ฟรีดริช รัทเซิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟรีดริช รัทเซิล
เกิด30 สิงหาคม ค.ศ. 1844
คาลส์รูเออ บาเดิน
เสียชีวิต9 สิงหาคม ค.ศ. 1904 (59 ปี)
อัมเมอร์ลันท์ นีเดอร์ซัคเซิน
สัญชาติเยอรมัน
การศึกษามหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค
มหาวิทยาลัยเยนา
มหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาภูมิศาสตร์
ชาติพันธุ์วรรณนา
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช
มีอิทธิพลต่อเอลเลน เชอร์ชิลล์ เซมเพิล
ได้รับอิทธิพลจากชาลส์ ดาร์วิน
แอ็นสท์ เฮ็คเคิล

ฟรีดริช รัทเซิล (เยอรมัน: Friedrich Ratzel; 30 สิงหาคม ค.ศ. 1844 – 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904) เป็นนักภูมิศาสตร์และนักชาติพันธุ์วรรณนาชาวเยอรมัน มีผลงานที่โดดเด่นในเรื่องของแนวคิดเลเบินส์เราม์ (Lebensraum) หรือ "พื้นที่อยู่อาศัย"[1] ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบอบนาซีในเวลาต่อมา

ช่วงชีวิต[แก้]

บิดาของรัทเซิลเป็นผู้ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์ของแกรนด์ดยุคแห่งบาเดิน เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายในเมืองคาลส์รูเออเป็นเวลาหกปีก่อนจะเข้าฝึกงานเป็นผู้ผสมยาเมื่ออายุ 15 ปี ใน ค.ศ. 1863 เขาเดินทางไปยังเมืองรัพเพิร์สวีลริมทะเลสาบซือริช สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาคลาสสิก และเป็นผู้ผสมยาที่เมืองเมอส์ในเขตรัวร์ระหว่าง ค.ศ. 1868–1866 ก่อนจะเข้าศึกษาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนมัธยมปลายในเมืองคาลส์รูเออและสมัครเป็นนักศึกษาสาขาสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค มหาวิทยาลัยเยนา และมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์ ตามลำดับ จนจบการศึกษาใน ค.ศ. 1868 เขาได้ศึกษาสัตววิทยาใน ค.ศ. 1869 และตีพิมพ์ผลงานเรื่อง ธรรมชาติและพัฒนาการของโลกอินทรีย์ (Sein und Werden der organischen Welt) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของดาร์วิน

หลังจากจบการศึกษา รัทเซิลเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเป็นนักสัตววิทยาเป็นนักภูมิศาสตร์ เขาเริ่มออกเดินทางไปรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เคยเข้าร่วมสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียใน ค.ศ. 1870 และได้รับบาดเจ็บสองครั้งในระหว่างสงคราม บันทึกจากประสบการณ์ที่พบเห็นในระหว่างการเดินทางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนำไปสู่การทำงานเป็นนักข่าวภาคสนามให้กับ วารสารโคโลญ (Kölnische Zeitung) ส่งผลให้รัทเซิลได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นและยาวนานขึ้น การเดินทางที่มีความสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนต่ออาชีพการงานของรัทเซิล คือ เมื่อเขาได้เดินทางไปยังอเมริกาเหนือ คิวบา และเม็กซิโกในช่วง ค.ศ. 1874–1875 เขาได้ศึกษาถึงอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์เยอรมันในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันตกกลาง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอเมริกาเหนือ และได้ผลิตงานเขียนใน ค.ศ. 1876 เรื่อง ประวัติย่อของเมืองและวัฒนธรรมในอเมริกาเหนือ (Städte-und Kulturbilder aus Nordamerika) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสาขาภูมิศาสตร์วัฒนธรรม รัทเซิลยังได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น นิวยอร์ก บอสตัน ฟิลาเดลเฟีย วอชิงตัน ริชมอนด์ ชาร์ลสตัน นิวออร์ลีนส์ ซานฟรานซิสโก

หลังกลับจากอเมริกาใน ค.ศ. 1875 รัทเซิลได้เป็นผู้บรรยายวิชาภูมิศาสตร์ที่โรงเรียนเทคนิคในมิวนิก ใน ค.ศ. 1876 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ใน ค.ศ. 1880 ระหว่างที่อยู่ในมิวนิก รัทเซิลผลิตหนังสือหลายเล่มและเป็นที่ยอมรับในอาชีพในฐานะนักวิชาการ ใน ค.ศ. 1886 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช การบรรยายของเขาได้รับความสนใจและมีอิทธิพลต่อเอลเลน เชอร์ชิลล์ เซมเพิล นักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน

รัทเซิลเป็นผู้วางรากฐานวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์โดยเขียนหนังสือ มานุษยภูมิศาสตร์ (Anthropogeographie) สองเล่มใน ค.ศ. 1882 และ ค.ศ. 1891 ซึ่งได้รับการตีความผิดจากนักศึกษาของเขาจำนวนมาก และมีผลต่อแนวคิดนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม เขาตีพิมพ์หนังสือ ภูมิศาสตร์การเมือง (Politische Geographie) ใน ค.ศ. 1897 ซึ่งแสดงแนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับแนวคิดเลเบินส์เราม์ และกลุ่มดาร์วินนิยมเชิงสังคม หนังสือเล่มที่สามของเขา ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ[2] (The History of Mankind) ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1896 และได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 1,100 เล่มของหนังสือที่ใช้พิมพ์หินด้วยโครโมลิโทกราฟีที่สมบูรณ์และโดดเด่น

รัทเซิลเป็นนักวิชาการที่มีความสนใจในสาขาทางวิชาการที่หลากหลาย เขายังคงทำงานอยู่ที่ไลพ์ซิชจนเสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904 ที่เมืองอัมเมอร์ลันท์ ประเทศเยอรมนี

งานเขียน[แก้]

รัทเซิลได้รับอิทธิพลจากนักคิดต่าง ๆ เช่น ดาร์วิน และนักสัตววิทยา แอ็นสท์ ไฮน์ริช เฮ็คเคิล สะท้อนอยู่ในงานเขียนหลายฉบับ ในงานเขียนต่าง ๆ บทความเรื่อง เลเบินส์เราม์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1901 มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์เกี่ยวกับความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ในเยอรมนี ซึ่งเป็นรากฐานของภูมิรัฐศาสตร์หรือ เกโอโพลีทีค (Geopolitik) ในภาษาเยอรมัน

งานเขียนของรัทเซิลอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงของการเติบโตของอุตสาหกรรมในเยอรมนีภายหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียและพยายามสร้างตลาดเพื่อนำเยอรมนีเข้าสู่การแข่งขันกับอังกฤษ งานเขียนของเขาถูกใช้ในการอ้างเหตุผลสำหรับการขยายตัวของจักรวรรดินิยม โดยได้รับอิทธิพลจากแอลเฟรด เทเยอร์ มาแฮน นักภูมิยุทธศาสตร์ชาวอเมริกัน รัทเซิลเขียนถึงปณิธานของเยอรมนีในการพัฒนากองทัพเรือและเห็นพ้องกับมาแฮนว่าอำนาจทางทะเลเป็นอำนาจที่สร้างความยั่งยืนเนื่องจากกำไรจากการค้าต้องจ่ายให้กับเหล่าพาณิชย์นาวีไม่เหมือนกับอำนาจทางบก

ผลงานสำคัญของรัทเซิลคือ เกโอโพลีทีค เป็นการขยายความคิดทางชีวภาพของภูมิศาสตร์ซึ่งไม่คำนึงถึงแนวคิดเกี่ยวกับชายแดน รัฐมีลักษณะเป็นอินทรีย์และเติบโตขึ้นโดยมีชายแดนเป็นตัวแทนเพียงตัวแปรเพื่อหยุดการขยายเพียงชั่วคราวเท่านั้น การขยายอาณาเขตของรัฐเป็นสิ่งสะท้อนถึงสุขภาวะของชาติ

แนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับ พื้นที่ (Raum) ซึ่งมีการเติบโตตามแนวคิดรัฐอินทรีย์ของเขา แนวคิดเรื่องแรกของเขาเกี่ยวกับ เลเบินส์เราม์ ไม่ใช่การการเมืองหรือเศรษฐกิจแต่เป็นการขยายของจิตวิญญาณและความเป็นชาตินิยมของกลุ่มเชื้อชาติ แรงจูงใจของพื้นที่ (Raum-motiv) เป็นพลังขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์และเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนมี วัฒนธรรม (Kultur) ที่แข็งแกร่งในการขยายตัวตามธรรมชาติ พื้นที่สำหรับรัทเซิลเป็นแนวคิดที่คลุมเครือในทางทฤษฎีอย่างมาก พื้นที่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ชาวเยอรมันอาศัยอยู่และรัฐที่อ่อนแอต้องสนับสนุนเศรษฐกิจของชาวเยอรมัน และวัฒนธรรมเยอรมันต้องกระจายสู่วัฒนธรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าแนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับ พื้นที่ ไม่ได้แสดงความต้องการรุกรานอย่างเปิดเผย แต่เขาออกแบบทฤษฎีอย่างง่ายซึ่งแสดงถึงการขยายตัวตามธรรมชาติของรัฐที่แข็งแกร่งในการควบคุมอาณาเขตของรัฐที่อ่อนแอกว่า

หนังสือของรัทเซิลเป็นที่ยอมรับทั่วโลกคือ มานุษยภูมิศาสตร์ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ระหว่าง ค.ศ. 1872–1899 จุดมุ่งเน้นหลักของงานชิ้นนี้คือผลกระทบของลักษณะทางกายภาพและสถานที่ที่แตกต่างกันต่อรูปแบบและชีวิตของผู้คน

ตัวอย่างงานเขียน[แก้]

งานเขียนที่น่าสนใจอื่น ๆ ของรัทเซิล ดังนี้

  • วันแห่งการตระเวนของนักศึกษาแห่งสภาพธรรมชาติ (Wandertage eines Naturforschers, 1873–1874)
  • ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป (Vorgeschichte des europäischen Menschen, 1875)
  • สหรัฐแห่งอเมริกาเหนือ (Die Vereinigten Staaten von Nordamerika, 1878–1880)
  • โลกในการบรรยาย 24 ครั้ง (Die Erde, in 24 Vorträgen, 1902)
  • สารนิเทศของคน (Völkerkunde, 1895)
  • โลกและชีวิต (Die Erde und das Leben, 1902)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Friedrich Ratzel". Encyclop?dia Britannica. 2003-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-12-25.[ลิงก์เสีย]
  2. The History of Mankind เก็บถาวร 2009-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Professor Friedrich Ratzel, MacMillan and Co., Ltd., published 1896

ข้อมูลอื่น[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

  • Dorpalen, Andreas. The World of General Haushofer. Farrar & Rinehart, Inc., New York: 1984.
  • Martin, Geoffrey J. and Preston E. James. All Possible Worlds. New York, John Wiley and Sons, Inc: 1993.
  • Mattern, Johannes. Geopolitik: Doctrine of National Self-Sufficiency and Empire. The Johns Hopkins Press, Baltimore: 1942.
  • Wanklyn, Harriet. Friedrich Ratzel, a Biographical Memoir and Bibliography. Cambridge, Cambridge University Press: 1961.