ภาพติดตาชั่วขณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถ้าดูภาพนี้ประมาณ 20-60 วินาทีแล้วดูพื้นสีขาว ๆ จะเห็นภาพติดตาชั่วขณะแบบเนกาทิฟ ซึ่งจะเป็นตัวอักษรสีเขียวแกมน้ำเงินบนพื้นสีแดงม่วง หรือก็เห็นได้ด้วยถ้ามองแล้วปิดตาเงยหน้าขึ้น

ภาพติดตาชั่วขณะ[1] หรือ ภาพติดตา (อังกฤษ: afterimage, ghost image, image burn-in) เป็นภาพที่ติดตาชั่วขณะหลังจากเห็นภาพดั้งเดิมชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์ปกติทางสรีรภาพ หรืออาจเป็นอาการของโรค คือ palinopsia ซึ่งก็อาจเป็นปรากฏการณ์ทางสรีรภาพที่เป็นมากเกินปกติ ภาพติดตาเกิดเพราะการทำงานทางแสง-เคมีในจอตาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อสิ่งเร้าดั้งเดิมจะหมดไปแล้ว[2][3] บทความที่เหลือจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางสรีรภาพที่ไม่ใช่อาการของโรค ภาพติดตาที่สามัญอย่างหนึ่งก็คือแสงที่ดูเหมือนจะอยู่ข้างหน้าหลังจากที่ดูไฟสักชั่วระยะหนึ่ง เช่นที่เห็นหลังแสงแฟลชจากกล้องถ่ายภาพ

ภาพติดตาแบบเนกาทิฟ[แก้]

ภาพติดตาแบบเนกาทิฟ (negative afterimage) เกิดเมื่อเซลล์รับแสงของตา โดยเฉพาะเซลล์รูปกรวยและเซลล์รูปแท่ง ปรับตัวเนื่องจากรับสิ่งเร้าเกินแล้วเสียความไวแสง หลักฐานใหม่ ๆ ยังแสดงด้วยว่า เปลือกสมองก็มีบทบาทด้วย[4]

ปกติแล้ว ระบบการเห็นจะแก้ปัญหาการได้สิ่งเร้าเกินโดยเลื่อนภาพไปยังส่วนใหม่ของจอตาด้วยการขยับตาเล็ก ๆ ที่เรียกว่า microsaccade ซึ่งเกิดใต้สำนึกและจะสังเกตไม่เห็น แต่ถ้าภาพนั้นใหญ่หรือว่าตาขยับไม่พอ ก็จะไม่สามารถย้ายภาพนั้นไปยังส่วนใหม่ ๆ ของจอตาได้ เซลล์รับแสงที่ได้รับสิ่งเร้าเดียวอย่างคงยืนในที่สุดก็จะหมดโปรตีนรงควัตถุไวแสง (photopigment) ที่จำเป็นในการรับแสง มีผลลดกระแสประสาทที่ส่งไปยังสมอง ปรากฏการณ์นี้สามารถเห็นได้เมื่อเข้าไปสู่ที่มืดจากที่สว่าง

พร้อม ๆ กับปรากฏการณ์เช่นนี้ เซลล์ประสาทในสมองกลีบท้ายทอยก็จะปรับตัวด้วย คล้ายกับการปรับดุลสีในการถ่ายภาพ เป็นความพยายามรักษาการเห็นให้สม่ำเสมอในสภาพแสงที่ไม่คงที่ การมองพื้นเรียบ ๆ ในขณะที่สมองกำลังปรับตัวจะทำให้เห็นภาพติดตา เพราะสมองจะแปลผลโดยใช้การปรับตัวเฉพาะที่ ๆ ในสายตาซึ่งไม่จำเป็นแล้ว

ในปี พ.ศ. 2421 นักกายวิภาคชาวเยอรมัน Ewald Hering (2377-2461) ได้อธิบายกระบวนการที่สมองเห็นภาพติดตาโดยใช้แม่สีเป็นคู่ 3 คู่ ทฤษฎี opponent process (กระบวนการคู่แข่งขัน) ของเขาแสดงว่า ระบบการเห็นของมนุษย์แปลผลกระแสประสาทจากเซลล์รูปกรวยและเซลล์รูปแท่งแบบเป็นปฏิปักษ์กัน (antagonistic) ทฤษฎีเสนอว่า มีช่องทางความเป็นปฏิปักษ์ 3 ช่องคือ แดงกับเขียว น้ำเงินกับเหลือง และดำกับขาว คือการตอบสนองต่อสีหนึ่งของช่องจะเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกสีหนึ่งของช่องนั้น ดังนั้น ภาพเขียวจะสร้างภาพติดตาสีแดงม่วง เพราะภาพเขียวได้ทำให้เซลล์รับแสงสีเขียวให้หมดกำลัง จึงส่งสัญญาณอ่อนกว่า ดังนั้น สมองจึงตีความเป็นแม่สีที่เป็นปฏิปักษ์กัน ซึ่งก็คือ สีแดงม่วง[ต้องการอ้างอิง]

ภาพติดตาปกติ[แก้]

ภาพติดตาปกติ (positive afterimage) เทียบกันแล้ว จะปรากฏในสีเดียวกันกับภาพเดิมที่ดู และบ่อยครั้งปรากฏสั้นมากโดยเห็นน้อยกว่าครึ่งวินาที เหตุของภาพติดตาปกติยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกี่ยวกับการทำงานที่คงยืนในเปลือกสมอง เมื่อเซลล์รับแสงที่จอตาดำรงการส่งกระแสประสาทไปยังสมองกลีบท้ายทอย[5]

สิ่งเร้าที่ทำให้เห็นภาพติดตาปกติ ปกติจะทำให้กลายเห็นภาพติดตาแบบเนกาทีฟได้อย่างรวดเร็วผ่านการปรับตัวของประสาท ถ้าอยากจะลองดู ให้มองแสงสว่าง ๆ แล้วมองที่มืด ๆ เช่นเมื่อปิดตา ตอนแรกจะเห็นภาพติดตาปกติที่จางลง ๆ ซึ่งอาจติดตามด้วยภาพติดตาแบบเนกาทิฟที่ยาวนานกว่า การเห็นภาพติดตาของวัตถุสารพัดอย่างที่ไม่สว่างก็เป็นไปได้ด้วย แต่นี่จะคงยืนเพียงแค่ประเดี๋ยวเดียวซึ่งคนโดยมากจะไม่ได้สังเกต[ต้องการอ้างอิง]

ภาพลายเส้นที่ติดตา[แก้]

ภาพติดตาโดยทั่วไปเป็นภาพลวงตาที่ปรากฏแม้สิ่งเร้าจะได้หมดไปแล้ว การมองแถบสีจะทำให้เห็นภาพติดตาของสีตรงกันข้าม (เช่น สีเหลืองจะทำให้เห็นสีเขียวน้ำเงิน) ส่วนภาพติดตาในรูปสีขาวเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ความเปรียบต่าง (contrast effect)[ต้องการอ้างอิง] ในปรากฏการณ์นี้ ถ้าแสดงรูปสีขาวบนพื้นที่มีสีเป็นชั่วระยะหลายวินาที เมื่อพื้นกลายเป็นสีขาว (คือสีหายไป) สีที่เป็นภาพลวงคล้ายกับสีพื้นเดิมจะปรากฏภายในรูป[ต้องการอ้างอิง] กลไกของปรากฏการณ์นี้ยังไม่ชัดเจน

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "afterimage", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (แพทยศาสตร์) ภาพติดตาชั่วขณะ
  2. Bender, MB; Feldman, M; Sobin, AJ (June 1968). "Palinopsia". Brain : a journal of neurology. 91 (2): 321–38. doi:10.1093/brain/91.2.321. PMID 5721933.
  3. Gersztenkorn, D; Lee, AG (July 2, 2014). "Palinopsia revamped: A systematic review of the literature". Survey of ophthalmology. 60: 1–35. doi:10.1016/j.survophthal.2014.06.003. PMID 25113609.
  4. Shimojo, S; Kamitani, Y; Nishida, S (2001). "Afterimage of perceptually filled-in surface". Science. 293 (5535): 1677–80. doi:10.1126/science.1060161. PMID 11533495.
  5. "Positive afterimages". October 3, 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 22, 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]