ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และภาษาล้วนมีผลให้เกิดการก่อการกำเริบในภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งต่อมาปะทุเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในฐานะผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี (Revolution of Dignity) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า นับตั้งแต่ยูเครนได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ความแตกแยกทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประกอบกับโครงสร้างของรัฐที่อ่อนแอ ล้วนเป็นผลให้การสร้างอัตลักษณ์ร่วมของชาติยูเครนไม่เกิดขึ้น[1] ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครนใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาหลักแม้กระทั่งในหมู่ชาวยูเครนเองอันเป็นผลมาจากทั้งการทำให้กลายเป็นรัสเซียและการตั้งรกรากของกลุ่มชาติพันธุ์รัสเซียนับตั้งแต่ในสมัยจักรวรรดิรัสเซีย ประชากรในพื้นที่เป็นชาวไครเมียซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์รัสเซียที่ตั้งรกรากในพื้นที่นับตั้งแต่การขับไล่ชาวตาตาร์ไครเมียโดยโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้แตกต่างสุดขั้วกับภาคตะวันตกและภาคกลางซึ่งในประวัติศาสตร์เคยอยู่ภายใต้ปกครองของจักรวรรดิต่าง ๆ ทั้งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียและจักรวรรดิออสเตรีย[2] ในพื้นที่นี้ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ภาษา และความเป็นชาติอย่างยูเครนล้วนคงอยู่อย่างเหนียวแน่น

ความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มที่แตกต่างกันทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้ปะทุเป็นความขัดแย้งในทางการเมืองและสังคมภายหลังเหตุการณ์ยูโรไมดานซึ่งเริ่มขึ้นจากการที่วิกตอร์ ยานูกอวึช ประธานาธิบดียูเครน ปฏิเสธการลงนามในความตกลงสมาคมกับสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2013[3] มีแรงสนับสนุนให้ยูเครนสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปอย่างมากในภาคกลางและภาคตะวันตก ในขณะที่ภาคใต้และภาคตะวันออกสนับสนุนให้กระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซีย ท้ายที่สุด ยานูกอวึชถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ตามมาด้วยการประท้วงสนับสนุนรัสเซียในภาคใต้และภาคตะวันออกซึ่งให้ความสำคัญกับความผูกพันกับรัสเซียในทางประวัติศาสตร์ ภาษา และต่อต้านขบวนการยูโรไมดาน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "What you should know about the Ukraine crisis". PBS Newshour. 7 March 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2015. สืบค้นเมื่อ 28 February 2015.
  2. "History and Geography Help Explain Ukraine Crisis". National Geographic. 24 February 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2015. สืบค้นเมื่อ 28 February 2015.
  3. "A Ukraine City Spins Beyond the Government's Reach". The New York Times. 15 February 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2021. สืบค้นเมื่อ 16 February 2017.
  4. Richard Sakwa (2014). Frontline Ukraine: Crisis in the Borderlands. I.B.Tauris. p. 155. ISBN 978-0857738042. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2019. สืบค้นเมื่อ 28 February 2015.