อาสนวิหารกาวายง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารกาวัยยง)
อาสนวิหารแม่พระและนักบุญเวร็อง
แห่งกาวายง
แผนที่
43°50′10″N 5°02′11″E / 43.83611°N 5.03639°E / 43.83611; 5.03639
ที่ตั้งกาวายง จังหวัดโวกลูซ
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะโบสถ์ประจำแพริช
(อาสนวิหารจนกระทั่งปี ค.ศ. 1801)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 18
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์(ค.ศ. 1840)

อาสนวิหารกาวายง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Cavaillon) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระและนักบุญเวร็องแห่งกาวายง (Cathédrale Notre-Dame-et-Saint-Véran de Cavaillon) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชและอดีตอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลกาวายงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 จนกระทั่งถูกยุบรวมเข้ากับอัครมุขมณฑลอาวีญงตั้งแต่ ค.ศ. 1801 จนปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่เมืองกาวายง จังหวัดโวกลูซ ในแคว้นพรอว็องซาลป์โกตดาซูร์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้นักบุญเวร็องแห่งกาวายง (Saint Véran de Cavaillon)

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[1]

ประวัติ[แก้]

เสกในปี ค.ศ. 1251 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 5 ตัวอาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เป็นหลัก ประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์ที่มีความยาวห้าช่วงหลังคา เพดานโค้งแบบประทุน (barrel vault) และขนาบข้างด้วยชาเปลหลายหลัง บนหลังคามีหอหลังคาโดมทรงแปดเหลี่ยมซึ่งครอบบริเวณจุดตัดกับบริเวณร้องเพลงสวดซึ่งด้านบนเป็นที่ตั้งของหอระฆังของอาสนวิหาร บริเวณมุขโค้งด้านสกัดประกอบด้วยผนังจำนวน 5 ด้าน มุงด้วยเพดานแบบทรงกลม ด้านในเป็นที่ตั้งของฉากประดับแท่นบูชาอันวิจิตรซึ่งเป็นงานศิลปะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภายในอาสนวิหารยังพบภาพเขียนมากมายที่ยังอยู่ในสภาพดีของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยจิตรกรเซแก็ง (Sequin) ภายในบริเวณกลางโบสถ์บริเวณช่องโค้งแบบครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยหินแกะสลักเป็นรูปตราสัญลักษณ์ประจำองค์ของมุขนายกแห่งกาวายงในอดีต ส่วนช่องโค้งเหนือบริเวณร้องเพลงสวดตกแต่งด้วยลายเถาใบไม้ บริเวณหลังคาโดมด้านในเป็นลายเถาและดวงดาว บริเวณใต้ท้องของช่องโค้งเหนือมุขโค้งด้านสกัดวาดเป็นรูปวงกลมแบบเหรียญ และมีภาษาละตินกำกับว่า «Quam dilecta tabernacula tua domine virtutum»

งานก่อสร้างอาสนวิหารเริ่มขึ้นในส่วนของบริเวณกลางโบสถ์ก่อน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1115 แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1125 และตามมาภายหลังคือส่วนของมุขโค้งด้านสกัดซึ่งเสร็จในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในสมัยสงครามศาสนาของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์ นำโดยฟร็องซัว เดอ โบมง บารอนแห่งอาแดร (François de Beaumont, baron des Adrets) เข้าบุกทำลายอาสนวิหาร[2] ซึ่งอีกร้อยปีถัดมานั้นจึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชาเปลด้านข้างทั้งหลายที่ตกแต่งด้วยผนังไม้แกะสลัก และภาพเขียนผลงานของนีกอลา มีญาร์ (Nicolas Mignard) และปารอแซล (Parrocel) ต่อมาในระหว่างปี ค.ศ. 1858 ถึง ค.ศ. 1867 ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง นำโดยโฌแซ็ฟ เดอ แตริส (Joseph de Terris) งานเด่น ๆ ในช่วงนี้คืองานจิตรกรรมฝาผนังและรูปปั้นบางส่วน[3].

ในบริเวณแวดล้อมยังมีวิหารคดแบบโรมาเนสก์ และซากปรักหักพังของชาเปล

ออร์แกน[แก้]

บริเวณติดกับผนังทางทิศเหนือของบริเวณร้องเพลงสวด เป็นที่ตั้งของออร์แกนงานในสมัย ค.ศ. 1654 สร้างโดยฝีมือของนักทำออร์แกนชาวเฟลมมิช ชาร์ล รัวเย (Charles Royer) ซึ่งต่อมาได้สร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1966 โดยบริษัทกอนซาเลซ อำนวยการก่อสร้างโดยฌอร์ฌ ดานียง (Georges Danion) และแผนผังออร์แกนโดยมอริส ดูว์รูว์เฟล (Maurice Duruflé)[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  2. Structurae : Cathédrale Notre-Dame-et-Saint-Véran de Cavaillon
  3. in Notre-Dame de Cavaillon, de Jacques Tirion
  4. Orgue de la cathédrale

บรรณานุกรม[แก้]

  • Guy Barruol, Provence romane - La Haute-Provence, tome 2, p. 347-363, Éditions Zodiaque (collection «la nuit des temps» no 46), La Pierre-qui-Vire, 1981
  • Françoise Reynier, Le mobilier du XVIIe siècle dans la cathédrale de Cavaillon, In Situ, revue du patrimoine, année 2001, no 1