โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
(Pneumothorax)
ภาพแสดงภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่ปอดข้างขวา (ด้านซ้ายของภาพ) ที่ศรชี้คือขอบของปอดที่แฟบลง
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10J93, P25.1, S27.0
ICD-9512, 860
OMIM173600
DiseasesDB10195
MedlinePlus000087
eMedicinearticle/432979 article/424547 article/360796 article/808162 article/827551 article/1003552
MeSHD011030

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (อังกฤษ: pneumothorax, pneumothoraces) เป็นภาวะซึ่งมีอากาศอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดในช่องอก ระหว่างปอดกับผนังทรวงอก อาจเกิดขึ้นเองในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคปอดเรื้อรังมาก่อน (แบบปฐมภูมิ) หรือในผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรังมาก่อน (แบบทุติยภูมิ) นอกจากนี้บ่อยครั้งยังเกิดตามหลังการบาดเจ็บต่อทรวงอก การระเบิด หรือพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทางการแพทย์ได้

อาการของโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศขึ้นอยู่กับขนาดของอากาศที่ปรากฏในโพรงเยื่อหุ้มปอดและความเร็วของการรั่วของอากาศ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อาจวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายในกรณีเป็นมาก ๆ แต่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้การตรวจภาพถ่ายรังสีเช่นเอกซเรย์หรือซีทีในการวินิจฉัยกรณีเป็นไม่มาก บางครั้งภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอาจทำให้เกิดร่างกายขาดออกซิเจน ความดันเลือดลดต่ำ และหัวใจหยุดได้หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะเช่นนี้เรียกว่าโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน (อังกฤษ: tension pneumothorax)

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดที่เป็นไม่มากนั้นส่วนใหญ่หายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจำเพาะ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีโรคปอดเรื้อรังมาก่อน ในกรณีที่โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอยู่มากหรือมีอาการมากอาจจำเป็นต้องใช้เข็มฉีดเจาะดูดลมออก หรือใส่สายระบายทรวงอกเพื่อให้ลมได้ระบายออก บางครั้งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะในกรณีที่เมื่อใส่สายระบายทรวงอกแล้วยังไม่หาย หรือผู้ป่วยรายนั้น ๆ เกิดมีโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอีกหลายครั้ง ในกรณีที่ผู้ป่วยรายใดมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้มาก อาจจำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติม เช่น การทำการผนึกเยื่อหุ้มปอดเพื่อยึดเยื่อหุ้มตัวปอดกับเยื่อหุ้มปอดส่วนผนังอกเข้าด้วยกัน

อาการและอาการแสดง[แก้]

ชนิดย่อยทางคลินิก[แก้]

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศเกิดเองชนิดปฐมภูมิ (อังกฤษ: primary spontaneous pneumothorax, PSP) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่ไม่มีโรคปอดมาก่อนนั้นมักมีอาการไม่มาก โดยมีอาการเด่นคืออาการเจ็บหน้าอกและบางครั้งอาจมีเหนื่อยหายใจลำบากเล็กน้อย[1][2] ผู้ป่วย PSP ครึ่งหนึ่งรอให้มีอาการอยู่หลายวันจึงตัดสินใจมาพบแพทย์[3] มีโอกาสน้อยมากที่ PSP จะพัฒนาไปมากจนเกิดเป็นโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการขณะพัก ชายร่างสูงและโดยเฉพาะสูบบุหรี่ด้วยนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิด PSP สูงกว่าคนอื่น[1] ปัจจุบันพบว่า PSP เกิดได้บ่อยกว่าในภาวะซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศและที่ที่มีดนตรีเสียงดัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บางครั้งพบมีผู้ป่วยโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศมากเป็นหย่อม ๆ[2]

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศเกิดเองชนิดทุติยภูมิ (อังกฤษ: secondary spontaneous pneumothorax, SSP) เกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่เดิม อาการมักเป็นรุนแรงกว่าเนื่องจากการทำงานของปอดไม่ดีอยู่เดิม เมื่อแฟบลงจึงยิ่งทำงานได้แย่ลงไปอีก ผู้ป่วยอาจมีออกซิเจนในเลือดต่ำ อาจเห็นผู้ป่วยเขียว บางทีอาจพบมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสนและหมดสติได้ ผู้ป่วยโรคปอดเช่นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและซิสติกไฟโบรซิสที่มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลันอาจควรได้รับการตรวจหาภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศโดยเร็ว[1] ขนาดของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดนั้นมีความสัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยไม่มากนัก[3]

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการบาดเจ็บ (อังกฤษ: traumatic pneumothorax) อาจเกิดจากบาดแผลทะลุถึงโพรงเยื่อหุ้มปอด เช่นจากบาดแผลถูกแทงหรือถูกปืนยิง ทำให้อากาศจากภายนอกเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้ หรือเกิดจากการบาดเจ็บต่อเนื้อปอด ทำให้ลมจากเนื้อปอดรั่วเข้ามาในโพรงเยื่อหุ้มปอด พบเป็นภาวะแทรกซ้อนบ่อยถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บที่ทรวงอก เป็นที่สองรองจากกระดูกซี่โครงหัก ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งอาจมีขนาดเล็ก ซึ่งอาจขยายใหญ่มากขึ้นหากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นไม่ว่าขนาดจะเล็กหรือใหญ่ก็มีความสำคัญทั้งสิ้น[2] นอกจากนี้ยังพบเกิดในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจจากสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วย[2][4]

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดันมีนิยามที่แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่ง[4] แต่โดยทั่วไปถือตรงกันว่าควรสงสัยถ้าผู้ป่วยมีออกซิเจนต่ำมากแม้จะได้รับออกซิเจนแล้ว มีความดันเลือดลดต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม[4][3] ภาวะนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาจตรวจพบได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยากดระดับความรู้สึกตัวอยู่แล้ว ทำให้บางครั้งจะทราบก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Tschopp JM, Rami-Porta R, no-ppen M, Astoul P (September 2006). "Management of spontaneous pneumothorax: state of the art". Eur. Respir. J. 28 (3): 637–50. doi:10.1183/09031936.06.00014206. PMID 16946095.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 no-ppen M, De Keukeleire T (2008). "Pneumothorax". Respiration. 76 (2): 121–7. doi:10.1159/000135932. PMID 18708734.
  3. 3.0 3.1 3.2 MacDuff A, Arnold A, Harvey J, BTS Pleural Disease Guideline Group (December 2010). "Management of spontaneous pneumothorax: British Thoracic Society pleural disease guideline 2010". Thorax. 65 (8): ii18–ii31. doi:10.1136/thx.2010.136986. PMID 20696690.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Leigh-Smith S, Harris T (January 2005). "Tension pneumothorax--time for a re-think?". Emerg. Med. J. 22 (1): 8–16. doi:10.1136/emj.2003.010421. PMC 1726546. PMID 15611534.