อาสนวิหารล็องกร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารล็องกร์)
อาสนวิหารนักบุญแมมมิสแห่งล็องกร์
หน้าบันแบบคลาสสิก
แผนที่
47°51′51″N 5°20′07″E / 47.86417°N 5.33528°E / 47.86417; 5.33528
ที่ตั้งล็องกร์ จังหวัดโอต-มาร์น
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
กอทิก
คลาสสิก (หน้าบัน)
แล้วเสร็จค.ศ. 1196
ค.ศ. 1761 (สร้างหน้าบันใหม่)
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
(ค.ศ. 1862)

อาสนวิหารล็องกร์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Langres) หรือชื่อเต็มคือ อาสนวิหารนักบุญแมมมิสแห่งล็องกร์ (Cathédrale Saint-Mammès de Langres) เป็นอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิกอันเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลล็องกร์ ตั้งอยู่ที่เมืองล็องกร์ในจังหวัดโอต-มาร์น แคว้นกร็องแต็สต์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญแมมมิสแห่งไกซาเรอา มรณสักขีในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3

ลักษณะเด่นของอาสนวิหารแห่งนี้อยู่ที่ความผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบบบูร์กอญกับสถาปัตยกรรมกอทิก อาทิ เพดานแบบโค้งสัน หน้าบันหลักทิศตะวันตกซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[1]

ประวัติ[แก้]

ราวปีค.ศ. 1140 มุขนายกฌอฟรัว เดอ ลา ร็อช-วาโน (ค.ศ. 1139–1162) คนสนิทของนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว ได้มีดำริที่จะสร้างอาสนวิหารแห่งใหม่ขึ้น ในขณะนั้นอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งซ็องส์ก็กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างด้วย โดยการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นจากบริเวณร้องเพลงสวดก่อน โดยลักษณะการก่อสร้างนั้นได้นำแบบมาจากอารามกลูว์นีที่ 3 ครีบยันลอยของบริเวณร้องเพลงสวดนั้นถูกบังอยู่ ยกเว้นแต่ของบริเวณกลางโบสถ์ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากด้านนอก โดยจากสาสน์จากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในช่วงที่เสด็จมาประทับเพื่อลี้ภัยสงครามที่เมืองซ็องส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1163–1165 มีใจความสรุปได้ว่าอาสนวิหารนั้นใกล้เสร็จสิ้น ณ ปี ค.ศ. 1170 เหลือเฉพาะงานหน้าบันทิศตะวันตกและบริเวณกลางโบสถ์ช่วงเสาที่หนึ่งเท่านั้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1190 มีการซื้อที่ดินฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีการก่อสร้างครั้งสุดท้ายเพื่อให้เสร็จสิ้นทั้งหมด ในที่สุดอาสนวิหารได้รับการเสกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1196 ซึ่งในขณะนั้นบริเวณเพดานโค้งของบริเวณกลางโบสถ์ยังต้องสร้างต่ออีกมาก

ในปี ค.ศ. 1209 ได้มีการเคลื่อนย้ายเรลิกส่วนศีรษะของนักบุญแมมมิสมาไว้ที่อาสนวิหาร ในช่วงนั้น (คริสต์ศตวรรษที่ 13) บริเวณวิหารคดได้เริ่มก่อสร้าง (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่สองซุ้ม) พร้อม ๆ กับชาเปลแม่พระตั้งอยู่ที่บริเวณช่วงปลายของมุขโค้งด้านสกัด (ค.ศ. 1282) ต่อมาในปี ค.ศ. 1314 ได้เกิดอัคคีภัยซึ่งทำลายส่วนหลังคาของบริเวณกลางโบสถ์ไป และ ค.ศ. 1324 ได้มีการต่อเติมสร้างชาเปลบริเวณมุขโค้ง

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 15471551 โกลด เดอ ลงวี มุขนายกแห่งล็องกร์ ได้มีดำริให้สร้างชาเปลมหากางเขนขึ้นบริเวณฝั่งซ้ายของบริเวณกลางโบสถ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1562 เกิดฟ้าผ่าลงบนหลังคาทำให้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ในปี ค.ศ. 1746 บริเวณหน้าบันฝั่งทิศตะวันตกอยู่ในสภาพชำรุดและใกล้จะถล่ม จึงมีความเห็นให้ทุบบริเวณส่วนนั้นทิ้ง และได้สร้างใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 17611786 ในแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก ตามแบบของสถาปนิกโกลด-หลุยส์ ดาวีเล ที่เคยเสนอไว้เมื่อปี ค.ศ. 1758 และได้สร้างด้วยฝีมือของสถาปนิกฌ็อง-อ็องตวน การิสตี จนสำเร็จ ต่อมาในปี ค.ศ. 1790 อาสนวิหารได้ถูกปิดลงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของคริสตจักรในประเทศฝรั่งเศส และได้เปิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1791 หลังจากมีการแต่งตั้งมุขนายกองค์ใหม่ อูว์แบร์-อ็องตวน ว็องเดอแล็งกูร์ ซึ่งเป็นผู้ที่สั่งให้ทำลายฉากกางเขนลงในปี ค.ศ. 1792

และในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1852 ส่วนบนของอาสนวิหารได้ผ่านการบูรณะใหม่โดยสถาปนิกอาลฟงส์ ดูว์ร็อง ซึ่งเป็นผู้ที่ออกแบบและก่อสร้างห้องเก็บเครื่องพิธี ในช่วงปี ค.ศ. 18571862

ขนาดของอาสนวิหาร[แก้]

  • ความยาวด้านใน : 94.3 เมตร (309 ฟุต)
  • ความสูงจรดเพดานบริเวณกลางโบสถ์และบริเวณร้องเพลงสวด : 23 เมตร (75 ฟุต)
  • ความกว้างของทางเดินกลางวัดจากเสาถึงเสา : 11.36 เมตร (37.3 ฟุต)
  • ความกว้างรวมของบริเวณกลางโบสถ์ : 24.4 เมตร (80 ฟุต)
  • เส้นผ่านศูนย์กลางของเสาบริเวณกลางโบสถ์ : 1.25 เมตร (4 ฟุต 1 นิ้ว)
  • ความกว้างของแขนกางเขน : 13 เมตร (43 ฟุต)
  • ความยาวด้านในของแขนกางเขน : 41.6 เมตร (136 ฟุต)
  • ความสูงของหอ : 45 เมตร (148 ฟุต) (บันไดทั้งหมด 227 ขั้นสำหรับขึ้นไปบนหอฝั่งทิศใต้)

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Notice No.PA00079088 Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส

บรรณานุกรม[แก้]

  • (ฝรั่งเศส) Hubert Collin, Champagne romane, La Pierre-qui-Vire (France), Zodiaque, 1981
  • (ฝรั่งเศส) Jean-Marie Pérouse de Montclos, Le guide du Patrimoine : Champagne-Ardenne, Paris (France), Hachette, 1995 (ISBN 2-85822-614-8)
  • (เยอรมัน) Wilhem Schlink, Zwischen Cluny und Clairvaux, Berlin (Allemagne), W. de Gruyter, 1970