อาสนวิหารบลัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารบลัว)
อาสนวิหารบลัว
อาสนวิหารนักบุญหลุยส์แห่งบลัว
Cathédrale Saint-Louis de Blois
อาสนวิหารบลัว
แผนที่
47°35′18″N 1°20′11″W / 47.5884°N 1.3365°W / 47.5884; -1.3365พิกัดภูมิศาสตร์: 47°35′18″N 1°20′11″W / 47.5884°N 1.3365°W / 47.5884; -1.3365
ที่ตั้งบลัว จังหวัดลัวเรแชร์ แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์
ประเทศ ฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
ประวัติ
สถานะอาสนวิหาร
สถาปัตยกรรม
การขึ้นทะเบียนอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
รูปแบบสถาปัตย์กอธิกฝรั่งเศส
งานฐานรากค.ศ. 1544 (1544)
แล้วเสร็จค.ศ. 1700 (1700)
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนCathédrale Saint-Louis
ประเภทCathédrale
ขึ้นเมื่อ1906
เลขอ้างอิงPA00098336

อาสนวิหารบลัว (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Blois) หรือชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญหลุยส์แห่งบลัว (Cathédrale Saint-Louis de Blois) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิก และเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลบลัว ตั้งอยู่ในเขตเมืองบลัว จังหวัดลัวเรแชร์ ในแคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญหลุยส์

อาสนวิหารแรนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1906[1]

ประวัติ[แก้]

อาสนวิหารสร้างในแบบกอทิกตอนปลาย ซึ่งก่อนจะมีฐานะเป็นอาสนวิหาร เคยเป็นโบสถ์ประเภท "คอลเลจิเอต" ซึ่งสร้างเพื่ออุทิศแก่นักบุญซอแลน การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งในปัจจุบันส่วนประกอบที่สร้างในยุคนี้คงเหลือเพียงร่องรอยในบริเวณห้องเก็บศพใต้โบสถ์และฐานของหอระฆังเท่านั้น หน้าบันหลักและหอนาฬิกาสร้างช่วง ค.ศ. 1544 ต่อมาบริเวณกลางโบสถ์ได้ถูกทำลายโดยพายุเฮอร์ริเคนใน ค.ศ. 1678 และการบูรณะขึ้นใหม่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1680 ถึง 1700 ภายใต้การควบคุมของสถาปนิกอาร์นูล-เซราแฟ็ง ปัวเตอแวง และเพื่อเป็นการสมโภชอาสนวิหารเมื่อ ค.ศ. 1697 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14ได้พระราชทานออร์แกนเพื่อติดตั้งในอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1704 อันเป็นเหตุให้อาสนวิหารแห่งใหม่นี้เปลี่ยนชื่อเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญหลุยส์

นับแต่การก่อสร้างเป็นต้นมา อาสนวิหารนี้แทบไม่ได้มีการปรับแต่งใด ๆ เพิ่มเติมเลย มีเพียงแค่ชาเปลแม่พระที่ต่อเติมในปี ค.ศ. 1860 ในความควบคุมของฌูล ปอตีเย เดอ ลา มอร็องเดียร์

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การทิ้งระเบิดโดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำลายงานกระจกสีส่วนใหญ่ของอาสนวิหาร ซึ่งต่อมาเมื่อในปี ค.ศ. 1985 ก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ นั่นรวมถึงงานกระจกสีใหม่ทั้งหมดสร้างสรรค์โดยยัน ดิบเบตส์ ศิลปินชาวฮอลแลนด์ และฌ็อง โมแร ช่างกระจกสีชาวฝรั่งเศส และได้บูรณะเสร็จสิ้นเมื่อ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2000 งานกระจกสีครอบคลุมหน้าต่างจำนวน 33 บาน ทั้งด้านบนและล่าง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 360 ตารางเมตร[2]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้]

งานหน้าบันทางเข้าเป็นงานแบบกอทิกตอนปลายแบบดั้งเดิมอันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านไปยังยุคคลาสสิก (สถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งยังพบเห็นส่วนประกอบของยุคกอทิกบางอย่าง เช่น รูปปั้นการ์กอยล์ ฐานครีบยันประดับยอด เป็นต้น และยังพบงานแบบคลาสสิก เช่น งานยอดซุ้มประตูทรงสามเหลี่ยม งานปูนปั้นทรงกลมฝังอยู่บริเวณโค้งสแปนเดรล เป็นต้น

ส่วนที่เด่นที่สุดของอาสนวิหารคือหอระฆังซึ่งประดับอยู่บริเวณประตูทางเข้าทิศเหนือซึ่งตั้งสูงตระหง่านอยู่กลางเมืองบลัว ส่วนฐานของหอสามารถย้อนกลับไปได้ถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 งานก่อสร้างหลักเริ่มในปี ค.ศ. 1544 ประกอบด้วยเสาแบบคอรินเทียนและไอออนิกซึ่งถือเป็นงานแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา บริเวณชั้นสุดท้ายของหอระฆังเป็นหลังคาโดมพร้อมหอส่องสว่าง ซึ่งสร้างเสร็จราวปี ค.ศ. 1603 ซึ่งโดมนี้มีลักษณะเหมือนกันกับที่ยอดหอระฆังของอาสนวิหารนักบุญกาเซียงแห่งตูร์ ซึ่งรวมแล้วถือว่าเป็นอาสนวิหารที่สง่างามและกลมกลืนกันได้ดีระหว่างทั้งสองสถาปัตยกรรม

บริเวณภายใน[แก้]

ด้านในของอาสนวิหาร

อาสนวิหารประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์ขนาดใหญ่และช่องทางเดินข้างขนาบทั้งสองฝั่ง (ทิศใต้และเหนือ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาเปลด้านใน รวมทั้งบริเวณร้องเพลงสวดและจรมุข อาสนวิหารแห่งนี้ไม่มีส่วนแขนกางเขน

บริเวณร้องเพลงสวด[แก้]

บริเวณร้องเพลงสวดประกอบด้วยมุขโค้งจำนวนห้าช่องซึ่งขนาบอยู่โดยรอบ บริเวณด้านหลังซึ่งเป็นจรมุข เป็นที่ตั้งของชาเปลยุคคริตส์ศตวรรษที่ 19 ด้านบนบริเวณกระจกมีงานกระจกสีขนาดใหญ่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังมีบริเวณจรมุขที่สร้างเพิ่มมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ประดับด้วยเสาแบบเกลียวเลียนแบบงานศิลปะยุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศสซึ่งถือเป็นตัวอย่างตามแนวคิดแบบคตินิยมสรรผสานในสมัยนั้น

บริเวณกลางโบสถ์และชาเปล[แก้]

ภายหลังจากพายุเฮอร์ริเคนใน ค.ศ. 1678 เหลือเพียงหน้าบันทางเข้า จรมุขและหน้าต่างทั้งห้าบานเท่านั้น และในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมได้ค้นพบสันเพดานโค้งในแบบเก่า

ด้านในประกอบด้วยชาเปลเก่าแก่หนึ่งหลัง สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งตั้งอยู่ภายใต้หอระฆัง และมีสันเพดานโค้งลงมาบรรจบกับหัวเสาลายใบอาแคนธัส บริเวณด้านหน้าฝั่งขวามือของชาเปลนี้ ยังพบงานแกะสลักนูนต่ำหินอ่อนบอกเล่าเรื่องราวของพิธีบัพติศมาของพระเยซู ซึ่งได้ค้นพบจากหลุมฝังพระศพของพระราชนนีของสตานิสวัฟ เลสซินสกี อดีตกษัตริย์แห่งโปแลนด์และดยุคแห่งลอแรน ซึ่งสิ้นพระชนม์ที่บลัว

นอกจากนี้ยังมีงานแกะสลักหินอ่อนสีขาว มีชื่อเรียกว่า La Mémoire et la Méditation เป็นงานของหลุยส์ที่ 2 เลอร็องแบร์ ช่างปั้นและจิตรกรชาวฝรั่งเศส และยังมีออร์แกนขนาดใหญ่ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1704

ห้องเก็บศพใต้โบสถ์[แก้]

ห้องเก็บศพใต้โบสถ์ของอาสนวิหารซ่อนอยู่ภายใต้บริเวณร้องเพลงสวด เรียกว่า "ห้องเก็บศพนักบุญซอแลน" ที่ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1927 ว่ามีร่องรอยของโบสถ์ยุคราชวงศ์การอแล็งเฌียง ซึ่งสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 โดยเหล่าเคานต์ (ขุนนาง) แห่งบลัวเพื่อเป็นที่เก็บเรลิกของนักบุญซอแลน อดีตมุขนายกแห่งชาทร์ และหลังจากนั้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในคราที่มีการสร้างโบสถ์ใหม่ขึ้น ทำให้ส่วนที่เคยเป็นบริเวณร้องเพลงสวดมาก่อนได้กลายเป็นห้องเก็บศพไปโดยปริยาย

ภายในห้องเก็บศพประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์และบริเวณมุขโค้งด้านสกัดของโบสถ์บาซิลิกาเก่า และบริเวณด้านหลังของแท่นบูชายังมีร่อยรอยของมุขโค้งด้านสกัดแบบครึ่งวงกลมหลงเหลืออยู่ บริเวณฝั่งซ้ายมีช่องฝังศพของอดีตมุขนายกแห่งบลัว

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Base Mérimée: Cathédrale Saint-Louis, Ministère français de la Culture. (ในภาษาฝรั่งเศส)
  2. "Communiqués de presse". www2.culture.gouv.fr (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-17. สืบค้นเมื่อ 2019-03-21.

ข้อมูล[แก้]

  • Pérouse de Montclos, Jean-Marie, 1988. Le guide du Patrimoine: Centre, pp. 175–179. Val de Loire, Ministère de la Culture: Hachette, Paris. ISBN 2-01-018538-2

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]