ข้ามไปเนื้อหา

มณฑลของปรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่มณฑลของปรัสเซียทั้ง 12 ใน ค.ศ. 1895

มณฑลของปรัสเซีย (เยอรมัน: Provinzen Preußens) เป็นหน่วยการปกครองหลักของปรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1815 ถึง 1946 ระบบมณฑลของปรัสเซียถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปชไตน์-ฮาเดินแบร์คใน ค.ศ. 1815 โดยส่วนใหญ่ตั้งขึ้นจากดัชชีและภูมิภาคทางประวัติศาสตร์ แต่ละมณฑลถูกแบ่งออกเป็นหลายเขตการปกครอง (เยอรมัน: Regierungsbezirke) ซึ่งถูกแบ่งย่อยเป็นอำเภอ (เยอรมัน: Kreise) และสุดท้ายเป็นตำบล (เยอรมัน: Gemeinden) ในระดับต่ำสุด มณฑลของปรัสเซียเป็นระดับการปกครองสูงสุดของราชอาณาจักรปรัสเซียและเสรีรัฐปรัสเซียจนถึง ค.ศ. 1933 เมื่อนาซีเยอรมนีเข้ามาควบคุมการเมืองระดับมณฑลโดยตรงในทางพฤตินัย และถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มณฑลของปรัสเซียเป็นรากฐานของการก่อตั้งรัฐของประเทศเยอรมนีหลายแห่ง โดยรัฐบรันเดินบวร์ค, รัฐนีเดอร์ซัคเซินและรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ถือเป็นรัฐที่สืบทอดโดยตรงของมณฑลของปรัสเซีย

ประวัติศาสตร์

[แก้]

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 1806 และการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาใน ค.ศ. 1815 รัฐเยอรมันต่างๆ ได้รับอำนาจอธิปไตยในนาม อย่างไรก็ตาม กระบวนการรวมชาติที่นำไปสู่การก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. 1871 ส่งผลให้ประเทศเยอรมนีประกอบด้วยรัฐเจ้าผู้ครองเป็นจำนวนมาก โดยมีปรัสเซียเป็นรัฐที่ทรงอิทธิพลที่สุดโดยหลังจากที่สามารถเอาชนะจักรวรรดิออสเตรียคู่แข่งสำคัญได้ อาณาเขตของปรัสเซียจึงคิดเป็นประมาณ 60% ของดินแดนที่ต่อมาเป็นจักรวรรดิเยอรมัน

สมาพันธรัฐเยอรมัน

[แก้]
มณฑลของปรัสเซียในสมาพันธรัฐเยอรมัน ค.ศ. 1816

สมาพันธรัฐเยอรมันถูกจัดตั้งในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. 1815 ซึ่งราชอาณาจักรปรัสเซียเป็นสมาชิกจนกระทั้งการล่มสลายของสมาพันธรัฐเมื่อ ค.ศ. 1816 ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย

รัฐปรัสเซียเดิมถูกแบ่งออกเป็นสิบมณฑล โดยรัฐบาลปรัสเซียได้แต่งตั้งหัวหน้าของแต่ละมณฑล ซึ่งเรียกว่า "Oberpräsident" (ข้าหลวงใหญ่) ข้าหลวงใหญ่เป็นตัวแทนของรัฐบาลปรัสเซียในมณฑล และมีหน้าที่ดำเนินการและกำกับดูแลอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลปรัสเซียในระดับท้องถิ่น มณฑลของปรัสเซียถูกแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น เขตปกครอง (Regierungsbezirke) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ ในด้านการปกครองตนเอง แต่ละมณฑลมีสภามณฑล (Provinziallandtag) สมาชิกของสภานี้ได้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยมีผู้แทนที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาของเทศมณฑลและเมืองอิสระที่เป็นองค์ประกอบของมณฑลนั้น

มณฑลตะวันตก:

[แก้]

ใน ค.ศ. 1822 มณฑลไรน์ถึงตั้งขึ้นจาการรวมมณฑลยือลิช-เคลเวอ-แบร์คและมณฑลนีเดอร์ไรน์

มณฑลตะวันออก (เอ็ลเบอตะวันออก):

[แก้]

ใน ค.ศ. 1829 มณฑลปรัสเซียถูกสร้างขึ้นจากการรวมปรัสเซียตะวันออกและปรัสเซียตะวันตกจนกระทั่งถูกแยกออกจากกันอีกครั้งใน ค.ศ. 1878 โดยอาณาเขตของมณฑลนี้สอดคล้องกับอาณาเขตของราชอาณาจักรปรัสเซียโดยตรง (ได้แก่ ดัชชีปรัสเซียละปรัสเซียหลวงในอดีต) เช่นเดียวกับมณฑลโพเซิน อาณาเขตนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน

ใน ค.ศ. 1850 มณฑลโฮเอินท์ซ็อลเลิร์นในทางตอนใต้ของเยอรมนีถูกสร้างขึ้นจากการผนวกราชรัฐโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-เฮ็คคิงเงินและราชรัฐโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงิน

ในค.ศ. 1866 หลังจากสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ปรัสเซียได้ผนวกหลายๆรัฐเยอรมันที่เป็นพันธมิตรกับออสเตรียรวมกับดินแดนของเดนมาร์กที่ยึดมาได้จัดตั้งเป็น 3 มณฑลใหม่

จักรวรรดิเยอรมัน

[แก้]
มณฑลของปรัสเซียในจักรวรรดิเยอรมัน ค.ศ. 1914

ผลจากสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียได้ยุติความหวังในการก่อตั้งมหาประเทศเยอรมันที่โดยรวมเอาทุกดินแดนที่พูดภาษาเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งถูกแทนที่โดยสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของปรัสเซีย ต่อมาหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียและการผนวกรัฐทางตอนใต้ ได้แก่ บาวาเรีย, บาเดินและเวือร์ทเทิมแบร์คเข้าสู่สมาพันธรัฐ จักรวรรดิเยอรมันก็ได้รับการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1871

ตั้งแต่ ค.ศ. 1875 เป็นต้นมา มณฑลของปรัสเซียกลายเป็นหน่วยปกครองที่รวมอำนาจการปกครองตนเองในระดับภูมิภาคผ่านผู้แทนที่ได้รับเลือกจากแต่ละเขตชนบท (เยอรมัน: Landkreis) และเขตเมือง (เยอรมัน: Stadtkreis) ซึ่งร่วมกันจัดตั้งเป็นสภามณฑล (เยอรมัน: Provinziallandtag) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี สภานี้เลือกหัวหน้าการปกครองตนเองของมณฑล (เยอรมัน: Landesdirektor) ซึ่งมีวาระระหว่าง 6 ถึง 12 ปี และจัดตั้งเป็นรัฐบาลมณฑล ((เยอรมัน: Provinzialausschuss) หรือ "คณะกรรมการมณฑล") นอกจากนี้ มณฑลยังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลกลางปรัสเซีย ซึ่งดูแลการปกครองตนเองของเทศบาลและเขตปกครอง รวมถึงการกำกับดูแลระดับมณฑลผ่านหน่วยงานที่เรียกว่า Regierungsbezirk ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลปรัสเซียโดยตรง เพื่อดำเนินงานในระดับมณฑล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของปรัสเซียจะแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ (เยอรมัน: Oberpräsident) ประจำแต่ละมณฑล ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานร่วมกับสภามณฑลปรัสเซีย (เยอรมัน: Provinzialrat) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปรัสเซีย

ใน ค.ศ. 1881 มณฑลสุดท้ายของราชอาณาจักรปรัสเซียถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเบอร์ลินถูกแยกออกจากบรันเดินยบวร์ค

  • เบอร์ลิน (เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1881 เมืองเบอร์ลินถูกแยกออกจากมณฑลบรันเดินบวร์คและกลายเป็นมณฑลนคร (City-Province) นายกเทศมนตรี (เยอรมัน: Oberbürgermeister) ของเมืองทำหน้าที่แทนหัวหน้าการปกครองตนเองของมณฑล เช่นเดียวกับในมณฑลอื่น ๆ ขณะที่สภาเมืองทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการมณฑลไปด้วย ในขณะเดียวกันหัวหน้าตำรวจแห่งกรุงเบอร์ลิน (Polizeipräsident) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปรัสเซีย ก็ทำหน้าที่เป็นข้าหลวงใหญ่ของเบอร์ลิน[1]

ใน ค.ศ. 1918 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายและถูกแทนที่โดยสาธารณรัฐไวมาร์ โดยรายชื่อรัฐในตอนนั้นมีดังนี้

สาธารณรัฐไวมาร์

[แก้]
มณฑลของปรัสเซียในสาธารณรัฐไวมาร์ ค.ศ. 1928

หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน ราชอาณาจักรปรัสเซียได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การปกครองในระบอบสาธารณรัฐในชื่อเสรีรัฐปรัสเซียโดยรัฐอิสระนี้ส่งเสริมการทำให้ระบบการปกครองของมณฑลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐสภามณฑล (Provinziallandtage) ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่สมาชิกสภาเทศมณฑลเป็นผู้เลือกสมาชิกของรัฐสภามณฑลจากกลุ่มของตนเอง ปรัสเซียต้องยกดินแดนเกือบทั้งหมดที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลโพเซินและปรัสเซียตะวันตกให้แก่โปแลนด์ที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ รวมถึงเสรีนครดันท์ซิชซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของสันนิบาตชาติ นอกจากนี้ ดินแดนขนาดเล็กบางส่วนถูกโอนไปยังประเทศอื่น ได้แก่ เบลเยียม (แคนทอนตะวันออกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของไรน์ลันท์) เชโกสโลวาเกีย (ภูมิภาคฮลูชินซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของไซลีเซีย) เดนมาร์ก (ชเลสวิชเหนือซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์) ดินแดนเมเมลซึ่งอยู่ภายใต้สันนิบาตชาติ (เคยเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซียตะวันออก) โปแลนด์ (ไซลีเซียตะวันออก) และดินแดนซาร์ (Saar Territory) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของไรน์ลันท์

หลังจากพรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1933 กฎหมายว่าด้วยการปรับโครงสร้างของไรช์ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1934[2] กฎหมายนี้ได้ยกเลิกระบบสหพันธรัฐของเยอรมนีและสร้างรัฐรวมศูนย์ ปรัสเซียและมณฑลของมันยังคงมีอยู่ในทางนิตินัย แต่รัฐสภาของรัฐและมณฑลถูกยกเลิก และการบริหารงานทั้งหมดถูกโอนมาอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของข้าหลวงไรช์ (Reichsstatthalter) นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการยกเลิก Reichsrat (สภาสูงของเยอรมนี) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 ได้ลบล้างสิทธิ์ของรัฐและมณฑลต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติของไรช์[3] ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาเคยควบคุม 26 จาก 66 ที่นั่งในสภา Reichsrat

โดยมณฑลระหว่าง ค.ศ. 1919 ถึง 1945 มีดังนี้

ปรัสเซียไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้หลังจากความพ่ายแพ้และการแบ่งแยกเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 และถูกยุบอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ตามกฎหมายข้อที่ 46 ของสภาควบคุมฝ่ายสัมพันธมิตร มณฑลหลายแห่งของปรัสเซียได้รับสถานะเป็นรัฐอิสระหรือถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐต่าง ๆ ในเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตกหลังสงคราม

อ้างอิง

[แก้]
  1. Cf. Meyers großes Konversations-Lexikon: 20 vols. – completely new ed. and ext. ed., Leipzig and Vienna: Bibliographisches Institut, 1903-08, here vol. 2, article 'Berlin', p 700. No ISBN
  2. "Nazi Conspiracy and Aggression: Opinion and Judgment". PsycEXTRA Dataset. 1947. สืบค้นเมื่อ 2025-04-02.
  3. "Reichsrat, n.", Oxford English Dictionary, Oxford University Press, 2023-03-02, สืบค้นเมื่อ 2025-04-02