ จังหวัดม็องช์
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
(จนกระทั่ง ค.ศ. 1790)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
กอทิก
ปีสร้างคริสต์ศตวรรษที่ 11
รื้อถอนเมื่อค.ศ. 1794

อาสนวิหารอาวร็องช์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Avranches) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญอันดรูว์แห่งอาวร็องช์ (Cathédrale Saint-André d'Avranches) ก่อนถูกทำลายลงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1794 เคยมีฐานะเป็นอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลอาวร็องช์ซึ่งได้ถูกยุบรวมกับมุขมณฑลกูต็องส์ในปี ค.ศ. 1790 และลดฐานะเป็นเพียงโบสถ์ประจำเขตแพริชจนกระทั่งถูกทำลายในที่สุด ตั้งอยู่บริเวณยอดเนินเขาบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขตเมืองเก่าอาวร็องช์ จังหวัดม็องช์ แคว้นนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญอันดรูว์

สถาปัตยกรรม[แก้]

อาสนวิหารแห่งนี้สร้างในแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะปรับปรุงหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญ ๆ ได้แก่คริสต์ศตวรรษที่ 13, ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 วัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต

องค์ประกอบหลัก ๆ เป็นแบบโรมาเนสก์แบบดั้งเดิม ได้แก่ บริเวณกลางโบสถ์และหอคอยคู่ซึ่งขนาบข้างซุ้มประตูทางเข้าที่ตกแต่งอย่างสวยงาม สันนิษฐานว่าเป็นงานในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 บริเวณกลางโบสถ์ จรมุข ชาเปล และหอนาฬิกาซึ่งมียอดแหลม เสร็จสิ้นราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12

ต่อมาในสมัยกอทิกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้มีการเพิ่มซุ้มประตูกอทิกแบบ 2 บาน รวมถึงช่องโค้งและหน้าต่างบริเวณกลางโบสถ์ ส่วนชาเปลข้าง แขนกางเขน และหอประชุมนักบวชเป็นส่วนที่เพิ่มเติมในภายหลังช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

การทำลาย[แก้]

สืบเนื่องจากการยุบมุขมณฑลอาวร็องช์ตามสนธิสัญญาเมื่อปี ค.ศ. 1790 ซึ่งทำให้ฐานะของอาสนวิหารเป็นเพียงแค่โบสถ์ประจำเขตแพริช ต่อมาบาทหลวงรียูล เดอ มงแบร ได้เริ่มการบูรณะซึ่งอันตรายมาก โดยได้มีการทำลายฉากกางเขนซึ่งทำด้วยหิน และลดขนาดของพื้นเสาเพื่อให้ชาวเมืองสามารถมองเห็นด้านในโบสถ์ได้ดีขึ้น ในขณะนั้นบริเวณร้องเพลงสวดอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการสมทบทุนเพื่อการบูรณะซ่อมแซมถึง 60,000 ปอนด์ ซึ่งปราศจากฉากกางเขนซึ่งมีส่วนช่วยในการรับน้ำหนักของอาคาร ทำให้เกิดช่องว่างขึ้นและในที่สุดเพดานโค้งด้านบนของบริเวณร้องเพลงสวดก็ทรุดและถล่มลงในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1796 ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ของทางการในการดูแลส่วนที่เหลือในขณะนั้น แต่ก็ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสมบัติที่ให้ถอดเอาตะกั่วบริเวณหลังคาออก ทำให้มีการรั่วซึมของน้ำภายในอาสนวิหาร ซากปรักหักพังที่เหลืออยู่ของอาสนวิหารได้ตั้งอยู่จนจบการปฏิวัติฝรั่งเศส[1]

ในระหว่างที่รอเงินกองทุนจากส่วนกลางในการบูรณะและซ่อมแซม บริเวณกลางโบสถ์ก็ค่อย ๆ ถล่มลง ทำให้ต่อมาคณะที่ปรึกษาเทศบาลได้มีความเห็นเมื่อ 20 เมษายน ค.ศ. 1802 ให้ทำลายกำแพงที่เหลือของบริเวณกลางโบสถ์และหอนาฬิกาลง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย[2]

หอคู่ทั้งสองยังคงอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1810[3] แม้จะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ด้วยความช่วยเหลือของนายกเทศมนตรีแต็สเนียร์ เดอ เบรแม็สนีล ซึ่งพยายามขอร้องให้รัฐบาลช่วยอนุเคราะห์การบูรณะของอาสนวิหารแห่งนี้ โชคดีที่ต่อมามีการขอติดตั้งโทรเลขแบบไร้สายโดยโกลด ชัป บนหอทิศเหนือ ทำให้รอดต่อการถูกทำลายได้ไปอีกหลายปี ต่อมาเทศบาลได้ตัดสินใจสั่งทำลายหอทั้งคู่ที่เหลืออยู่ลงในปี ค.ศ. 1812[4] ซึ่งถือเป็นการปิดฉากอาสนวิหารอาวร็องช์ลงอย่างเป็นทางการ[5] ซากของเสาวิหารยังหลงเหลืออยู่หนึ่งต้นจนกระทั่งถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1835[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chanoine Emile-Aubert Pigeon, Le diocèse d'Avranches, Coutances, 1888, t. II, p. 688.
  2. Ch.-A. de Beaurepaire, L'ancienne cathédrale d'Avranches, Bayeux, R.-P. Colas, 1936, p. 5
  3. Ch.-A. de Beaurepaire, L'ancienne cathédrale d'Avranches, Bayeux, R.-P. Colas, 1936, p. 5
  4. Ch.-A. de Beaurepaire, L'ancienne cathédrale d'Avranches, Bayeux, R.-P. Colas, 1936, p. 8
  5. Chanoine Emile-Aubert Pigeon, Le diocèse d'Avranches, Coutances, 1888, t. II, p. 689-690.
  6. S. de Lalaing, Les côtes de la France, de Cherbourg à Saint-Nazaire, J. Lefort, Lille et Paris, 1886-1890, p. 60

บรรณานุกรม[แก้]

  • Daniel Levalet, « La cathédrale Saint-André et les origines chrétiennes d'Avranches » dans Archéologie Médiévale, volume 12, 1982, p. 107-153
  • Ch.-A. de Beaurepaire, L'ancienne cathédrale d'Avranches, Bayeux, R.-P. Colas, 1936, 14 p.